xs
xsm
sm
md
lg

“5 เม็ด = ผู้เสพ” แค่แยกเบื้องต้น รอตัดสิน หวั่นคนถูกบำบัดน้อยลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



#ยาบ้า5เม็ด ถือว่า “เสพ” ไปบำบัดพอ ไม่ต้อง “เข้าคุก” หวั่นช่องโหว่ให้ “คนขาย” ไม่ต้องรับโทษ ผู้เชี่ยวชาญบอกควรดูที่ “พฤติการณ์” คนเสพ คือคนป่วยที่ต้องบำบัด

อย่ามองที่ “จำนวน” ต้องดู “เจตนา”

กลายเป็นที่ถกเถียงกันของคนในสังคม หลังจากมีประกาศ “กฎกระทรวง กำหนดปริมาณยาเสพติด” ว่า ที่มี “ยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด”ให้ถือว่าเป็น “ผู้เสพ” ในประกาศกฎกระทรวงนี้ ระบุว่า...

ผู้ที่มี “ยาบ้า” ไม่เกิน 5 เม็ด เมื่อถูกจับให้สันนิษฐานว่ามีไว้ “เพื่อเสพ” และให้เป็น “ผู้ป่วยจิตเวช” ที่ควรนำไป “บำบัดรักษาให้หาย” ซึ่งมีทางเลือกให้ 2 ทางคือ “เข้ารับการบำบัด” หรือ “เข้ารับโทษ 1 ปีฐานครอบครองเพื่อเสพ”

แต่ทั้งนี้แม้จะครอบครองไม่เกิน 5 เม็ด ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่ามีพฤติการณ์เข้าข่าย “ค้ายาเสพติด” ก็จะถูกลงโทษตามที่กฎหมายกำหนด

หลังจากมีประกาศนี้ก็กลายที่เรื่องถกเถียงกันในสังคม จนในทวิตเตอร์(X) ติด #ยาบ้า5เม็ด หลายคนกังวลว่า แบบนี้จะไม่ทำให้ “ยาบ้าระบาดเต็มเมืองหรือ?” บางคนก็กลัวว่า “คนขาย” จะใช้ข่องนี้เพื่อ “หลบเลี่ยงบทลงโทษทางกฎหมาย”

แต่บางคนเห็นด้วยกับกฎกระทรวงนี้ เพราะการให้ผู้มียาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ถือว่าเป็น “คนเสพ” และพาไปบำบัด ดีกว่าการที่จะต้องติดคุก เพราะสุดท้ายชีวิตก็จะพัง และกลับมาวนเวียนใช้ยาเสพติดเหมือนเดิม



ชวนคุย รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) มาช่วยทำความเข้าใจถึงการประกาศกฎทรวงนี้ และผลกระทบที่จะตามมาว่ามีอะไรบ้าง

โดยอธิบายว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติดแบ่งเป็น “ผู้เสพ” และ “ผู้ค้า” เมื่อก่อน “ผู้ที่มียาเสพไม่เกิน 15 เม็ด” ถือว่าเป็น “ผู้เสพ”

แต่ในยุค คสช. ก็ให้ลดลงมาเหลือ 5 เม็ด เพื่อต้องการให้ “คนเข้ารับการบำบัดมากขึ้น”จนมีประมวลกฎหมายออกมาในปี 54 แต่ก็ยังไม่มีการออกกฎกระทรวง ที่ระบุปริมาณการครอบครองที่ชัดเจน ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงปฏิบัติ

การแบ่งจำนวนเม็ด หรือปริมาณยาเสพติด เพื่อรองรับให้ เจ้าหน้าที่ทำงานง่ายขึ้นสามารถแบ่งประเภทได้ว่าเป็น “คนขาย” หรือ “คนเสพ” โดยการสันนิษฐาน แต่ใจความของมันคือ “พฤติการณ์”

“นึกภาพว่าเจอมีอยู่ 5 เม็ด ก็สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อเสพ แต่ก็ต้องไปดูในแง่ว่า แล้วพฤติการณ์เขามี เรื่องการค้าหรือเปล่า ถ้ามี แม้จะน้อยกว่า 5 เม็ด ก็ต้องโดนดำเนินคดีอยู่แล้วนะคะ”

ในทางกลับกัน ถ้าเขามียาบ้ามากว่า 5 เม็ด แต่เสพอย่างเดียว ไม่มีพฤติการณ์ในการค้าเราก็ควรจะมองว่า เขาเป็น “ผู้เสพ” และนำเขาเข้าสู่กระบวนการรักษาและบำบัด

                                                                {รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ}

ส่วนเรื่องที่คนมองว่า มันจะกลายเป็น “ช่องโหว่” ให้กับ “ผู้ขาย” หรือเปล่า ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด รายเดิมยอมรับว่า อาจจะเป็นโอกาสให้ “คนค้า”ขายแบ่ง เพื่อเลี่ยงโทษทางกฎหมาย

“ประเด็นมันเลยไม่ได้อยู่ที่จำนวนเม็ด มันอยู่ตรงที่ว่า เราเห็นพฤติการณ์เขาว่าเป็นอย่างไร”

