เมืองไทย 360 องศา
ในที่สุดพรรคเพื่อไทยก็เตรียมเลื่อนญัตติที่ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณา โดยย้ำว่าไม่ได้เป็นการ “เตะถ่วง” หรือยื้อการเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด โดยพวกเขาอ้างว่าเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องรอฟังความเห็นจากทุกฝ่ายให้ตกผลึกก่อน หรือมีความเห็นร่วมกันก่อน
แม้จะว่าไปมันก็ไม่ได้ผิดนัก เพียงแต่ว่า หากมองกันในความเป็นจริงแล้ว รวมไปถึงพิจารณาจากลีลาของพรรคเพื่อไทย ทั้งก่อนหน้านี้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดูเหมือนไม่ค่อยกระตือรือร้น กับการเสนอ ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเท่าใดนัก หากเทียบกับพรรคการเมืองอื่นทั้งในฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน
ขณะเดียวกัน หากพูดถึงร่างกฎหมายนิรโทษกรรม อาจเป็นของแสลง หรือเป็นของคู่กันกับพรรคเพื่อไทย เพราะที่ผ่านมาพวกเขาเคยมีบทเรียนกับร่างกฎหมาย “นิรโทษกรรมสุดซอย” มาแล้ว ซึ่งคราวนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเป้าหมายหลักคราวนั้น อย่างที่รับรู้กันก็คือเพื่อช่วยเหลือให้ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ว่ากันว่าเป็น “เจ้าของพรรค” เพื่อไทยให้พ้นผิด จนเกิดการต่อต้านอย่างขนานใหญ่ จนทุกอย่างต้องล้มคว่ำไป
ดังนั้นถึงเป็นที่จับตามองว่า เหตุผลว่าทำไมคราวนี้พรรคเพื่อไทยจึงมีท่าทีเฉยชากับการร่วมผลักดันเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าว แต่ล่าสุดก็เริ่มเคลื่อนไหว แต่ก็เป็นลักษณะ “ยื้อ” ด้วยการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาศึกษาก่อน โดยใช้กรอบเวลาภายใน 60 วัน ทำให้หลายคนมองว่าสาเหตุที่ยังลีลา ก็คงเป็นเพราะต้องการ “รอ” ให้ นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับการพักโทษเสียก่อน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ ความหมายก็คือ เพื่อให้ทุกอย่าง “ชัวร์” เสียก่อน รวมไปถึงหากมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมาจริงๆ นายทักษิณ ก็ต้องได้ประโยชน์
ขณะที่หากมองอีกด้านหนึ่งก่อนหน้านั้น ที่มีการวิเคราะห์กันว่าสาเหตุหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยมีท่าทีวางเฉยมาก่อนหน้า ก็เนื่องจาก นายทักษิณ ชินวัตร ไม่จำเป็นต้องได้รับอานิสงส์จากกฎหมายฉบับนี้แล้ว เพราะเขากำลังจะได้การพักโทษ และได้กลับบ้านอยู่แล้ว รวมไปถึงยังหวั่นเกรงว่า อาจเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองขึ้นมาโดยไม่จำเป็นก็ได้
สำหรับท่าทีล่าสุด เมื่อวันที่ 30 มกราคม นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึง การเตรียมเลื่อนญัตติของ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พระรสชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม ว่า ไม่ได้เป็นการถ่วงเวลา แต่เป็นการเดินหน้าและเชื่อว่าการพูดคุยกันในห้องประชุมเล็กจะดีกว่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีความละเอียดอ่อน การพูดคุยกันในห้องประชุมใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าสุดท้ายก็จบลงกันที่การประชุมลับ เพราะมีเรื่องของ มาตรา 112 เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล มีความเห็นตรงกัน ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา เพื่อศึกษาการเสนอกฎหมายดังกล่าว ส่วนร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลที่มีการยื่นให้ประธานรัฐสภาแล้ว แต่ไม่ทราบว่าจะได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเมื่อใด จึงเชื่อว่าการพูดคุยในห้องเล็กอาจมีความเห็นตรงกันในหลายเรื่อง
