xs
xsm
sm
md
lg

ต้านหนักโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ล่าสุดชาวบ้านกบินทร์บุรีก็ประท้วงไม่เอาด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ปราจีนบุรี - 
ต้านหนักโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม หลังชาวบ้านปลวกแดง จ.ระยอง รวมตัวประท้วงจนต้องยกเลิกเวทีประชาพิจารณ์ไปก่อนหน้า ล่าสุด ชาวบ้านใน 2 ตำบลของ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี รวมตัวคัดค้านด้วยเช่นกัน อ้างเกรงปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (26 ธ.ค.) ชาวบ้านใน 2 ตำบลของ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี กว่า 300 คน ซึ่งประกอบด้วยชาวบ้านใน 7 หมู่บ้านจาก ต.ลาดตะเคียน และ ต.หาดนางแก้ว ได้รวมตัวกันถือป้ายคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม ซึ่งบริษัท กรีน แคร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ผู้ดำเนินโครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าภายในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคกบินทร์บุรี ได้จัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมี นางวัชราภรณ์ แตงหมี นายอำเภอกบินทร์บุรี ร่วมสังเกตการณ์

โดยบริษัท กรีน แคร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ยังได้นำเสนอผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ชาวบ้านที่คัดค้านการก่อสร้างโครงการได้ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกันให้อยู่ในพื้นที่ด้านนอก และไม่อนุญาตให้เข้าไปภายในพื้นที่เวทีประชาพิจารณ์โดยเด็ดขาด เนื่องจากเกรงว่าจะมีการปะทะกันระหว่างผู้คัดค้านและผู้สนับสนุน


จากการสอบถาม นายเฉลิมชัย กล้าหาญ ชาวบ้าน ม.1 ต.ลาดตะเคียน ทราบว่าสาเหตุที่ชาวบ้านต้องรวมตัวกันคัดค้านการก่อสร้างโครงการดังกล่าวเพราะว่ายังไม่มีความเชื่อมั่นว่าบริษัทผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอุตสาหกรรม จะมีการบริหารจัดการที่ดีในเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

“ที่ผ่านมาชาวบ้านมักประสบปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมมาแล้วหลายครั้ง และยังไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ดังนั้น หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในพื้นที่เกรงว่าจะเจอกับปัญหาซ้ำซาก” ชาวบ้าน ม.1 ต.ลาดตะเคียน กล่าว

ด้านตัวแทนบริษัท กรีน แคร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด บอกว่าโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมจะใช้เชื้อเพลิงเฉพาะเศษวัสดุที่เหลือใช้จากการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมประเภท เศษกระดาษ เศษไม้ เศษผ้า เศษยาง เศษหนัง และพลาสติกเท่านั้น และยืนยันว่าไม่ใช่ขยะจากครัวเรือน ขยะพิษ หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์แต่อย่างใด

“ในส่วนของการตรวจสอบแหล่งที่มาของเชื้อเพลิงและจำนวนควบคุม จะถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานราชการ ซึ่งทางโรงงานจะมีกรรมวิธีในการคัดแยกเศษวัสดุที่สับหรือตัดให้ละเอียดก่อนอัดก้อนเพื่อควบคุมความชื้นไม่เกิน 20% จึงทำให้ไม่มีน้ำหรือของเสียเหลวออกมา ขณะที่ในส่วนของเทคโนโลยีผลิตกระแสไฟฟ้าจะใช้การเผาไหม้เพื่อต้มน้ำและนำไอน้ำไปปั่นไดนาโมเพื่อกำเนิดกระแสไฟฟ้า”


นอกจากนั้น ในกระบวนการผลิตยังมีระบบกรองฝุ่นละอองที่ละเอียดถึง PM 2.5 เพื่อป้องกันฝุ่นละอองที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ และชุมชนสามารถตรวจสอบได้จากการติดตั้งระบบ CEMs สำหรับใช้ในการตรวจวัดสารต่างๆ ที่ปล่อยออกจากปล่องของโรงไฟฟ้าตลอดเวลา หรือแบบเรียลไทม์

ตัวแทนบริษัท กรีน แคร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ยังบอกถึงสิ่งที่ชุมชนจะได้รับจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ว่า นอกจากจะเป็นการเพิ่มอัตราการจ้างงาน สร้างรายได้ให้คนในชุมชนและสร้างความเจริญให้คนในพื้นที่แล้ว ภาษีบำรุงพื้นที่ที่บริษัทจะจ่ายให้ยังสามารถนำไปพัฒนาพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี ได้อีกด้วย

“ที่สำคัญยังมีกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่บริษัทจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (อัตราตามกฎหมายกำหนด) และจะมีโอกาสในการจ้างงานลูกหลานในพื้นที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการลดปริมาณขยะอุตสาหกรรมของประเทศ และเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของจังหวัดและประเทศตามยุทธศาสตร์และนโยบายของประเทศได้ด้วย” ตัวแทนบริษัท กรีน แคร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด กล่าว

อนึ่ง เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุชาวบ้านใน อ.ปลวกแดง จ.ระยอง รวมตัวคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมที่เวทีรับฟังความเห็นซึ่งจัดโดยบริษัท มีขวัญ พาวเวอร์ จำกัด  ผู้ดำเนินโครงการ จนเกิดการเผชิญหน้ากันของชาวบ้านกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มคัดค้าน จนผู้จัดงานหวั่นว่าจะเกิดเหตุการณ์บานปลายจนสุดท้ายต้องยุติเวที และประกาศทบทวนรายละเอียดโครงการอีกครั้งมาแล้ว








กำลังโหลดความคิดเห็น