xs
xsm
sm
md
lg

“เดียร์” สะอื้น ชงตั้ง กมธ.นิรโทษ ไม่ล้างผิดที่เกิดแก่ชีวิต “พิธา” ชี้ ไม่ผูกขาดรัฐประหาร รวมเหยื่อ รบ.สืบทอดอำนาจด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ลูก เสธ.แดง” สะอื้นไห้ ชงตั้ง กมธ.นิรโทษ ย้ำ ไม่ล้างผิดที่เกิดแก่ชีวิตโดยเด็ดขาด “พิธา” ชี้ นิรโทษไม่ควรผูกขาดรัฐประหาร แต่ควรรวมถึงเหยื่อจากนโยบายจาก รบ.สืบทอดอำนาจด้วย ย้ำ ต้องเปิดรับฟังความเห็น ปชช. เชื่อ 3 เสาหลักผนึกกำลังสร้างมานฉันท์ ทำไทยก้าวเดินต่อ


วันนี้ (1 ก.พ.) เมื่อเวลา 12.45 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทน ราษฎร ทำหน้าที่การประชุม เพื่อพิจารณาญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมี น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอญัตติว่าการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯดังกล่าว เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์และแนวทางที่เป็นสาระสำคัญการนิรโทษกรรมให้ได้ข้อยุติ ก่อนเสนอเป็นร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร แม้ในอดีตจะเคยศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองสมานฉันท์มาแล้ว โดยคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อสร้างความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แต่บริบทและมูลเหตุความขัดแย้งมีความแตกต่างจากในปัจจุบัน จึงต้องดำเนินการให้สอดคล้องสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ให้มีคนไทยถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนทางกฎหมาย กุญแจที่ปลดโซ่ตรวน คือ การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นจุดเริ่มต้นว่า ทุกคนเห็นต่างขัดแย้งกันได้ภายในกรอบกติกา แม้การเสนอตั้ง กมธ.วิสามัญฯ อาจถูกตั้งคำถามเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดแก่ผู้กระทำผิด เป็นการยื้อเวลาของรัฐบาลหรือไม่ และอาจกังวลจะยัดไส้นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐทำผิดกฎหมายต่อผู้ชุมนุม ขอยืนยัน การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ใช่การสร้างบรรทัดฐานที่ผิด แต่เป็นการปลดโซ่ตรวนความขัดแย้ง ไม่ใช่ยื้อเวลา เมื่อมีความเห็นต่างจึงต้องตั้งกมธ.เชิญชวนทุกกลุ่มมาหาทางออกอย่างรอบคอบ ไม่ให้เกิดชนวนขัดแย้งครั้งใหม่

“ในฐานะที่เคยเป็นผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำที่รุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ ขอยืนยันในหลักการจะไม่ให้มีการนิรโทษกรรมต่อความผิดที่เกิดแก่ชีวิตโดยเด็ดขาด” น.ส.ขัตติยา กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายแสดงความเห็นว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม หากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมา เรามีการนิรโทษกรรมมาแล้ว 22 ครั้ง และหากมีเป้าหมายชัดเจนว่าเพื่อลดความขัดแย้งสังคม เพิ่มเสถียรภาพให้การเมือง ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้า เพื่อคืนพ่อให้ลูกสาว หรือเพื่อคืนคนที่อยู่ต่างประเทศที่มีความเห็นที่แตกต่างกับรัฐได้กลับมาสู่ภาตุภูมิ ตนคิดว่าการนิรโทษกรรม ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวหรือมีภาพลบตลอดเวลา

นายพิธา กล่าวว่า นอกจากนี้ โอกาสในการรับนิรโทษกรรมไม่ควรผูกขาดกับรัฐประหาร คนที่คิดล้มล้างการปกครอง หรือผูกขาดกับคนที่ต้องการบ่อนเซาะ ทำลายระบบประชาธิปไตยในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว และไม่ใช่แค่การให้พ้นผิดทางกฎหมาย โดยเราต้องก้าวผ่านเรื่องการพ้นผิดทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว แล้วคิดเรื่องนี้ให้เป็นโอกาสในการสร้างความยุติธรรมในเชิงสมานฉันท์ และควรป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ด้วยการทำให้โปร่งใสในการเสาะหาข้อเท็จจริง จนนำไปสู่การแสดงความรับผิดชอบต่อสาธธารณะ ทั้งหมดนี้จะทำให้ความสมานฉันท์ ปรองดองเกิดขึ้นได้จริง ตนคิดว่าจะเป็นโอกาสที่สังคมไทยจะได้ก้าวเกินกว่าการนิรโทษกรรม ที่จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองน้อยลงและมีประสิทธิภาพ มีสมาธิในการแก้ไขปัญหา การเมือง ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องการศึกษา

นายพิธา กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่า เราอยู่ในช่วงความขัดแย้งของการเมืองไทย อย่างน้อยนับแต่รัฐประหาร 19 ก.ย. ที่สร้างบาดแผลร้าวลึกในสังคม ตั้งแต่สงครามสีเสื้อ การเรียกร้องของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่ปี 49-67 ได้สร้างความเสียหายมากมาย โดยเฉพาะเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท ดังนั้น การนิรโทษกรรมในครั้งนี้ต้องไม่คิดเฉพาะคนที่ทำรัฐประการ แต่ควรคิดถึงเหยื่อที่โดนทำรัฐประการ รวมถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากนโบายของรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากรัฐประหาร

“ไม่ใช่จำเป็นต้องนิรโทษกรรมกับคนที่ออกมาเรียกร้องเกี่ยวกับการเมือง ทวงคืนผืนป่า คนที่จะต้องติดคุกเพราะนโยบายของรัฐในช่วงรัฐประหาร 8 หมื่นกว่าคดี ประมงติดอยู่3 พันกว่าคดี ยังไม่รวมถึงคดีอื่นๆ อีกมากมายด้วย”

นายพิธา กล่าวว่า หากเราตั้งหลักกันได้ว่าเวลาที่จะนิรโทษกรรมเมื่อไหร่ กระบวนการที่จะทำไม่ใช่แค่ยุติกฎหมายทางอาญา แต่ต้องรวมถึงการเยียวยา การออกมารับผิดชอบทางสาธารณะ ไม่ให้เกิดวัฒนธรรมผิดลอยนวล ไม่ใช่การนริโทษของคนที่สั่งฆ่า แต่รวมถึงคนที่ถูกฆ่าด้วย หากทำแบบนี้ตนคิดว่าจะเป็นกระดุมเม็ดแรกที่จะตั้งต้นให้ทั้ง 3 อธิปไตยของประเทศไทยในระบบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยในทางบริหารนายกรัฐมนตรีสามารถสั่งตำรวจได้เลยว่าให้ชลอคดีเพื่อรอกระบวนการในรัฐสภา ฝ่ายอัยการศาลต้องวินิจฉัยคดีด้วยความรอบคอบและจากฐานข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่ใช่ใช้อารมณ์ในการตัดสิน ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติ ก็สามารถนำกฎหมายเข้าสภาและอธิบายความแตกต่างไม่ว่าจะมาจากไหน รวมถึงข้อคิดเห็นของประชาชนที่เป็นสิ่งสำคัญ ไม่จำเป็นต้องตีกรอบอยู่แต่กับผู้แทนราษฎร แต่ควรอยู่กับราษฎรด้วย ฉะนั้น 3 เสาหลักสามารถสร้างบรรยากาศที่ดีและสมานฉันท์ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินต่อไปได้


กำลังโหลดความคิดเห็น