xs
xsm
sm
md
lg

คลี่ปมปัญหา-ข้อพิรุธ "คดีตบทรัพย์" พี่ศรีเอวัง-ตั้งข้อหา “เจ๋ง”และ “การ์ตูน” ไม่เคลียร์ อธิบดีกับเมียร่วมให้สินบนกลับรอด!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว

**คลี่ปมปัญหา-ข้อพิรุธ "คดีตบทรัพย์" พี่ศรีเอวัง-ตั้งข้อหา “เจ๋ง”และ “การ์ตูน” ไม่เคลียร์ อธิบดีกับเมียร่วมให้สินบนกลับรอด!?

กรณี "พี่ศรี" ศรีสุวรรณ จรรยา นักร้องดัง กับพวก "เจ๋ง ดอกจิก" ยศวริศ ชูกล่อม ถูกกล่าวหาร่วมกันข่มขู่ ตบทรัพย์ อธิบดีกรมการข้าว

มาถึงวันนี้มหาชนต่างมองว่า ในรายของ “พี่ศรี” นั้น จบเห่ เอวังไปแล้ว แต่รายของ "เจ๋ง" นั้นยังมีเครื่องหมายคำถาม?

เพราะ สถานะของ “เจ๋ง” ต่างจาก “พี่ศรี” ด้วยความเป็น "เจ้าพนักงานของรัฐ"

แม้สถานะนี้ของเจ๋ง จะเป็นสารตั้งต้นให้ตำรวจจับเป็นจุดเริ่มดำเนินคดีกับผู้ร่วมขบวนการ “แก๊งตบทรัพย์” แต่หากพลิกข้อกฎหมายกันอีกด้านก็อาจจะเป็น “คุณ” ต่อเจ๋ง

ฟังว่า ในวงการนักกฎหมายชั่วโมงนี้กำลังยก “คดีพี่ศรี” มาถกเถียงกันให้วุ่นถึง “ข้อพิรุธ” ซึ่งก็มาพร้อมกับคำถามว่า กระบวนการยุติธรรมที่ตำรวจทำนั้น “ยุติธรรม” จริงหรือ ?

ตั้งแต่ การตั้งข้อกล่าวหา เจ้าพนักงานของรัฐ , การไม่ดำเนินคดีอธิบดีกรมข้าว และภรรยา , การจับกุม สถานที่จับกุม และการเข้ามายุ่งเกี่ยวของ ป.ป.ช.และ ปปท. , การพยายามเบี่ยงเบนประเด็นการกระทำผิดของ อธิบดีกรมการข้าว หรือไม่ ?

ถ้าไม่นับเหตุบังเอิญ “จังหวะนรก” เพลิงมาไหม้กระทรวงฯ เพราะ “ล้างแอร์” ในห้วงเวลาแบบนี้ โดยที่กระทรวงเกษตรฯ มีเรื่องเหม็นฉาวโฉ่ของ คดีหมูเถื่อน ตีนไก่เถือน เครื่องบินฝนหลวง อยู่ด้วย นี่เป็นปมปัญหาที่ต้องขบคิดกัน

มาว่ากันถึงสิ่งที่กูรูกฎหมายเขาถกเถียงกัน

ว่าด้วย สถานะของ “เจ๋ง” และ เลขาฯ “การ์ตูน” พิมณัฏฐา จิระพุทธิภาคย์

ศรีสุวรรณ จรรยา
การตั้งข้อกล่าวหาต่อศรีสุวรรณกับพวก คือ เจ๋ง และ การ์ตูน ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการดำเนินการตามการให้การของ อธิบดีกรมการข้าวและภรรยา โดยระบุ เจ๋ง ว่าเป็น "เจ้าพนักงานของรัฐ" เพราะได้รับการแต่งตั้งจาก “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เป็นคณะทำงานเขตตรวจราชการที่ 11

พบว่า มีข้อสังเกตว่า องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 149 ของประมวลกฎหมายอาญาไม่สมบูรณ์ จึงอาจไม่มีความผิดตามมาตรา 149

โดยมาตรา 149 นั้นบัญญัติเอาไว้ว่า..

“มาตรา 149 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาท ถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต”

จากองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่ “เจ๋ง” จะมีความผิดตาม มาตรา 149 ได้ และจะทำให้ “ศรีสุวรรณ กับ การ์ตูน” ถูกตั้งข้อหาหนักขึ้นว่าร่วมกันกระทำความผิดตาม มาตรา 149 กับ เจ๋ง ได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบ 2 ประการ กล่าวคือ เจ๋ง ยศวริศ ต้องมีสถานะตามกฎหมาย เป็นเจ้าพนักงาน และ เจ๋ง ยศวริศ มีตำแหน่งตามที่ได้รับแต่งตั้งที่นำไปใช้เรียกรับประโยชน์ เพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งนั้น

ประเด็นที่ต้องถามต่อก็คือ "เจ๋ง ดอกจิก" และ "การ์ตูน" มีสถานะการเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ ? และ ทั้งคู่ใช้ตำแหน่งของการเป็นเจ้าพนักงาน ในการกระทำความผิดหรือไม่ ?