นอกจากนี้แหล่งข่าวยังแสดงความกังวลถึง “ผลกระทบ” ในการกำหนดปริมาณยาเสพติดนี้ว่า ถ้ากำหนดว่า 5 เม็ดถือเป็น “ผู้เสพ” การกำหนดปริมาณน้อยๆ แบบนี้ จะทำให้ “ผู้เข้าถึงการบำบัดน้อยลงตาม”

“เพราะจะไปผ่านทางระบบยุติธรรมมากขึ้นค่ะ แต่หากกำหนดจำนวนเม็ดไว้สูงๆ ว่า ให้สันนิษฐานเป็นผู้เสพ ก็จะทำให้ถูกส่งเข้ารับการคัดกรองและบำบัดรักษามากขึ้น”



ไม่จบแค่ “เลิกยา” ต้องร่วมให้พื้นที่ “อนาคต”

พญ. รัศมนแนะให้มองว่า “ผู้เสพ” คือ “ผู้ป่วย” ถ้าเรานำทุกคนที่ใช้สารเสพติด เข้ากระบวนการทางอาญา หรือ “เข้าคุก”แบบนั้นจะทำให้หลายคนขาดโอกาส ทำให้ชีวิตเขาพังไปเลย ทั้งที่ไม่ได้ก่อปัญหาอะไร

“คนที่ใช้สารเสพติด มันจะไปออกฤทธิ์ที่สมอง ทำให้เขาหยุดใช้สารไม่ได้ ทั้งที่เขาอยากเลิก”

จริงอยู่คนที่ “ใช้สารเสพติด” ส่วนหนึ่งอาจจะไป “ก่อความรุนแรง” หรือ "ถึงขั้นติดสารเสพติด” แต่ก็เป็นเพียง 10% ของผู้ใช้สารเสพติดทั้งหมด

เนื่องจากมี “ผู้เสพ”หลายคนที่ไม่ได้ก่อคดีร้ายแรง หรืออาชญากรรมอื่นๆ เราต้องทำการแยกประเภทว่า จะนำเขาเข้ากระบวนการ “ยุติธรรม” หรือ “บำบัดรักษา”

การมองว่าเป็น “คนเสพ” คือ“คนป่วย” และพาเข้าไปรักษานั้นเป็นทางเลือกที่ดี แต่ “กระบวนบำบัดของเราได้ผลจริงหรือ?” เพราะ สถิติ “การกระทำผิดซ้ำมากที่สุด” ก็ยังคงเป็น “คดียาเสพติดอยู่ดี”



“ต้องยอมรับว่าในธรรมชาติของการเป็นโรคติดสารเสพติดว่า มันสามารถกลับไปเป็นซ้ำได้ แต่การกลับไปซ้ำนี้ เรามองว่าสามารถกลับมาเข้าบำบัดใหม่ได้”

“คล้ายกับคนเป็นโรคเบาหวาน” ยกตัวอย่างถ้าเผลอไปกินของหวาน ระหว่างกินยารักษาอยู่ พอกลับมารับรักษาใหม่ ก็ปรับยาปรับวิธีการรักษากันใหม่

ในกรณีบางคนที่ ติดสารเสพติดหนัก จนไปก่อความรุนแรง หรือมีอาการทางจิต ก็ยังมี “พ.ร.บ. สุขภาพจิต” ที่สามารถนำเขาเข้าสู้กระบวนการบังคับรักษาได้

ดังนั้น เรื่องนี้ต้องมีระบบคัดกรองและติดตามที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้มั่นใจว่า “เวลาที่คนเขาอยากเลิก” มารักษาแล้ว “เขาสามารถเลิกได้จริง”

“ในเรื่องของการบำบัดรักษา ในกระบวนการคืออาฟเตอร์แคร์ หลักจากมีการรักษาแล้ว มีการติดตาม นัดมาดูเป็นระยะ เรื่องที่รักษา ไม่ได้เฉพาะว่า เขาสามารถหยุดใช้สารได้แล้วเท่านั้น”



เทียบกันแล้วถือว่า “กระบวนการบำบัดรักษา”พวกนี้ดีขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก ตอนนี้มีการพยายามสร้าง สถานที่รักษาผู้ป่วยยาเสพติด ให้ครอบคลุมแต่ละจังหวัด ต่างจากเมื่อก่อนที่จะมีแต่เฉพาะจุดใหญ่ๆ ตามแต่ละภาค

โดยเฉพาะการบำบัดที่ไม่ได้ดูแค่ว่า “เขาเลิกยาได้แล้ว” แต่ต้องมองด้วยว่า เขาสามารถกลับไปชีวิตในสังคมได้หรือเปล่า ทำให้ต้องใช้ทั้ง แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งก็ยอมรับว่ายังมีปัญหาอยู่

“เรื่องบุคลากรทางการแพทย์ บ้านเรามีไม่พอในแทบทุกสาขา ด้านการรักษายาเสพติดเองก็ยังมีน้อยอยู่ ต้องพยายามที่จะผลิตขึ้นมาเพื่อมาลองรับตรงนี้ค่ะ”



สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : oasisrecovery.org.uk , scmp.com



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น