xs
xsm
sm
md
lg

พปชร.ลั่นจุดยืนไม่นิรโทษเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง-คนทำผิด ม.112 ถ้าเกิดต้องเห็นพ้องไม่เพิ่มขัดแย้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อรรถกร” เผยกลางสภา พปชร.แสดงจุดยืนชัดเจน ไม่นิรโทษกรรมให้เฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และคนที่ทำผิด ม.112 มอง ถ้าจะเกิดขึ้นทุกฝ่ายต้องเห็นพ้อง ไม่เพิ่มความขัดแย้งในสังคมอีก


วันนี้ (1 ก.พ.) เมื่อเวลา 13.40 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่การประชุม เพื่อพิจารณาญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อภิปรายแสดงความเห็นว่า การนิรโทษกรรม ก็คือ การยกโทษให้คนที่เคยทำผิด เคยถูกกล่าวหาว่าผิด ซึ่งการนิรโทษกรรมเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2475 ซึ่งก็คือเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา แต่เท่าที่ทราบมานี้ ประเทศไทยของเราก็มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเนื่องในวันที่มีความสำคัญของประเทศก็มีการลดโทษให้กับผู้ที่อาจจะติดคุกอยู่ หรือไม่ก็จะเป็นการยกโทษแก่ผู้ที่ก่อความไม่สงบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการปกครองของประเทศ

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ส่วนการนิรโทษกรรมสำหรับประเทศไทยในห้วงเวลานี้ เราเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะมิติทางการเมือง เพราะหลังจากการรัฐประหารครั้งสุดท้ายในปี 2562 ประเทศไทยเราก็มีสภาพลเรือน ส.ส.ทั้ง 500 มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน ผ่านมา 4 ปี 2566 ก็การเลือกตั้งสภาชุดนี้ ก็เป็นสภาที่ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนเหมือนกัน ขณะนี้วิกฤตทางการเมืองแทบจะไม่มี การที่จะบอกว่าการนิรโทษกรรมนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งในเวลานี้ ตนก็ไม่แน่ใจในคำตอบเหมือนกัน แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ วันนี้ สภาเรากำลังเริ่มเดินไปเพื่อที่จะนำไปสู่การเปิดเวทีให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้ผู้ที่มีความสนใจในเรื่องนิรโทษกรรมมาถกกันถึงผลกระทบต่างๆ ถ้ามีการนิรโทษกรรมแล้วใครจะได้ใครจะเสีย ประเทศจะได้อะไร แล้วจะเกิดผลอะไรจากการนิรโทษกรรม

“การนิรโทษกรรมเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะเคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมาก่อนก็ตาม แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ในสถานการณ์ที่พี่น้องประชาชนคนไทยและประชาชนทั่วโลกจับจ้องอยู่ ผมไม่เชื่อว่าจะมีรัฐบาลไหนบ้าจี้ในการนิรโทษกรรมให้บุคคลใดบุคคลเดียว และถ้ามีมีการนิรโทษกรรมให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง จุดยืนของตัวผมเองและของพรรคพลังประชารัฐ เราไม่เอาชัดเจน” นายอรรถกร กล่าว

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า การนิรโทษกรรมในรูปแบบสอง ถือว่าน่าคิด ก็คือการนิรโทษกรรมที่จะยกเว้นความผิดให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเฉพาะน้องๆ เยาวชน เรื่องนี้น่าจะนำมาพิจารณา ทุกการชุมนุมมีการทำผิดกฎหมายอยู่แล้ว และทุกการชุมนุมจะมีคนอยู่เบื้องหลัง โดยจะเป็นผู้วางแผน จะเป็นนายทุนหรือแม้กระทั่งเป็นผู้นำลัทธิที่ไม่ต้องไปเสี่ยง ไม่ต้องไปปะทะกับฝั่งตรงข้าม ไม่ต้องไปปะทะกับตำรวจไม่ต้องไปเสี่ยงลูกปืน แต่บุคคลที่มีอุดมการณ์บางครั้งก็ถูกผลักไปข้างหน้า ตนเชื่อว่า เยาวชนไทยหลายคนทำไปด้วยอุดมการณ์ แต่บางครั้งอุดมการณ์ไม่ใช่ทางออกของปัญหาในทุกๆเรื่อง วันนี้ ตนเชื่อว่า คงจะเป็นนิมิตหมายที่ดีที่สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้จะเปิดโอกาสให้พวกเราได้มาหาทางออกให้กับนักชุมนุมที่เขาไม่ได้มีความผิดอะไร หรือมีความผิดน้อย

“สโลแกนของพรรคพลังประชารัฐ นำโดยหัวหน้า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต้องการที่จะก้าวข้ามความขัดแย้ง เพื่อหาทางออกให้ประเทศในทุกมิติ แต่อย่างไรก็ดีมันมีลิมิตหรือระดับของการก้าวข้ามความขัดแย้งคือ เราไม่สามารถยกโทษให้กับคนที่ทำผิดรุนแรงได้จริงๆ ผมขอสรุปว่า มี 4 แนวทางที่พรรคพลังประชารัฐไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม คือ

1. การนิรโทษกรรมให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เราไม่เอา ถ้ามีคนได้ แล้วคนที่สูญเสีย จะไปเรียกร้องที่ไหน
2. บุคคลใดที่ทำผิดกฎหมายร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ชีวิต หรือระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขประชารัฐ
3. การนิรโทษกรรม ถ้าจะเกิดขึ้นต้องเป็นความเห็นชอบของคนทุกฝ่าย ทุกสี ทุกกลุ่ม หรือแม้กระทั่งทุกแฟนคลับของพรรคการเมือง เพราะถ้ามีการนิรโทษกรรมแล้วทำให้เกิดเป็นการเพิ่มความขัดแย้งเข้าไปในสังคมเราไม่ต้องมีก็ได้
4. การนิรโทษกรรมให้บุคคลที่ฝ่าฝืนและทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112” นายอรรถกร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น