ก้าวไกล จี้ รัฐบาลตั้งสติ ปกป้องเสรีภาพสื่อ จี้ ปล่อยตัว 2 นักข่าวถูกตำรวจจับ แนะ หยุดนิติสงคราม ใช้กระบวนสภา แก้ปัญหา
จากกรณี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระราชวัง ได้จับกุมผู้สื่อข่าวประชาไท ในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนให้มีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน กับ พ.ร.บ.ความสะอาด ที่บ้านพัก ตามหมายจับของศาลอาญา และยังมีนักข่าวอิสระถูกจับอีก 1 ราย จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อ
ล่าสุด วันนี้ (13 ก.พ.) นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า อย่าให้สังคมหวนคืนสู่ยุคสมัยแห่งความหวาดกลัว รัฐบาลต้องปกป้องเสรีภาพสื่อ การจับกุมสื่อที่ทำหน้าที่ของตนเองราวกับว่าทำความผิดร้ายแรง การยัดข้อหาแบบนี้ จะทำให้สังคมไทยกลับมาสู่ยุคของการควบคุมสื่อ ทำข่าวที่เห็นต่างจากรัฐไม่ได้
“ถ้าสื่อทั้ง 2 คน ยังถูกดำเนินคดีต่อ จะเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าเสรีภาพสื่อถูกตัดตอน นักข่าวที่ทำข่าวการเมือง จะต้องทำงานท่ามกลางความหวาดระแวง ว่า สักวันอาจจะโดนยัดข้อหาได้ทุกเมื่อ” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า บรรยากาศแบบนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น การทำร้ายผู้เห็นต่างอย่างที่กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ทำกับ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน จนถึงการจับกุมสื่อในครั้งนี้ ทำให้เราต้องหยุดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว หยุดความรุนแรง หยุดนิติสงคราม และใช้กระบวนการสภา ในการแก้ปัญหา
“ผมจึงขอให้คิดกันดูอีกสักที ว่า สังคมเราได้อะไรจากการจับสื่อที่ทำหน้าที่ เราจะถอยหลังกลับไปเส้นทางนั้นจริงหรือ ผมจึงอยากให้ปล่อยตัวเหยื่อทั้งสองคนโดยเร็ว และเรียกร้องให้รัฐบาล ยืนหยัดเคียงข้างสื่อมวลชน ปกป้องเสรีภาพสื่อ ให้สามารถทำงานได้อย่างตรงไปตรงมาอีกครั้ง” นายรังสิมันต์ กล่าว
ด้าน น.ส.รักชนก ศรีนอก ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวด้วยเช่นกัน ระบุว่า 1. มีการทำร้ายประชาชน ทำร้ายสื่อในที่สาธารณะ มีหลักฐานเป็นคลิปชัดเจน ก่อนหน้ากระทำการมีการชี้หน้าข่มขู่ประชาชนที่บันทึกภาพเหตุการณ์ ตำรวจดำเนินคดีหรือแจ้งข้อกล่าวหาอะไรบ้างหรือยัง?
