xs
xsm
sm
md
lg

“ภูเก็ต ซุปเปอร์ยอร์ช มารีน่า” เตรียมทุ่มทุนเกือบ 2 พันล้าน ผุดมารีน่า พอร์ต มัจฉานุ-อู่ซ่อมเรือ รองรับซูเปอร์ยอชต์ต่างชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต -นักลงทุนไทย “ภูเก็ต ซุปเปอร์ยอร์ช มารีน่า” เตรียมทุ่มทุนเกือบ 2 พันล้าน ผุดมารีน่า “พอร์ต มัจฉานุ” และอู่ซ่อมเรือ รองรับซูเปอร์ยอชต์ของกลุ่มชาวต่างชาติ ที่หัวเกาะภูเก็ต เห็นแนวโน้มเรือยอชต์ขนาดใหญ่เข้าภูเก็ตเพิ่มขึ้นทุกปี




มารีน่า หรือท่าจอดเรือ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่นักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในภูเก็ต เพื่อรองรับการท่องเที่ยวทางทะเลที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกลุ่มที่เป็นเจ้าของเรือยอชต์ที่ต้องการนำเรือเข้ามาท่องเที่ยวและจอดไว้ที่ภูเก็ต ซึ่งกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันนี้ ภูเก็ตมีมารีน่าสำหรับให้บริการจอด เรือสปีดโบ๊ต เรือนำเที่ยว และเรือยอชต์แล้ว 5 แห่ง เป็นท่าเทียบเรือของเอกชน 4 แห่ง และของรัฐอีก 1 แห่ง ประกอบด้วย ยอร์ทเฮเว่น มารีน่า ตั้งอยู่หัวเกาะภูเก็ต ในพื้นที่ ต.ไม้ขาว รองรับเรือได้ 300 ลำ “อ่าวปอ แกรนด์ มารีน่า” ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง รองรับเรือได้ 320 ลำ “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.เกาะแก้ว รองรับเรือได้ 95 ลำ ใกล้ๆกับภูเก็ต โบ๊ทลากูน มารีน่า ที่รองรับเรือได้ 300 ลำ และท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง บริหารโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) เป็นท่าเรือสาธารณะขนาดใหญ่ ที่มีเรือทั้งเรือสาธารณะและเรือเช่าเหมาลำมาจอด รองรับเรือได้จำนวน 240 ลำ


และที่กำลังเตรียมจะลงทุนและอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีอีกหลายโครงการ ซึ่งเป็นการลงทุนโดยนักลงทุนชาวไทยทั้งในภูเก็ตและส่วนกลาง เช่น โครงการของ บริษัท มะขาม เบย์ มาริน่า จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านอ่าวมะขาม หมู่ที่ 7 ต.วิชิต อ.เมือง รองรับเรือที่มีความยาวประมาณ 30 เมตร รับได้ 130 กว่าลำ รวมถึงการลงทุนสิ่งอำนวยความสะดวกหน้าท่า ใช้เงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท

โครงการ “อ่าวกุ้ง มารีน่า” ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 9 ต.ป่าคลอก เป็นเรือท่าเรือขนาดเล็ก รองรับเรือขนาดไม่เกิน 18 เมตร ได้ 75 ลำ ใช้เงินลงทุนประมาณ 800 ล้านบาท โครงการ “กรีนพอร์ท มารีน่า” ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต รองรับเรือได้ 219 ลำ ขณะนี้รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ผ่านการเห็นชอบแล้ว รอการลงทุนต่อไป นอกจากนี้ ยังมีโครงการของท่าเรือพิสิษฐ์พันวา ที่จะลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของมารีน่า ในพื้นที่บ้านอ่าวมะขาม ต.วิชิต ซึ่งได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว

ล่าสุด ที่ได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ คือ โครงการ “พอร์ต มัจฉานุ” ของบริษัท ภูเก็ต ซุปเปอร์ยอร์ช มารีน่า จำกัด ที่บ้านหยิด ต.ไม้ขาว อยู่ทางตอนเหนือของเกาะภูเก็ต ใกล้ๆ กับยอร์ทเฮเว่น มารีน่า และอยู่ฝั่งตรงข้ามกับบ้านคลองเคียน จ.พังงา


