xs
xsm
sm
md
lg

“ปานปรีย์” ระบุ เตรียมลงพื้นที่จังหวัดตาก 8-9 ก.พ. จัดตั้งศูนย์มนุษยธรรมช่วยเหลือชาวเมียนมา เผย อาเซียน-จีน-สหรัฐฯ เห็นพ้องแนวคิดนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปานปรีย์” ระบุ เตรียมลงพื้นที่จังหวัดตาก 8-9 ก.พ. จัดตั้งศูนย์มนุษยธรรมช่วยเหลือชาวเมียนมา เผย อาเซียน -จีน-สหรัฐฯ เห็นพ้องแนวคิดนี้ พร้อมเผยเตรียมประชุมสภาความร่วมมือไทย-ซาอุฯ ครั้งแรก 5 ก.พ ครอบคลุม 5 ด้าน สานต่อความสัมพันธ์ ลุยการค้า

วันนี้ (30 ม.ค.) นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการเดินทางไปยัง สปป.ลาว เพื่อร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นกรณีพิเศษ ที่ทางสหภาพเมียนมาส่งผู้แทนระดับปลัดกระทรวงเข้าร่วมการประชุมด้วย ส่วนการแก้ไขปัญหาในเมียนมานั้น รัฐบาลไทยได้นำเสนอในที่ประชุม เรื่องการจัดตั้งพื้นที่มนุษยธรรมชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งถือว่ามีความคืบหน้า โดยได้มีการพูดคุย และเห็นพ้องจะมีการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้น กระทรวงการต่างประเทศจึงประสานสภากาชาดไทย สภากาชาดเมียนมา และพูดคุยกับประธานสภากาชาดระหว่างประเทศให้เข้ามาร่วมด้วยเพื่อการโปร่งใส โดยสภากาชาดไทย และสภากาชาดเมียนมา จะมาร่วมดำเนินการทำงานก่อน ส่วนสภากาชาดระหว่างประเทศจะตามเข้ามาทีหลัง ซึ่งยืนยันจะไม่มีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่จะเป็นการช่วยเหลือประชาชนในเมียนมาเท่านั้น

ส่วนพื้นที่จัดตั้งศูนย์มนุษยธรรม จะไม่ได้ทำตลอดแนวชายแดน เพราะมีความยาวมากกว่า 2,400 กิโลเมตร ดังนั้น จึงจะเริ่มในพื้นที่จังหวัดตากก่อน โดยตนเองจะลงพื้นที่ในวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เป็นพื้นที่ที่ไม่ใหญ่นัก ซึ่งหากประสบผลสำเร็จจะขยายพื้นที่ออกไปอีก

นอกจากนี้ การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนเมื่อวานนี้ กลุ่มประเทศอาเซียนต่างให้การสนับสนุนการริเริ่มของประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามฉันทามติ 5 ข้อ ตามที่อาเซียนได้มีมติเมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ ดังนั้น กลุ่มประเทศอาเซียนจึงไม่มีใครขัดข้อง และต่างให้การสนับสนุน ทั้งนี้ในเรื่องการแก้ปัญหาเมียนมา นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน และ เจค ซัลลิเวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ที่ได้พบกับตนเองได้แจ้งเรื่องนี้ให้ทั้งสองประเทศรับทราบ ซึ่งก็เห็นด้วยในเรื่องของการจัดตั้งพื้นที่ด้านมนุษยธรรมชายแดนไทย-เมียนมาร์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไม่มีใครปฏิเสธเรื่องนี้ ต่างสนับสนุน

ส่วนการยึดหลักไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการการเมืองภายในกลุ่มประเทศอาเซียน จะเกิดเป็นช่องโหว่ในการช่วยเหลือปัญหามนุษยธรรมหรือไม่นั้น นายปานปรีย์ กล่าวว่า การ ไม่แทรกแซงกิจการภายในของแต่ละประเทศ ถือเป็นหลักการของกลุ่มอาเซียนอีกข้อหนึ่ง โดยแนวทางนี้จะไม่มีประเทศใดเข้าไปแทรกแซงกิจการการเมือง การแก้ไข ปัญหาภายในเมียนมาจะต้องแก้โดยรัฐบาลเมียนมา

นอกจากนี้ นายปานปรีย์ เปิดเผยว่า วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 จะประชุมสภาความร่วมมือระหว่างไทย-ซาอุฯ โดยจะมีการเจรจาข้อตกลงใน 5 เสาหลัก ประกอบด้วย 1. การต่างประเทศ-การเมือง 2. เศรษฐกิจ 3. การลงทุน 4. วัฒนธรรมการท่องเที่ยว 5. การทหารและความมั่นคง ซึ่งจะเป็นการพูดคุยครบทุกเรื่อง และนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้รับทราบต่อไป การประชุมนี้ถือเป็นครั้งแรกระหว่างไทยและซาอุฯ ภายหลังจากฟื้นความสัมพันธ์

ทั้งนี้ นายปานปรีย์ เปิดเผยความคืบหน้าการช่วยเหลือตัวประกันจากเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ว่า กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจ ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อจะดำเนินการช่วยเหลือตัวประกันโดยเร็วที่สุด และจากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนเมื่อวานนี้ที่ สปป.ลาว ก็มีมติให้ปล่อยตัวประกันเร่งด่วน โดยเฉพาะตัวประกันประชาชนที่เป็นอาเซียน อย่างไรก็ตาม ได้ติดตามรายงานบางส่วน ที่เดินทางกลับไปทำงานที่อิสราเอล ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และที่สำคัญคือ การกลับไปทำงานที่อิสราเอล ชาวไทยจะต้องได้รับความปลอดภัย ขอให้ทางอิสราเอลดูแลความปลอดภัยของแรงงาน หากอิสราเอลจะให้แรงงานกลับไปทำงาน โดยจะต้องไปทำงานในพื้นที่ไม่ปลอดภัย ทั้งนี้แรงงานก็มีอิสรภาพ ที่จะเดินทางไปในประเทศที่สามก่อนที่จะเดินทางเข้าประเทศอิสราเอล แต่ก็ได้ย้ำเตือนว่าสถานการณ์ในอิสราเอลยังสงบ จึงจะต้องระมัดระวัง


กำลังโหลดความคิดเห็น