วันนี้ (15 ก.พ. ) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข กำหนดอัตราการครอบครองยาเสพติดประเภท 1 โดยกำหนดให้ผู้ที่มียาบ้าในครอบครองไม่เกิน 5 เม็ด ถือเป็น “ผู้เสพ” ซึ่งจะประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา สำหรับที่มากฎกระทรวงดังกล่าว เป็นไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 107 วรรคสอง เขียนถึงการครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ประเภท 2 ประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ประเภท 2 หรือปริมาณเล็กน้อยตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้เพื่อเสพ จึงต้องออกกฎกระทรวงรองรับ ให้โอกาสกับผู้ที่หลงผิด กลับเนื้อกับตัวเป็นคนดีด แยกผู้เสพออกจากผู้ค้า
ปัจจุบันมีผู้ใช้ผู้เสพผู้ติด 1.9 ล้านคน หากเราไม่แก้ปัญหาคนกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมที่เลวร้ายหนักหนาสาหัสผันตนเองไปเป็นผู้ค้า หากมีครอบครองไว้ไม่เกินกำหนดให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่ามีไว้เพื่อเสพ ต้องเข้าสู่การบำบัดรักษา ไม่ต้องรับโทษ นอกจากนี้เรื่องการกำหนดปริมาณ เรามีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยหลายภาคส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรรมการบำบัดรักษาฟื้นฟูยาเสพติด มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ประกอบด้วย ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม ทหาร ตำรวจ อัยการร่วมกันพิจารณา ยาบ้ามีข้อสรุปอยู่ที่ 5 เม็ด หรือ 5 หน่วย ใช้น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม
ซึ่งพิจารณาเหตุผลหลายด้านประกอบกัน ทั้งเหตุผลทางการแพทย์ โดยใช้ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นจากยาเสพติดเป็นตัวชี้วัดทางการแพทย์ หากมีผู้เสพยาบ้าในปริมาณที่เกิน 5 เม็ด จะเริ่มมีอาการทางจิต หวาดระแวง กระสับกระส่าย ก้าวร้าว หากกำหนดให้ครอบครองไม่เกิน 5 เม็ด ก็จะเข้าสู่การบำบัดได้ก่อน
เหตุผลเกี่ยวกับพฤติกรรมการเสพ โดยปกติผู้เสพจะใช้อยู่ที่ 1-3 เม็ด หรือไม่เกิน 5 เม็ด และเหตุผลเกี่ยวกับกระบวนการค้าขาย โดยผู้ค้าส่วนใหญ่จะทำแพ็กเก็จจิ้งอยู่ที่ 10 เม็ด ให้เกิดการคุ้มทุน และมีโอกาสให้ขายได้มากขึ้น
ทั้งนี้ การกำหนดปริมาณยาเสพติดของคณะกรรมการเสนอในรูปแบบร่างกฎกระทรวง ขั้นตอนเรานำร่างกฎกระทรวงเข้าสู่เวทีรับฟังความเห็น ผ่านทั้งทางตรงและทางอ้อม ในช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาระยะเวลา 15 วัน มีทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง แต่ส่วนใหญ่เห็นด้วยจึงนำร่างนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีมติเห็นชอบในวันที่ 12 ธ.ค.66 จึงส่งให้กฤษฎีกาตรวจ ก่อนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะลงนามในวันที่ 31 ม.ค. 67 และประกาศใช้ในราชกิจจาเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 67
นพ.ชลน่าน ชี้ให้เห็นว่ายาเสพติดออกฤทธิ์ทำลายสมองในปริมาณสะสมก็กร่อนทำลายสมองได้เช่นกัน เราแบ่งลักษณะอาการของผู้เสพโดยอาศัยอาการทางจิตเป็นหลัก กลุ่มผู้ใช้ 1-2 เม็ดต่อวันไม่มีอาการทางจิต จัดเป็นกลุ่มผู้ใช้ประเภทที่ 1 เป็นกลุ่มสีเขียว ในปี 66 มีจำนวน 1.46 ล้านคน โดยระหว่างเดือน ต.ค. 66-ก.พ. 67 พบ 2.6 พันคน ซึ่งไม่มีอาการทางจิตเลย ส่วนกลุ่มที่มีอาการกระวนกระวาย ก้าวร้าว อารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรง จะจัดอยู่ในสีเหลืองและสีส้ม ปี 66 พบ 4.56 แสนคน โดยระหว่าง ต.ค.66-ก.พ.67 พบ 3 พันคน ส่วนกลุ่มสีแดง มีอาการทางจิตพร้อมเป็นอันตรายให้กับสังคม ในปี 66 พบ 3.5 หมื่นคน และปี 67 พบ 5 พันคน
นโยบายการแก้ปัญหายาเสพติด เป็นวาระแห่งชาติ ที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ต้องการลดจำนวนผู้ที่เกี่ยวข้องยาเสพติดให้ได้ภายใน 1 ปี ประกาศยุทธศาสตร์ “ปลุก เปลี่ยน ปราบ” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขนำมาใช้เป็นนโยบายที่จะต้องแล้วเสร็จภายใน 100 วัน กำหนดให้มีสถานบำบัดยาเสพติดกระจายไปยังโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน มีมินิธัญญารักษ์อยู่ 153 แห่ง
นอกจากนี้ ยังมีสถานบำบัดที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน รองรับการบำบัดโดยไม่ต้องนำคนออกจากชุมชน กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการร่วมกับ 5 เสือในชุมชน ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายทหาร ตำรวจ สาธารณสุข และฝ่ายท้องถิ่น โอบอุ้มชุมชนล้อมรักษ์ได้ดำเนินการแล้ว 100 ชุมชน และอีก 200 อำเภอทั่วประเทศ ครอบคลุม 31 จังหวัดรับไปดำเนินการแล้ว มั่นใจว่าสถานที่บำบัดมีความพร้อมโดยเฉพาะชุมชนบำบัด มั่นใจว่า ทำสำเร็จได้แน่นอน โดยใช้เวลาอย่างน้อย 4 เดือน และติดตามผลต่ออีก 1 ปี