‘ชัยธวัช’ ถามหาความชัดเจน หลังศาล รธน.วินิจฉัยสั่งหยุดแก้ไข ม.112 อ้างคำสั่งคลุมเครืออาจกระทบการแก้ไขกฎหมายในอนาคต ยันเจตนาเสนอแก้เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง ชี้อดีตเคยแก้ กม.ก็ไร้ปัญหา
เมื่อเวลา 16.45 น. วันที่ 31 มกราคม ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ก.ก. และพรรค ก.ก. หาเสียงด้วยนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง และสั่งยุติการกระทำ โดยหลังจากนี้ อาจมีคนนำเรื่องไปร้องให้ยุบพรรค ก.ก. ทางพรรคได้เตรียมการไว้อย่างไร ว่า ขณะนี้พรรคคงต้องรอคำวินิจฉัยโดยละเอียดอีกครั้ง แต่แน่นอนว่าไม่สามารถประมาทได้ในทางกฎหมาย
เมื่อถามว่า กังวลว่าพรรคจะถูกยุบซ้ำรอยกับพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ยังไม่ถึงตรงนั้น แต่อย่างที่เรียนว่า ขั้นตอนต่อไปเราคงต้องรอเอกสารคำวินิจฉัยที่สมบูรณ์ เพื่อเตรียมรับมือในทางกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
เมื่อถามว่า กรณีที่มีการลงชื่อแก้ไข ม.112 จาก ส.ส.พรรค ทั้ง 44 คน ยอมรับว่ามีจริงใช่หรือไม่
นายชัยธวัชกล่าวว่า นี่เป็นปัญหาที่เรากังวลต่อคำวินิจฉัย ว่าทำให้เกิดความไม่ชัดเจนแน่นอนในหลักเกณฑ์ ทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวมถึงเจตนา ยกตัวอย่าง เช่นการบอกว่ามี ส.ส. ของพรรค ก.ก. ไปประกันตัวให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาคดี 112 ถือว่าเป็นองค์ประกอบ เพื่อบอกว่าเรามีเจตนาล้มล้างการปกครอง ดังนั้นก็จะมีปัญหา เท่ากับว่าตามหลักเกณฑ์ ตามกฎหมายซึ่งรับรองรัฐธรรมนูญที่บอกว่า หลักต้องสันนิษฐานไว้ก่อน ไม่ว่าจะถูกกล่าวหาในข้อหาอะไร บุคคลใดที่ต้องถูกกล่าวหาไว้ก่อน ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อย่างนี้ทำให้ขัดกัน และการประกันตัวผู้ต้องหา หรือผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่ว่าจะข้อหาใด เป็นการใช้สิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมของบุคคลทุกคน ไม่มีการยกเว้นว่า ถูกแจ้งด้วยข้อหานี้ห้ามประกันตัว หรือใครเข้ามาเกี่ยวข้องถือว่ามีความผิดไปด้วย คำถามคือ ผู้พิพากษาที่วินิจฉัยให้ผู้ที่ถูกกล่าวหา ในการกระทำผิดมาตรา 112 ถือว่า เป็นผู้เข้าร่วมกระบวนการล้มล้างการปกครองไปด้วยหรือไม่ นี่คือการยกตัวอย่าง เราจึงมีความกังวลแต่อาจส่งผลกระทบต่อหลักเกณฑ์ในการตีความความชัดเจนแน่นอนในการใช้กฎหมาย และเราไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้ นำมาร้อยกันในการตีความโดยเจตนา แล้วแต่ใครจะตีความได้เลย ก็อาจจะเป็นปัญหาได้ในอนาคต ซึ่งขอบเขตหรือหลักเกณฑ์แน่นอน ในการระบุว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อะไรคือการล้มล้างไม่ล้มล้าง ซึ่งนี่จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต
เมื่อถามว่า การเสนอแก้ไข ม.112 ในนโนบายต่างๆ ที่ไม่สามารถทำได้แล้ว นายชัยธวัชกล่าวว่า ตอนนี้ก็มีปัญหาในคำสั่งของตุลาการมี 2 เรื่อง 1. สั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูดการเขียนการพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือเรื่องนี้ หมายความว่าหลังจากนี้พรรคก้าวไกลก็ต้องห้ามพูดเรื่อง 112 อย่างสิ้นเชิงหรือไม่ หรืออย่างไร พูดได้อย่างเดียวว่าหากสนับสนุนให้มีการเพิ่มโทษมาตรา 112 เท่านั้นหรือไม่ หรืออย่างไร และยังไม่ต้องนับว่าต่อไปสื่อมวลชนนักวิชาการ หรือประชาชนทั่วไปจะแสดงความคิดเห็นต่อมาตรา 112 ไม่ได้เลยใช่หรือไม่ หรือต้องแสดงแบบไหน ถือว่าผิดหรือไม่ แต่หากมีการเสนอความคิดเห็น หรือแม้แต่มีการเสนอความคิดเห็นว่า มาตรา 112 มีปัญหาแบบนี้ จะปรับปรุง ก็อาจจะถูกตีความว่ามีเจตนาที่นำไปสู่การล้มล้าง เจตนาแท้จริงเพื่อการซ่อนเร้นหรือยกเลิกหรือไม่ โดยรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่เคยเสนอ ให้มีการแก้ไขปรับปรุงมาตรา 112 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ ส.