2. มีการโพสต์ขู่เอาชีวิตเยาวชน เผยแพร่เป็นสาธารณะต่อเนื่องหลายโพสต์ อีกทั้งมีการยกพวกการไปคุกคามถึงที่พักอาศัย ขู่ทำร้ายต่างๆ นานา เคสนี้ตำรวจนิ่งมาก
3. ผู้สื่อข่าวและช่างภาพอิสระประชาไท ถูกตำรวจจับกุม เนื่องจากไปทำข่าวนักกิจกรรมพ่นสีกำแพงวังเมื่อ มี.ค. ปี 66 มีการตีความว่า ไปทำข่าวเท่ากับการสนับสนุน อีกทั้งยังสั่งห้ามประกัน ถ้าใช้มาตรฐานนี้ ต่อไปประเทศนี้จะทำเสนออะไรได้
4. ตำรวจพัทลุง สั่งห้ามงานฉายหนังสั้น Phatthalung Micro Cinema ที่จะจัดโดยมีกิจกรรมเสวนา นิรโทษกรรมประชาชน ในงานด้วย เข้าใจว่า รัฐบาลอยากส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ด้านภาพยนตร์ แล้วการกระทำแบบนี้คืออะไร
“ถ้าใช้มาตรฐานนี้ ต่อไปประเทศนี้จะทำเสนออะไรได้อีกบ้าง สื่อทุกสำนักมีหน้าที่นำเสนอข่าว ไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะเอาไว้สรรเสริญใคร เราจะอยู่กันแบบนี้จริงๆ หรือ” น.ส.รักชนก ระบุ
ขณะที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ทวีตข้อความบน X หรือทวิตเตอร์ ระบุข้อความว่า เมื่อคืนนี้ นักข่าวประชาไท และช่างภาพอิสระ รวมกัน 2 คน ต้องนอนที่ สน. หลังถูกจับกุมตัว และถูกปฏิเสธการประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน
ด้วยข้อหาเป็นผู้สนับสนุนให้มีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน กับ พ.ร.บ.ความสะอาด โดยคาดว่า เป็นเพียงเพราะทั้งสองไปรายงานข่าวการพ่นกำแพงที่วัดพระแก้วเมื่อ 28 ม.ค. 2566
หากเป็นจริง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก เนื่องจากขัดกับหลักการสำคัญว่า “การทำข่าว” และนำเสนอของเท็จจริงของนักข่าว ไม่ได้เท่ากับ “การสนับสนุน” การกระทำที่เกิดขึ้น
รวมถึงกระทบต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญและขาดหายไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย (ล่าสุด ประเทศไทยอยู่ที่ลำดับ 106 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ใน World Press Freedom Index 2023)
ด้าน น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า วันนี้เรายังต้องมาตั้งคำถามว่าเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตยแบบไหน ที่สื่อมวลชนผู้นำเสนอข้อเท็จจริง โดนฟ้องปิดปากครั้งแล้วครั้งเล่า
ตนขอฝากไปยังรัฐบาล ให้ตั้งหลักตั้งสติ การปิดปากสื่อมวลชนเป็นเรื่องร้ายแรงในสังคมที่เรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย ในฐานะที่รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลพลเรือน มาจากการเลือกตั้ง แม้การจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดจากการผสมพันธุ์ข้ามขั้ว แต่ท่านมีทางเลือกที่จะแสดงให้ประชาชน เห็นว่า รัฐบาลนี้พร้อมปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ขี้ขลาดความจริงเหมือนที่รัฐบาลเผด็จการเป็นกัน
ดังนั้น ท่านยังมีโอกาส อย่าปล่อยเรื่องนี้ให้เนิ่นช้า รีบสลัดรอยต่อรัฐบาลเผด็จการให้ได้ แล้วทำหน้าที่รัฐบาลของประชาชน ปกป้องพื้นที่ของสิทธิเสรีภาพของสังคมอย่าให้หดแคบไปกว่านี้ ตระหนักอยู่เสมอว่าเสรีภาพสื่อก็คือเสรีภาพประชาชน การปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ก็คือ การปกป้องสิทธิเสรีภาพประชาชนในการรับรู้ข่าวสาร ไม่ให้ถูกปิดหูปิดตา
“แต่หากท่านปล่อยเรื่องแบบนี้ให้เกิดขึ้นซ้ำๆ ไม่คิดแก้ไข ดิฉันเป็นห่วงจริงๆ ว่า สุดท้ายประชาชนจะแยกไม่ออก ว่ารัฐบาลเศรษฐาต่างจากรัฐบาลประยุทธ์อย่างไร” น.ส.ภคมน กล่าว
น.ส.ภคมน กล่าวด้วยว่า ถ้าในสังคมไม่มีพื้นที่ให้สื่อมวลชนปกป้องสิทธิตนเองแบบนี้ ตนจะใช้เวทีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้สื่อและภาครัฐได้ถกกันในวันที่ 15 ก.พ. นี้