xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวไกลป้อง "พิธา" ฉะ "อัครเดช" เลิกกล่าวหาสร้างวาทกรรมแบ่งแยก สิ่งที่ไม่สบายใจคือไม่ให้คนเห็นต่างพูด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ภคมน“ ซัด “อัครเดช” เลิกกล่าวหาคนอื่น สร้างวาทกรรมแบ่งแยก แนะ ทบทวนต้นตอความขัดแย้งการเมืองไทยที่ผ่านมา ชี้สิ่งที่ควรไม่สบายใจ ไม่ใช่คำพูดพิธา แต่คือการผลักคนเห็นต่าง ไม่มีพื้นที่พูดคุยหาทางออก

วันที่ (11 กุมภาพันธ์ 2567) น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ รองโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ระบุไม่สบายใจนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรคก้าวไกลใช้วาทกรรมคนรุ่นใหม่แบ่งแยกคนในสังคม ว่าถ้านายอัครเดชฟังสิ่งที่พิธาสื่อสารแล้วไม่สบายใจ นั่นอาจเป็นปัญหาส่วนตัวเกี่ยวกับตีความของนายอัครเดชเอง เพราะสิ่งที่นายพิธาพูดคือการพยายามเชิญชวนให้สังคมมองกรณีคุณทานตะวันและเหตุการณ์ขบวนเสด็จโดยไม่แยกขาดจากการเมืองภาพใหญ่ เพราะไม่ว่านายอัครเดชจะยอมรับหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงคือความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทย โดยเฉพาะที่ต่อเนื่องจากการชุมนุมที่นำโดยคนรุ่นใหม่เมื่อปี 2563 วันนี้ยังคงอยู่ โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึงก็คือสิ่งที่นายพิธาเรียกว่า “ความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจ”

“สิ่งที่น่าไม่สบายใจ ไม่ใช่คำพูดของนายพิธา แต่คือการที่สังคมไทยยังไม่มีพื้นที่ให้แต่ละฝ่ายที่เห็นต่างกันได้พูดคุยเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้ง กลับใช้นิติสงครามกดปราบ ผลักไสอีกฝ่ายเป็นคนไม่รักชาติ หรือเลวร้ายกว่านั้นคือลุกลามเป็นการใช้กำลัง หวังให้อีกฝ่ายไม่เหลือที่ยืน นี่ต่างหากคือสิ่งที่น่าไม่สบายใจ น่าเป็นห่วงต่ออนาคตประชาธิปไตยไทย“ น.ส.ภคมน กล่าว

รองโฆษกพรรคก้าวไกลกล่าวต่อว่า จึงขอให้นาวอัครเดช ซึ่งด้วยวัยวุฒิเรียกได้ว่าเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง เลิกกล่าวหาคนอื่นใช้วาทกรรมแบ่งแยก และลองทบทวนดูว่าความขัดแย้งตลอดหลายสิบปีในสังคมไทยเกิดจากอะไรกันแน่ สิ่งใดที่แบ่งแยกคนออกจากกัน เป็นเพราะคำพูดของคนไม่กี่คนหรือเพราะประชาชนรับรู้ถึงความผิดปกติ ความอยุติธรรมว่ามันมีอยู่จริง ถ้าตั้งหลักแบบนี้ได้ อัครเดชและพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะพรรครัฐบาล สามารถมีบทบาททำให้ความขัดแย้งเหล่านี้คลี่คลายลง แม้การกระทำที่ผ่านมาของอัครเดชและพรรครวมไทยสร้างชาติ จะทำให้ตนคาดหวังได้ยาก แต่ก็ขอฝากให้พิจารณา