พูดง่ายๆ ว่า หากว่า "เจ๋ง” และ “การ์ตูน" จะมีสถานะเป็นเจ้าพนักงานตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุ แต่หากไม่ได้มีอำนาจ และหน้าที่ในการกล่าวหา หรือร้องเรียน การดำเนินคดีหรือไม่ดำเนินคดีผู้ใด ก็จะไม่มีความผิด

ยศวริศ ชูกล่อม
ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาตามตำแหน่งของ “เจ๋ง”ตามที่ตำรวจกล่าวอ้าง คือ คณะทำงานเขตตรวจราชการที่ 11 ซึ่งเอาจริงๆ ครอบคลุมเฉพาะ กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน นครพนม มุกดาหาร และสกลนคร เท่านั้น โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับพื้นที่ใน กทม. หรือจังหวัดอื่น ๆ

การข่มขู่หรือตบทรัพย์ของ “เจ๋ง” โดยใช้อำนาจหน้าที่นอกพื้นที่กับอธิบดีกรมการข้าวจะได้อย่างไร ตำรวจต้องอธิบายให้ได้ มิเช่นนั้น ต้องนับเป็นเป็นเรื่องที่ “ผิดวิสัยปกติ” ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานสอบสวนหรือไม่ ?

ประเด็นพิรุธว่าด้วย การจับกุม สถานที่จับกุม กรณีนี้จุดเริ่มมีด้วยกัน 3 ราย อย่างที่รู้กัน คือ “พี่ศรี-เจ๋ง และการ์ตูน”

ทั้ง 3 รายนี้ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งที่เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการจับกุมได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ไปจับกุม “ศรีสุวรรณ” ที่บ้านพัก ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่ตำรวจประสงค์จะจับกุม “เจ๋ง และ การ์ตูน” ด้วยความสุจริตใจแล้ว ก็สามารถเข้าจับกุมบุคคลทั้งสองตอนเช้า ที่บ้านพักได้เช่นเดียวกับกรณีศรีสุวรรณ แต่กลับไม่ดำเนินการ ก่อนที่จะมาจับกุมที่ทำเนียบรัฐบาล

คำถามคือ เพื่ออะไร?!

ว่ากันว่า นี่เป็นอีกหนึ่งจุดที่มีพิรุธ และ น่าสงสัยอย่างยิ่ง เพราะทำเนียบรัฐบาลเป็นที่ทำงานของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดฝ่ายบริหาร ทั้งยังถูกใช้เป็นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงอาจกล่าวได้ว่าผิดวิสัยการจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างยิ่ง !

ว่าด้วย การเข้ามายุ่งเกี่ยวกับคดีของป.ป.ช. และป.ป.ท.

เป็นที่ทราบกันดีว่า อำนาจหน้าที่การดำเนินคดีในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของ ป.ป.ช. กำหนดไว้ที่เจ้าพนักงานของรัฐที่มีตำแหน่งตั้งแต่ระดับ 9 ขึ้นไป และอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ท. ถูกกำหนดให้ดำเนินการกับเจ้าพนักงานของรัฐตั้งแต่ระดับ 8 ลงมา

พิมณัฏฐา จิระพุทธิภาคย์
ด้วยเหตุนี้ หาก "เจ๋ง" ยศวริศ กับ "การ์ตูน" พิมณัฏฐา จะมีสถานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ แต่สถานะของ "เจ๋ง และการ์ตูน" ก็เป็นเพียง“คณะทำงาน” มิใช่แม้กระทั่ง “คณะกรรมการ” ย่อมไม่อาจเทียบชั้นว่า เจ๋งมีระดับราชการเทียบเท่าข้าราชการระดับ 9 เจ๋ง จึงไม่อยู่ในอำนาจดำเนินการของป.ป.ช. แต่เหตุใดป.ป.ช. จึงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกรณีนี้ได้ ?

