xs
xsm
sm
md
lg

“คกก.แก้มลพิษฯ” เคาะ 10 โครงการชงของบฯกลางปี 67 แก้ฝุ่น PM2.5 ทั้งระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พัชรวาท” เผย คกก.แก้มลพิษฯ เห็นชอบชบ ครม.ของบฯกลาง 67 แก้ฝุ่น PM2.5 ทั้งระบบ พร้อมตั้งงบฯแผนงานยุทธศาสตร์ฯ ปี 68 บูรณาการแก้ไขปัญหาทุกหน่วยงาน ลั่นฝุ่นพิษ–จุดความร้อนต้องลดลง พร้อมเห็นชอบ “ชัชชาติ” นั่ง ผอ.ศูนย์ฯ แก้มลพิษ กทม.

วันนี้ (22 ธ.ค.66) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตนได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการขอรับการจัดสรรงบกลางในการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง จำนวน 10 โครงการ เพื่อของบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2567

อาทิ โครงการสนับสนุนการดับไฟป่าโดยใช้อากาศยานปีกหมุนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างเป็นระบบโดยศูนย์ปฎิบัติการดับไฟป่า โดย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.), โครงการส่งเสริมและพัฒนาการสื่อสารประชาสัมพันธ์การป้องกันผลกระทบสุขภาพจากปัญหามลพิษทางอากาศ กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข, โครงการจัดหาระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือแบบครบวงจร โดย กรมควบคุมมลพิษ, โครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM2.5 โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ และโครงการปฎิบัติภารกิจการสนับสนุนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยศูนย์ปฎิบัติการบินควบคุมไฟป่ากองทัพอากาศ เป็นต้น


ขณะเดียวกันยังมีการจัดตั้งงบประมาณแผนงานยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เพื่อเป็นเครื่องมือและกลไกในการบูรณาการบริหารจัดการแก้ไข ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะต้องมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ต้องลดลงและจำนวนจุดความร้อนต้องลดลง ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามอบหมายให้สำนักงบประมาณเพิ่มเติม “แผนงานยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5” ต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศกรุงเทพมหานคร โดยมี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ เพิ่มเติม นอกเหนือจากที่จัดตั้งไว้แล้วใน 17 จังหวัดภาคเหนือ และ 5 จังหวัดในปริมณฑล เพราะพื้นที่ กทม.เป็นพื้นที่สำคัญของประเทศที่ประสบวิกฤตฝุ่น PM2.5 และได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเชื่อมโยงศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PHEOC) กับศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศฯ เพื่อให้มีการบูรณาการและสื่อสารข้อมูลที่ครอบคลุมในทุกมิติทั้งในการแก้ไขปัญหาฝุ่นและด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน.
กำลังโหลดความคิดเห็น