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก "ชัยธวัช ตุลาธน - Chaithawat Tulathon" ระบุว่า จากกรณีที่หลายฝ่ายมีความเห็นในหลากหลายทิศทาง ต่อการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มกิจกรรมทะลุวัง ที่กำลังเป็นประเด็นขณะนี้ ผมมีความเห็นว่า อันดับแรก เราต้องหันกลับมาทบทวนหลักการสำคัญของสังคมประชาธิปไตย นั่นคือธรรมชาติของทุกสังคมย่อมมีความเห็นแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงเรื่องความเห็นต่อบ้านเมือง แต่ความเห็นที่แตกต่างกันเหล่านั้น ต้องไม่ถูกจัดการด้วยการใช้กำลัง การล่าแม่มด หรือการผลักไสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไป ซึ่งจะยิ่งเพิ่มช่องว่างระหว่างผู้มีความคิดความเชื่อต่างกันให้มากขึ้น แต่ต้องใช้กระบวนการทางประชาธิปไตย เพื่อลดช่องว่างทางความเข้าใจโดยไม่ใช้ความรุนแรง

ในกรณีกลุ่มทะลุวัง ผมเข้าใจดีถึงความคับข้องใจที่พวกเขาแสดงออก แต่ขณะเดียวกัน ผมเชื่อว่าพวกเราทราบดี ว่าเนื้อหาสาระกับวิธีการแสดงออก เป็นสองสิ่งที่สำคัญควบคู่กัน การเลือกวิธีแสดงออกแบบใดแบบหนึ่ง ย่อมมีทั้งฝ่ายที่พอใจ/ไม่พอใจ เข้าใจ/ไม่เข้าใจ จึงพึงพิจารณาว่าการแสดงออกทางการเมืองเช่นนั้น สามารถถ่ายทอดความรู้สึกและเหตุผลภายในใจไปยังประชาชนกลุ่มอื่นในสังคม ให้รับรู้และเข้าใจเหตุผลที่แท้จริงของผู้แสดงออกได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าวิธีการที่แต่ละคนแต่ละฝ่ายเลือกใช้คืออะไร เส้นที่เรา “ต้อง” ไม่ข้ามไป คือการใช้ความรุนแรงตอบโต้ หรือเจตนาทำลายล้างคนที่คิดไม่เหมือนตนให้หมดไปจากสังคม การกระทำของกลุ่ม ศปปส. ที่สยามพารากอนในวันนี้ จึงเป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ผมเห็นว่าสังคมไทยทุกฝ่ายต้องเรียนรู้จากความรุนแรงทางการเมืองในอดีต การปลุกระดมสร้างความเกลียดชังจนนำมาสู่การใช้ความรุนแรง ไม่อาจคลี่คลายความขัดแย้งได้อย่างยั่งยืน มีแต่จะยิ่งเพิ่มช่องว่างระหว่างผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกันในสังคม ให้ยากจะหันหน้ามาคุยกันได้ เวลานี้เป็นเวลาที่ต้องใช้เหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ การมีกระบวนการที่โอบรับทุกฝ่ายให้หันหน้าเข้าหากัน เพื่อพูดคุยและพร้อมรับฟังกันและกันอย่างเปิดใจ คือหนทางเดียวที่จะพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้งนี้
ผมเชื่อว่าเรายังพอมีความหวัง สัญญาณของการพาสังคมออกจากความขัดแย้งยังไม่หมดไปเสียทีเดียว เพราะในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างน้อยผมเห็นความพยายามจากหลายฝ่ายในการพูดถึงกระบวนการที่จะนำไปสู่การนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในหนทางเพียงไม่กี่อย่าง ที่จะสร้างพื้นที่ให้เราหันหน้ามาคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ รับฟังกันอย่างมีเหตุผลและอย่างจริงใจ ผมเชื่อว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นการ “เจาะหนอง” ระบายความขัดแย้งทางการเมืองที่เรื้อรัง ให้ทุกฝ่ายเย็นลงมากพอที่จะมานั่งคุยกัน หาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองที่สะสมมายาวนาน

ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ที่ลานประชาชนรัฐสภา เครือข่าย #นิรโทษกรรมประชาชน จะมีการจัดพื้นที่พูดคุยเพื่อนำไปสู่การลดความขัดแย้งของสังคม ผมจะเข้าร่วมกิจกรรมด้วย จึงอยากเชิญชวนให้ทุกฝ่ายลองเริ่มต้นมาพูดคุย เปิดใจรับฟังเสียงของกันและกันครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น