สภาเริ่มถกร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด “บิ๊กป๊อด” ตัวแทน ครม. หวังแก้ต้นตอก่อ PM 2.5 ที่แท้จริง สร้างสิ่งแวดล้อมปลอดภัย-เพิ่มคุณภาพชีวิต “ตัวแทน พปชร.” ยกวาทะ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ชี้ เป็น กม.ปรองดอง เหตุทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ไร้ผลประโยชน์การเมือง
วันนี้ (11 ม.ค.) เวลา 14.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระการพิจารณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ทั้ง 7 ร่าง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในนามคณะรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการและเหตุผล ว่า ปัจจุบันปัญหามลพิษทางอากาศกำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงต้นปีและปลายปีของทุกปี จึงต้องมีการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศ ทั้งในระดับชาติและในระดับพื้นที่ พร้อมกำหนดให้มีการพัฒนาและบูรณาการการบริหารจัดการปัญหาของทุกภาคส่วนให้เป็นระบบ กำหนดให้มีระบบการวางแผนการดำเนินงาน และกำกับดูแล เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“เพื่อลดสาเหตุการเกิดมลพิษที่แหล่งกำเนิด รวมทั้งป้องกันการปล่อยมลพิษ ฝุ่น ควัน และกลิ่น เข้าสู่สภาพแวดล้อมและชั้นบรรยากาศ พัฒนาระบบการประเมินคุณภาพอากาศ ระบบการเฝ้าระวัง ระบบ การเตือนภัย และระบบการจัดการในสถานการณ์วิกฤตจากภาวะมลพิษทางอากาศ ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อให้เกิดอากาศสะอาด เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีมีความปลอดภัยต่อสุขภาพอันเป็นปัจจัยพื้นฐาน ในการดำรงชีวิตของประชาชน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้” พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าว
ขณะที่ นางสาวคนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวถึงหลักการร่างของภาคประชาชน ว่า สิ่งที่เราต้องการได้คืออากาศสะอาด ในที่สุดการจัดการทั้งหมดเพื่อให้ได้มาซึ่งอากาศสะอาดที่มีประสิทธิภาพและสามารถเข้าถึงได้ ดังนั้น อากาศสะอาดที่จะถูกจัดการและกำกับดูแลนี้จะต้องเป็นไปเพื่อสุขภาพ ที่สำคัญคือต้องมีการบูรณาการ ไม่ใช่การแยกส่วน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เกินตัวที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งสามารถแก้ไขได้ ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างจากภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งมีการแก้ปัญหาวนไปวนมาเป็นฤดู การแก้ปัญหานี้ยังไม่รวมลึกไปถึงรากเหง้า ความเล็กจิ๋วของ PM 2.5 ถูกซุกไว้ใต้พรม เราต้องการนวัตกรรมทางกฏหมาย พร้อมเปรียบเทียบถึงสิทธิในชีวิต ในสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับประชาชนได้เสนอ 3 ระดับคือ ระดับนโยบาย ระดับการดูแล ระดับปฏิบัติการ พร้อมเสนอให้มีกองทุนอากาศสะอาด เพื่อช่วยเหลืออุดหนุนการแก้ปัญหา
ขณะที่ นายอลงกต มณีกาศ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย ตัวแทน นายอนุทิน ชาญวีรกูล ผู้เสนอร่างของพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นควัน ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตทุกชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเวลาติดต่อกันมาหลาย 10 ปีแล้ว และพบว่า แนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้น ครอบคลุมทุกพื้นที่ ขณะเดียวกัน ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ทั้งงบประมาณในการรักษาพยาบาลและความเสียหายต่อธุรกิจการท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของประเทศที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการจัดการ
นอกจากแหล่งกำเนิดในประเทศ ยังมีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศด้วย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการปฏิรูประบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะมีสิทธิ์ที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี
ด้าน นายชัยมงคล ไชยรบ ส.ส.สกลนคร พรรคพลังประชารัฐ ตัวแทน นางสาวตรีนุช เทียนทอง ผู้เสนอร่างของพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า วันนี้อากาศเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตมนุษย์และปรากฏการณ์ในประเทศไทยนั้น PM 2.5 เป็นเรื่องที่เล่าขานกันมานาน และหลายรัฐบาลพยายามแก้ไข เนื่องจากกระทบต่อคนไทยทั้งแผ่นดิน วันนี้พีเอ็ม 2.5 เกินมาตรฐานเป็นภัยคุกคามสุขภาพของพี่น้องประชาชน ซึ่งจะเกี่ยวโยงไปอีกหลายเรื่องทั้งค่ารักษาพยาบาลและโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยความเป็นห่วงพี่น้องประชาชน พรรคพลังประชารัฐจึงได้รวบรวมรายชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ. บนแนวคิดที่ว่าคนไทยควรจะได้รับอากาศบริสุทธิ์อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อต่ออายุให้ยืนยาว วันนี้มีร่างกฏหมายเข้ามา 7 ร่าง แสดงว่าทุกคนเห็นตรงกัน และกฎหมายนี้จะเป็นกฎหมายที่แสดงถึงความปรองดอง ไม่ได้เรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่ได้เลือกสีเสื้อ แต่เลือกที่จะยืนอยู่ข้างประชาชน
“นี่คือ ความเป็นห่วงของพรรคพลังประชารัฐ กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายที่ก้าวข้ามความขัดแย้ง ... กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มุ่งผลประโยชน์ทางการเมือง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเสนอกฎหมายฉบับนี้จะได้รับความร่วมมือจากพี่น้องในสภาทั้ง 500 ชีวิต เพื่อให้ประชาชนทั้งแผ่นดินได้รับอากาศบริสุทธิ์ พรรคพลังประชารัฐขอเป็นส่วนหนึ่งในการหยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้กับประชาชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องในสภาแห่งนี้ จะร่วมกันที่จะขัดเกลากฎหมายฉบับนี้ ตรงไหนไม่ถูกเอาปากกามาวง แล้วแก้ไข ตรงไหนที่ยังเป็นช่องว่างที่ยังไม่ครบถ้วนก็เติมลงไปให้มันเต็ม”