ส. พรรค ก.ก. นำมาใช้ในการเสนอแก้ไขในครั้งที่ผ่านมา ซึ่งหากอิงตามข้อวินิจฉัยนี้ ก็จะถือว่า เป็นข้อเสนอที่ล้มล้างการปกครองด้วย ที่มีการเสนอให้ลดโทษ และมีการเสนอให้สำนักพระราชวัง เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ แทนที่จะเป็นใครก็ได้ นำเรื่องนี้ไปฟ้องร้องดำเนินคดีกัน ซึ่งก็เป็นปัญหาของความชัดเจน
นายชัยธวัชกล่าวอีกว่า 2. ไม่ให้ศาลสั่งไม่ให้มีการแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง และชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) พิจารณาว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลอาญา เรื่องนี้ก็ไม่ทราบว่าหมายความว่าอย่างไร ซึ่งต้องบอกว่า ต้องดูคำวินิจฉัยโดยละเอียด
“นี่ยังไม่ได้นับว่าต่อไปนี้ หมายความว่า ถ้ามีการถ้ามีการเสนอกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญสามารถที่จะมาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องให้ผ่านวาระที่สามก่อนใช่หรือไม่ ตั้งแต่วันแรก วันนำเสนอ ระหว่างเสนอ ระหว่างกรรมาธิการพิจารณา ระหว่างวาระที่สอง ระหว่างยังไม่เสร็จวาระที่สาม ได้หมด ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ววันนี้ และอย่างที่เรียนว่า ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อปัญหาในอนาคตได้ จึงเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณากันต่อไป” นายชัยธวัชกล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่ศาลระบุ รายชื่อ ส.ส. ของพรรคทั้ง 44 คนนั้น พรรคได้มีการประเมินและเตรียมไว้หรือไม่ ว่าอาจจะถูกลงโทษร้ายแรง และตัดสิทธิ์ทางการเมือง นายชัยธวัชกล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น แน่นอนว่าการเมืองใดๆ หลังจากนี้ ที่เกินสมควร ยืนยันว่า จะทำให้ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ กลายเป็นปมปัญหาความขัดแย้งของการเมืองไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งพรรค ก.ก. มีเจตนาที่จะยุติ และลดการนำประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นความขัดแย้งในสังคมไทย เพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตย
นายชัยธวัชกล่าวต่อว่า ข้อเสนอของ ส.ส. พรรค ก.ก. ก็เสนอด้วยเจตนาเช่นนี้ เจตนาที่ไม่ทำให้มาตรา 112 กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำร้ายซึ่งกันและกัน ไม่เปิดช่องให้ใครผูกขาดความจงรักภักดีไว้กับตัวเอง และอาศัยความจงรักภักดีนั้น เสาะหาผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างปฎิเสธไม่ได้ ว่าเป็นส่วนสำคัญ เรายืนยันว่า เราไม่ได้มีเจตนาตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ส่วนความคิดเห็นในกรณีที่พรรคการเมืองอื่น ก็มีการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ด้วยเช่นกันนั้น นายชัยธวัชกล่าวว่า การวินิจฉัยว่านโยบายแก้ไขมาตรา 112 เป็นการลดสถานะของพระมหากษัตริย์เข้ามาอยู่ในความขัดแย้งทางการเมือง ให้มาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง คำถามคือพรรคการเมืองที่รณรงค์หาเสียง ว่าตัวเองเป็นผู้จงรักภักดี หรือโจมตีพรรคอื่น ว่าไม่เป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ หรือมีการขึ้นรูปพระราชวงศ์ในเวทีหาเสียง ถือว่าเป็นการลดทอน และเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ทำให้พระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เป็นกลางทางการเมืองหรือไม่
