xs
xsm
sm
md
lg

“ธีรยุทธ” ร้อง กกต.ส่งศาลยุบก้าวไกล ไล่นักวิชาการกลับไปอ่านคำวินิจฉัย ไม่ปิดประตูแก้ ม.112 เล็งยื่น ป.ป.ช.ฟันจริยธรรม เชื่อซ้ำรอย “ปารีณา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีรยุทธ” ร้อง กกต.ส่งศาลยุบก้าวไกล ไม่หวั่นสร้างความขัดแย้ง เชื่อเป็นเรื่องปัจเจก ตะเพิดนักวิชาการกลับไปอ่านคำวนิจฉัยหลายๆ รอบ ศาลไม่ได้ปิดประตูตายแก้ม.112 เล็งยื่น ป.ป.ช.เอาผิดมาตรฐานจริยธรรม เชื่อซ้ำรอย “ปารีณา”



วันนี้(1ก.พ.)นายธีรยุทธ สุววรรณเกษร ในฐานะผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครองฯ เข้ายื่นคำร้องต่อกกต.ขอให้พิจารณาดำเนินการกับพรรคก้าวไกล ตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

นายธีรยุทธ กล่าวว่า จากการศึกษารายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า การกระทำของนายพิธาในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เห็นว่า นอกจากคำวินิจฉัยของศาลนี้มีผลผูกพันกกต.ด้วยแล้ว น่าจะเป็นเรื่องผูกพันที่ตนให้ต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามสิทธิที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญจึงได้ทำคำร้องพร้อมเอกสารกว่า 100 หน้านำมายื่นต่อกกต. เพื่อดำเนินการกับพรรคก้าวไกลให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและตามพ.ร.ป.ว่า ด้วยพรรคการเมือง 2562 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่าเมื่อกกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการ(1)

กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของกกต.ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลพิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2562 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง


นายธีรยุทธ ยังกล่าวด้วยว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาเห็นว่าทุกอย่างเป็นไปตามพยานหลักฐานซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำ ของนายพิธาและพรรคก้าวไกลเอง ซึ่งตอนที่ยื่นคำร้องต่อศาลตนคิดเพียงขอให้ศาลโปรดเมตตาพิจารณาสั่งการเพื่อให้หยุดการกระทำเหล่านั้น แต่เนื่องด้วยหลายปัจจัย อีกทั้งเมื่อคืนที่ผ่านมาได้นั่งอ่านคำวินิจฉัยอย่างละเอียดเห็นว่า เมื่อศาลได้โปรดพิจารณาวินิจฉัยให้แล้ว เราในฐานะผู้ร้องก็มีความผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นโดยตรงกระบวนการต่อไปก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่วินิจฉัยนั้น จึงทำหน้าที่ตามหน้าที่ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่าผู้ใดทราบเหตุก็ให้ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงได้เดินทางมายื่นต่อกกต.ในวันนี้

เมื่อถามว่า หากมีการยื่นยุบพรรคก้าวไกลจะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการวางบรรทัดฐานการเมืองการปกครองของประเทศไทย พรรคก้าวไกล หรือสมาชิกพรรค หรือผู้สนับสนุน หรือผู้นิยมชื่นชอบพรรคก้าวไกล อยู่ในฐานะที่จะต้องปฏิบัติและยึดถือบรรทัดฐานการเมืองการปกครองของไทยซึ่งแม้ว่าจะเกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตนก็เชื่อว่าหลักการนี้ก็ปรากฏอยู่ในข้อบังคับของพรรคก้าวไกลด้วยอยู่แล้ว ดังนั้นการที่จะมีผลกระทบหรือจะกระทบกระทั่งกันอย่างไรก็เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ที่คนนั้นควรจะพิจารณาระลึกถึงบ้าง


ส่วนที่มีนักวิชาการมองว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสร้างบรรทัดฐานใหม่ ว่าจะแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้อีกทั้งในและนอกสภา นายธีรยุทธ กล่าวว่า แสดงว่านักวิชาการท่านนั้นไม่ได้อ่าน หรือไม่ได้ฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด อาจฟังแบบผิวเผิน ขอให้กลับไปฟังใหม่หลายๆ รอบ เพราะบรรทัดสุดท้ายก่อนจะจบ ท่านวินิจฉัยโดยบอกว่าไม่ได้ปิดประตู แต่การจะแก้ไขต้องเป็นไปตามครรลองนิติบัญญัติโดยชอบ ซึ่งคำว่านิติบัญญัติโดยชอบ คือต้องเป็นฉันทามติเลยอย่างแรก แต่คนที่คิดจะแก้ไขมาตรา 112 นั้นศาลท่านก็วินิจฉัยชัดเจนอยู่ว่ามีเจตนาซ่อนเร้น อย่างอื่นอันมีนัยยะสำคัญ ซึ่งประชาชน โดยทั่วไปอาจจะยังไม่ทราบ ตนคิดว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญหลักนิติ อีกทั้งก่อนจะทำคำวินิจฉัยเช่นนี้ ทราบจากเนื้อหาคำวินิจฉัยว่ามีการประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องของตนโดยใช้เวลาถึง 62 ครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการพิจารณาจึงเป็นไปโดยละเอียดรอบด้านมีข้อมูลจากหลายหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม หรือศาลยุติธรรมก็ส่งเข้ามา และศาลท่านก็สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาโดยละเอียด

นายธีรยุทธ ยังกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 2 ก.พ. เวลา 10.00 น. ตนจะเดินทางไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรมของพรรคก้าวไกล และสส.พรรคก้าวไกล 44 คน ที่ร่วมเสนอชื่อแก้ไขกฎหมาย 112 รวมถึงนายพิธา ด้วย เนื่องจากเห็นว่า เป็นการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เชื่อว่า จะเหมือนกับกรณีของน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ที่ใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน.


กำลังโหลดความคิดเห็น