นอกจากนี้ คดีนี้ความผิดตามข้อกล่าวหาเป็นเพียงการเรียกรับสินบนวงเงิน 1.5 ล้านบาท แต่เหตุใด เลขาธิการ ป.ป.ช.จึงต้องเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่ชั้นวางแผน และการจับกุม รวมทั้งร่วมแถลงข่าวการจับกุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งแม้แต่คดีที่ใหญ่กว่าคดีนี้ ก็ไม่เคยปรากฏว่า เลขาธิการ ป.ป.ช. เข้ามายุ่งเกี่ยว และร่วมแถลงข่าวเช่นคดีนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “เจ๋ง” มีสถานะเทียบเท่าข้าราชการระดับ 9 ที่อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.หรือไม่ ?

ต่อมา ว่าด้วย การไม่ดำเนินคดีอธิบดีกรมการข้าว และภรรยา

จากข้อเท็จจริงของคดีที่เผยแพร่ออกมา “ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์” อธิบดีกรมการข้าว และภรรยา “ธัญญรัตน์ ไชย์ศิริคุณากร” ออกมายอมรับ พร้อมกับให้การว่า ได้นำเงินให้ “ศรีสุวรรณ” ผ่านการติดต่อของ “เจ๋ง ยศวริศ” เพื่อไม่ต้องการให้ศรีสุวรรณ ร้องเรียนการกระทำทุจริตของอธิบดีกรมการข้าว ซึ่งเท่ากับยอมรับว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้ให้เงินศรีสุวรรณ ผ่าน เจ๋ง เพื่อต้องการมิให้ศรีสุวรรณ ร้องเรียนตนเอง และเป็นการกระทำที่สำเร็จผลแล้ว ตั้งแต่ก่อนเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์
ดังนั้น หากจะถือว่า “เจ๋ง” เป็นเจ้าพนักงานและมีตำแหน่งหน้าที่ให้คุณให้โทษได้ ก็ต้องถือว่า อธิบดีกรมการข้าว และภรรยา ร่วมกันให้สินบนเจ้าพนักงาน อันเป็นความผิดสำเร็จตาม มาตรา 144 ตามประมวลกฎหมายอาญาแล้วด้วยเช่นกัน

ทว่ากลับไม่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีกับ อธิบดีกรมการข้าวและภรรยา ตามมาตรา 144 แต่อย่างใด เพียงแต่ยกข้ออ้างว่า "เป็นการล่อซื้อ" เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีเท่านั้น

ทั้งนี้ มาตรา 144 ตามประมวลกฎหมายอาญานั้นบัญญัติเอาไว้ว่า...

“ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่ง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

นี่เป็น ปุจฉา ที่ต้องวิสัชชนา ในประเด็นต่อเนื่องที่ว่าด้วย ความพยายามเบี่ยงเบน ประเด็นการกระทำผิดของอธิบดีกรมการข้าว หรือไม่ ?

ต้องไม่ลืมว่า คดีนี้ “ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์” อธิบดีกรมการข้าวอ้างว่า ถูกข่มขู่ว่าจะร้องเรียนให้มีการสอบสวนการกระทำทุจริต ซึ่งอธิบดีกรมการข้าว มีสถานะเป็นข้าราชการระดับ 10 อยู่ในอำนาจป.ป.ช. อย่างชัดเจน

ธัญญรัตน์ ไชย์ศิริคุณากร
ดังนั้น การเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องของป.ป.ช. จึงน่าจะเข้ามาดำเนินการในส่วนของ อธิบดีกรมการข้าว แต่เลขาธิการ ป.ป.ช.กลับไม่กล่าวถึงประเด็นการกระทำของอธิบดีกรมการข้าว ที่ถูกร้องเรียนเลย

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และป.ป.ท. ก็หลีกเลี่ยงในการพูดถึงประเด็นกล่าวหาเรื่องการกระทำทุจริตของ อธิบดีกรมการข้าว อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเรียกรับทรัพย์สินจาก ศรีสุวรรณ และพวก

ทั้งนี้ แม้ว่าอธิบดีกรมการข้าวจะเป็นผู้ถูกเรียกผลประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าอธิบดีฯ จะพ้นจากความผิด โดยการอ้างเหตุที่ว่าตัวเอง "ถูกเรียกสินบน เพราะฉะนั้นตัวเองจึงเป็นผู้บริสุทธิ์"

เพราะฉะนั้น ด้วยเหตุพิรุธ และปมปริศนาเหล่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ, ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. จะต้องเดินหน้าทำความจริงให้ปรากฏ และพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้สังคมคลายสิ้นข้อสงสัย และเรียกศรัทธาต่อกระบวนการ "ยุติธรรม"

นี่เป็นประเด็นใหญ่ที่ต้อง“ปุจฉา-วิสัสชนา” กันจริงๆ.


กำลังโหลดความคิดเห็น