เมื่อถามว่า คำวินิจฉัยในวันนี้ จะส่งผลกระทบต่อการเสนอกฎหมายฉบับอื่นด้วยหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวยอมรับว่า สิ่งนี้เป็นความน่ากังวล เนื่องจากการตีความที่ดูเหมือนไม่มีขอบเขตในหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอน อาจจะถูกตีความ ว่าแม้กระทั่งกรณีนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ถูกดำเนินคดี หรือผู้ต้องขังคดี มาตรา 112 มีนัยซ่อนเร้นล้มล้างการปกครองก็ได้ ทั้งที่เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และไม่ได้กระทบต่อการปกครองหรือล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด
นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า ตามบทบัญญัติกฎหมาย มีการละเว้นในส่วนความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่สมัย ร.5 จนถึง พ.ศ. 2499 มีบทยกเว้นความผิดในบทนี้ ซึ่งไม่ได้มีปัญหาใด แต่ปัจจุบันถูกวินิจฉัย ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง อนาคตก็ไม่รู้จะมีคำวินิจฉัยแบบไหนอีก เป็นตัวอย่างของปัญหาที่ทำให้ความเข้าใจในการให้ความหมายร่วมกันนั้น ไม่มีความชัดเจนแน่นอน และอาจทำให้เกิดปัญหา
ส่วนจะมีโอกาสถอย มาตรา 112 ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกลหรือไม่นั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายส่งไปแล้ว เป็นเรื่องของสภา คิดว่าสุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ในสภาจะเป็นข้อยุติที่พวกเรายอมรับร่วมกันได้
เมื่อถามถึงการเตรียมการในกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะเดินทางไปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นยุบพรรคนั้น นายชัยธวัช และนายพิธา ประสานเสียงพร้อมกันว่า เดี๋ยวดูคำร้อง
นายพิธากล่าวย้ำยืนยันเจตนาว่า มีความบริสุทธิ์ใจไม่มีวาระซ่อนเร้นแต่อย่างใด และไม่มีความตั้งใจที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากความมั่นคงแห่งชาติในลักษณะแบบนั้น
ส่วนความกังวล 2-3 เรื่องนั้น คือความกังวลในนิยามของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ความกังวลในเรื่องขอบเขต ระหว่างนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ และความกังวลเรื่องเกี่ยวกับการวินิจฉัยด้วยอะไรที่ไม่ได้เป็นข้อเท็จจริงเยอะ ที่อาจจะมีเรื่องเจตนา การจินตนาการต่างๆ นาๆ ถ้าลงรายละเอียดไป ก็จะเป็นเรื่องสำคัญๆ ทางนิติรัฐ นิติธรรม เช่น การสันนิษฐานเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน สิทธิในการเข้าถึงการประกันตัว สิทธิรวมตัว เพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในสังคม ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย เรื่องแบบนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของตนเองคนเดียว ไม่ใช่เรื่องชะตากรรมของพรรคก้าวไกลอย่างเดียว เป็นเรื่องอนาคตของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย เป็นสิ่งที่รู้สึกว่าเสียดาย เรามีโอกาสที่จะออกจากความขัดแย้ง ที่อาจมีคนนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาอยู่ในความขัดแย้ง แล้วใช้รัฐสภานี้ที่ไม่มีใครสามารถผูกขาดความคิดได้ ว่าควรจะเป็นลักษณะไหน แล้วหานิยามร่วมกัน ตอนนี้ก็เป็นนิยามที่ออกมาจากคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น เป็นสิ่งที่จะต้องดูรายละเอียด แล้วกลับมาหาด้วยกันอีกที เพื่อเดินหน้ากัน