นายดิฐพงศ์ ฐิตะดิลก ประธานคณะผู้บริหาร และ นายฐากูร บุญมาก รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ภูเก็ต ซุปเปอร์ยอร์ช มารีน่า จำกัด เปิดเผยถึงการลงทุนมารีน่าในภูเก็ต ว่า ก่อนที่จะขยายการลงทุนสู่ธุรกิจมารีน่านั้น บริษัท ภูเก็ต ซุปเปอร์ยอร์ช มารีน่า จำกัด ได้ลงทุนในส่วนของอู่ซ่อมเรือยอชต์ และเรืออื่นๆ อยู่แล้ว โดยได้นำที่ดินของครอบครัวที่ก่อนหน้านี้ทำการเกษตรมาปรับเปลี่ยนเป็นการลงทุนอู่ซ่อมเรือ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตที่ดีมาก จากที่ภูเก็ตมีเรือยอชต์เข้ามาจำนวนมากในแต่ละปี และเห็นว่าเรือที่เข้ามานั้นมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นในระดับซูเปอร์ยอชต์ คือ ยาวตั้งแต่ 50 เมตรขึ้นไป จึงได้ตัดสินใจขยายการลงทุนในส่วนของอู่ซ่อมเรือให้สามารถรองรับระดับซูเปอร์ยอชต์ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตามแผนที่วางไว้จะเปิดรับซูเปอร์ยอชต์ได้ปลายปี 2566 นี้ ด้วยเงินลงทุนเกือบ 500 ล้านบาท

และจากที่ในปัจจุบันนี้ ภูเก็ตมีเรือขนาดใหญ่ ที่เป็นซูเปอร์ยอชต์เข้ามามากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ของโลก ทางบริษัทมองเห็นโอกาสในการที่จะลงทุนมารีน่าเพื่อรองรับเรือขนาดใหญ่ ที่มีความยาวตั้งแต่ 50 เมตรขึ้นไป จึงได้ตัดสินใจขยายการลงทุนเพิ่มในส่วนของมารีน่า หรือท่าจอดเรือยอชต์ “พอร์ต มัจฉานุ” ในพื้นที่ติดกับอู่ซ่อมเรือในส่วนที่อยู่ติดริมทะเล โดยขณะนี้ได้มีการออกแบบรายละเอียดของโครงการแล้วเสร็จ และอยู่ในขั้นตอนศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ ครั้งที่ 1 ไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ และครั้งที่ 2 ในช่วงปลายปีนี้


“พอร์ต มัจฉานุ” เป็นมารีน่าที่รองรับเรือขนาดใหญ่ ที่มีความยาวตั้งแต่ 50-60 เมตร ขึ้นไป เป็นทุ่นลอยน้ำ รองรับเรือได้ทั้งหมด 40 ลำ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกหน้าท่าทั้งหมด ซึ่งตามแผนที่วางไว้คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2567 และเปิดให้บริการภายในปี 2568 ที่จะถึงนี้

“บริษัทคาดหวังว่าเมื่อเราเปิดให้บริการจะได้รับการตอบรับที่ดีจากเรือขนาดใหญ่ที่จะมาใช้บริการจอดและขึ้นคานซ่อม เพราะเรามีบริการที่ครบวงจร ทั้งมารีน่า และอู่ซ่อม รวมไปถึงบริการด้านต่างๆ โดยมุ่งไปที่ซูเปอร์ยอชต์ของชาวต่างชาติเป็นหลัก คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 100 ลำต่อปี ซึ่งจุดนี้จะทำให้เศรษฐกิจของภูเก็ตเติบโตขึ้น เพราะซูเปอร์ยอชต์แต่ละลำนั้นจะมีค่าใช้จ่ายต่อปีในทุกด้านไม่ต่ำกว่าลำละ 50 ล้านบาท” นายดิฐพงศ์ กล่าวและว่า

เรามั่นใจว่าเรือยอชต์ในยุโรปจะกลับมาภูเก็ตเหมือนก่อนเกิดโควิดระบาด และเท่าที่ทราบขณะนี้ได้กลับเข้ามาภูเก็ตในตัวเลขที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิดระบาดแล้ว และคิดว่าซูเปอร์ยอชต์ของต่างชาติจะอยู่ในภูเก็ตนานขึ้น เพราะเรามีอู่ซ่อมแซมที่สามารถรองรับเรือขนาดตั้งแต่ 50-60 เมตรได้แล้วในปลายปีนี้ ซึ่งเรือแต่ละลำนั้นจะต้องขึ้นคานมาดูแลรักษาสภาพในทุก 12-18 เดือน


ผู้บริหารภูเก็ต ซุปเปอร์ยอร์ช มารีน่า ยังกล่าวถึงการลงทุนของบริษัท ภูเก็ต ซุปเปอร์ยอร์ช มารีน่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ว่า นอกจากอู่ซ่อมเรือและมารีน่าแล้ว ทางบริษัทยังมีโครงการที่จะขยายการลงทุนเพิ่มในส่วนของสนามกอล์ฟ ขนาด 18 หลุม พร้อมที่อยู่อาศัย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพูดคุยเรื่องการลงทุน ทังนี้ เพื่อพัฒนาที่ดินมีอยู่กว่า 1,900 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ที่บริการแบบครบวงจรในการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งที่เป็นกลุ่มเรือยอชต์ และนักกอล์ฟต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น