“ทุกพรรคการเมืองและทุกภาคส่วน ทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมืองต้องมาพูดคุยกัน ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ยินดีที่จะแสดงความจริงใจในการผลักดันเรื่องดังกล่าวถึงแม้จะเคยมีการศึกษามาแล้ว แต่เวลาเปลี่ยน จุดยืนของคนก็เปลี่ยน บางคนเคยเป็นเหลืองก็กลายมาเป็นแดง หรือตอนนี้ไม่มีสีแล้ว ผมมองว่าควรหาจุดร่วมเพื่อทำกฎหมายบรรเทาทุกข์ประชาชน รวมถึงเยาวชนที่อาจจะผิดพลาดไป ดังนั้นการมาคุยในห้องเล็กดีที่สุด” นายสรวงศ์ กล่าว
นายสรวงศ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่มีการยกร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ที่เป็นฉบับของพรรคฯ แต่ได้เสนอให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้นมาเพื่อที่พรรคร่วมรัฐบาลจะได้ผนึกกำลังเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดียวกันเป็นร่างเดียวเพราะในเนื้อหาเราเห็นตรงกันเกือบทุกเรื่อง ติดอยู่เพียงเรื่องละเอียดอ่อนมากเพียงเรื่องเดียว เช่น มาตรา 112 ที่หากเข้าห้องประชุมใหญ่แล้วต้องประชุมลับอย่างแน่นอน แต่ยืนยันว่า จะเร่งดำเนินการให้กฎหมายออกมาเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะกมธ.วิสามัญ จะใช้กรอบเวลาในการพิจารณาไม่เกิน 60 วัน รวมถึงจะนำร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ของภาคประชาชนมาร่วมพิจารณาด้วย
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ แกนนำของพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าพรรคเพื่อไทยจะมีการยื้อกฎหมายนิรโทษกรรม ด้วยการตั้งคณะกรรมการว่า ตนขอถามปัญหากับสังคมว่า เรื่องนี้ถ้าดำเนินการไปแล้ว เห็นเหมือนกันว่าจะเป็นส่วนใหญ่จริงๆ พรรคเพื่อไทย ก็ไม่มีเหตุผลอะไรจะไปยื้อ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เราพูดไว้ชัดเจนตั้งแต่ต้นคือปัญหาของประเทศ ปัญหาของประเทศ 10 ปีที่ผ่านมา เกิดจากวิกฤตความขัดแย้งที่ไม่ยินยอมกัน และต้องการที่จะผลักดันให้ได้ตามความต้องการของตน หากเป็นแบบนี้คงต้องใช้เวลา เพื่อที่จะทำให้ปัญหาคลี่คลายลง ถึงจุดที่พอเป็นฉันทามติของสังคมได้ การแก้ปัญหาก็จะจบ แต่ตราบใดที่ คุยกันแล้วยังมีคนต้านอย่างรุนแรง แล้วเราประเมินว่าการต้านเพียงแค่ไม่ใช่ของคนกลุ่มเล็กๆ ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาล ยังจะไม่ขยับจนกว่าจะมีข้อสรุปของสังคม
“ขอย้ำว่าไม่ใช่การยื้ออะไร แต่เป็นการพยายามจัดการปัญหาความขัดแย้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะไม่แก้ปัญหาเพื่อนำมาสู่ปัญหาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ผมพูดเสมอว่าตอนนี้ ต้องแก้ปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจ และสังคมก็ต้องทำก็ต้องทำ เราขัดแย้งมาตลอด ก็รู้อยู่แล้วว่าทำอะไร แล้วจะเกิดความขัดแย้ง ทำอะไรจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไป แต่แน่นอนการตัดสินใจ หลายอย่าง ไม่สามารถทำได้ตามความพึงพอใจ ในทันทีแต่ถ้าทุกคนเห็นพ้องต้องกัน การตัดสินใจทำอะไรไปก็จะเกิดความสงบสุข”
ดังนั้นการที่พรรคเพื่อไทยผลักดันให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม โดยใช้เวลาภายใน 60 วัน จากนั้นก็นำกลับมาเสนอสภา ซึ่งก็คาดว่าต้องเป็นสมัยประชุมหน้า ซึ่งถึงตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าลูกผีลูกคน ยัง” ยื้อ” เวลาได้อีกนาน แต่เชื่อว่าภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ เชื่อว่า นายทักษิณ ชินวัตร ก็จะได้รับการ “พักโทษ” จะได้กลับบ้าน
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากสาเหตุที่ยังเฉยชากับร่างกฎหมายฉบับนี้ อาจเป็นเพราะว่า เนื้อหาในกฎหมายไม่ได้ครอบคลุมไปถึง “คดีทุจริต” ซึ่งโทษ 8 ปี จนมาลดโทษเหลือแค่ 1 ปี นั้นเป็นคดีทุจริต งานนี้จึงไม่ได้ประโยชน์หรือเปล่า ดังนั้นหากพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว เหมือนกับว่าการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษากฎหมายนิรโทษกรรม มันก็เหมือนกับ “เล่นตามน้ำ” ไม่อยากทวนกระแส ทางหนึ่งก็ยื้อเวลาไปก่อน เพราะไหนๆ ตัวเองก็ไม่ได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้อยู่แล้ว !!