xs
xsm
sm
md
lg

“สุทิน”เอาจริงนโยบายปราบปรามยาเสพติด นั่งเรือตรวจเส้นทางขนยา“แม่น้ำโขง”พร้อมปรับค่ายเป็นศูนย์บำบัด ลั่นทหารต้องปลอดยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(6 ธ.ค.)นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง นโยบายปราบปรามยาเสพติดว่า เป็นภารกิจของกองทัพที่มีมานานแล้วเพราะทุกรัฐบาลมีการขับเคลื่อนมาโดยตลอด และสำหรับนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ มีการขีดเส้นว่าต้องเห็นชัดเจนขึ้น โดยทหารต้องมีส่วนร่วมและช่วยเหลือรัฐบาลในการปราบปรามทุกทาง ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ภายหลังการประชุมสรุปปัญหายาเสพติด ชายแดน โดยเฉพาะเส้นทางขนถ่ายยาเสพติดตลอดแม่น้ำโขง ที่กองกำลังสุรศักดิ์มนตรีเดินทางร่วมตรวจเส้นทางการขนถ่ายยาเสพติดทางน้ำที่เป็นปัญหาที่สำคัญมากเพราะตลอดแม่น้ำโขง กลุ่มผู้ค้ายาสามารถลักลอบขนยาเสพติดข้ามได้ตลอดเพราะเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ ขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยสอดส่องหรือสกัดการขนถ่ายยาเสพติดที่มีปริมาณที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น

นายสุทิน กล่าวว่า การปราบปรามต้นน้ำคือ การสกัดกั้นยาเสพติดตลอดแนวชายแดน ทั้งทางบกที่มีกว่า 3 พันกิโลเมตร และทางน้ำอีกกว่า 2 พันกิโลเมตร ส่วนกลางน้ำคือความร่วมมือระหว่าง กอ.รมน. จังหวัด สนธิกำลังกับฝ่ายปกครองและตำรวจช่วยในการปราบปรามจับกุมเช่นเดียวกับปลายน้ำ หรือการบำบัด ที่ผ่านมามีค่ายวิวัฒน์พลเมืองซึ่งถือเป็นโมเดลที่ทำสำเร็จมาแล้ว กองทัพจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามกฎหมายเพื่อใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะค่ายฝึกของทหารเกณฑ์ ซึ่งแน่นอนว่าทหารที่มาสมัคร มีเยาวชนบางส่วนติดยา จึงเป็นอีกช่องทางที่ต้องนำเยาวชนที่มีปัญหาเข้ามาฝึก และพร้อมกับบำบัดไปด้วย

“เป็นกระบวนการที่เข้มแข็ง แบบยิงนกทีเดียวได้ 2 ตัว หนึ่งคือได้ฝึกทหารที่เตรียมพร้อมรบ สองคือได้แก้ปัญหายาเสพติด เพราะทหารที่จะพร้อมรบต้องเลิกยาเสพติดก่อน มั่นใจกองทัพช่วยรัฐบาลได้เยอะแน่นอน เราเน้นย้ำ แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติ มีการชี้แนะเรื่องเครื่องมือที่ทันสมัย รัฐบาลก็พร้อมส่งเสริม“ นายสุทิน กล่าว

ก่อนหน้านี้ กระทรวงกลาโหม ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick Win) ร่วมกับผู้แทนจาก สำนักงาน ป.ป.ส., กอ.รมน. และ กอ.รมน.จังหวัดเป้าหมาย, มท., สป.สธ., กรมสุขภาพจิต, กรมการแพทย์, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเตรียมความพร้อมและซักซ้อมความเข้าใจในการดำเนินงานดูแลและส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตฯ ซึ่งที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบเรื่องต่างๆ ดังนี้

1. แนวทางปฏิบัติการดำเนินงานดูแลส่งต่อผู้มีอาการทางจิตเวช อันเนื่องจากการใช้ยาเสพติด โดยปรับปรุงแก้ไขบทบาทของศูนย์พักคอย จากเดิมมีหน้าที่ในการดูแลผู้มีอาการทางจิตฯ กลุ่มสีเหลือง เป็นการดูแลและให้การบำบัดรักษาผู้มีอาการทางจิตฯ กลุ่มสีส้มอย่างจำกัด ก่อนส่งต่อไปรับการบำบัดรักษา ณ สถานพยาบาลยาเสพติด
2. สำนักงาน ป.ป.ส. และ สป.สธ. จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือเพื่อจัดทำแนวทางในการดำเนินงานของศูนย์พักคอย ในประเด็นต่างๆ ทั้งการพิจารณาออกกฎหมายรองรับการดำเนินงานของศูนย์พักคอย มาตรฐานศูนย์พักคอยและอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ จัดทำ SOP และระบบการรับและส่งต่อผู้มีอาการทางจิต และการสนับสนุนบุคลากรวิชาชีพเฉพาะจากกระทรวงสาธารณสุข
3. กอ.รมน. เป็นหน่วยร่วมบูรณาการ
4. กรอบแนวทางขั้นต้นในการจัดตั้งศูนย์พักคอยของ ทบ.
- ระยะที่ 1 (ธ.ค.66 - ก.พ.67 ) เปิดศูนย์พักคอย จำนวน 40 เตียง ในพื้นที่เป้าหมายตามที่สำนักงาน ป.ป.ส. กำหนด
- ระยะที่ 2 (ม.ค.67 เป็นต้นไป) เปิดศูนย์พักคอย จำนวน 50 เตียง ภายในโรงพยาบาลในสังกัดกองทัพบก
- ระยะที่ 3 (ตามความพร้อมและศักยภาพของหน่วย) เปิดศูนย์พักคอยในโรงพยาบาลสังกัดกองทัพบก ในส่วนที่เหลืออีก 27 แห่ง รวม 110 เตียง รวมถึงพิจารณาจัดตั้งในพื้นที่อื่น ภายใต้เงื่อนไขการมีกฎหมายรองรับการดำเนินงานของศูนย์พักคอย และการได้รับการสนับสนุนบุคลากรวิชาชีพฯ การฝึกอบรมฯ และงบประมาณ










กำลังโหลดความคิดเห็น