วันนี้ (16 ธ.ค.) นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหามลพิษทางอากาศ และค่าฝุ่น PM 2.5 ที่พุ่งสูงขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยระบุว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน ไม่ว่าจะเกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์รถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก รถยนต์ส่วนบุคคลบนท้องถนน การปล่อยของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ไซต์งานก่อสร้าง การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร การเผาในที่โล่งแจ้ง และไฟป่า และมักมีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทย ทำให้การไหลเวียนและการถ่ายเทของอากาศไม่ดี ประกับกับมีมลพิษจากการเผาไหม้ถูกปล่อยขึ้นไป ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองจำนวนมากในชั้นบรรยากาศ หรือเรียกว่า ปรากฏการณ์ฝาชีครอบ ซึ่งถือเป็นมลพิษทางอากาศที่สร้างปัญหาต่อสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง อีกทั้งในช่วงปลายปี 2566 ต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567 ประเทศไทยจะเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดความแห้งแล้งรุนแรงยาวนาน และอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดไฟป่าได้มากกว่าช่วงเวลาปกติ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาฝุ่นควัน และ PM 2.5 รุนแรงขึ้นตามไปด้วย และจะส่งผลให้ประชาชนจำนวนหลายล้านคนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝุ่นควันเสี่ยงต่อการเกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคผิวหนัง และโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากปริมาณฝุ่นที่สูงเกินค่ามาตรฐาน ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากยกเลิกการเข้าพักและการเดินทางเข้าพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ
นายร่มธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการกำหนดแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแผนการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ เช่น การจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 การสนับสนุนมาตรการทางภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการประกาศนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ที่บอกเพียงว่าจะนำเรื่องแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ แต่ในความเป็นจริงกลับยังไม่พบการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ไม่มีแผนงานที่ชัดเจน ไม่มีการรายงานผลลัพธ์ที่ได้ และไม่พบว่าความรุนแรงของปัญหาฝุ่นควันจะลดน้อยลงแต่ประการใด ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลกำลังเสี่ยงต่อการไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ต่อสหประชาชาติว่าจะผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เนื่องจากตัวชี้วัดการปล่อยมลพิษทางอากาศของฝุ่น PM 2.5 ก็เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของเป้าหมายที่ 11 ของ SDGs ที่จะต้องทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน และอาจกระทบกับเป้าหมายอื่นๆ เช่น เป้าหมายที่ 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี หากประชาชนยังคงต้องเผชิญความยากลำบากในการใช้ชีวิตท่ามกลางฝุ่นละอองเหล่านี้
นายร่มธรรม กล่าวต่ออีกว่า รัฐบาลจะต้องทำความเข้าใจต้นตอของปัญหา พร้อมเดินหน้าแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง โดยกำหนดมาตรการต่างๆ อย่างเป็นระบบ และออกกฎหมายอากาศสะอาด เพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษจากต้นตอ ปกป้องสิทธิของประชาชนที่จะมีอากาศสะอาดให้หายใจ และสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยตนขอเสนอให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน และการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ดังนี้
นโยบายการแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่เน้นการบริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่
1. ต้องเร่งดำเนินการควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง ทั้งที่เกิดจากเครื่องยนต์ของยานพาหนะประเภทต่างๆ การเผาขยะ ฝุ่นจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม และโครงการก่อส่อสร้าง โดยกำเนินการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสกัด คัดกรอง ควบคุม และตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดปริมาณการปล่อยมลพิษทางอากาศ ไปจนถึงการจัดการกับมลพิษอย่างเป็นระบบ
2. เร่งทำความเข้าใจกับประชาชนในภาคการเกษตร เพื่อลดการเผาเศษวัชพืช และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งส่วนใหญ่จะตรงกับช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ฝาชีครอบต่ำ และส่งผลให้ปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ควรมีการจัดชุดเฉพาะกิจเพื่อลาดตระเวณตามพื้นที่เสี่ยง พร้อมใช้ข้อมูลจากดาวเทียมในการติดตามและเฝ้าระวังการเผาในพื้นที่โล่งแจ้งเพื่อประสานงานเจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
3. สำหรับด้านคมนาคมขนส่ง รัฐบาลต้องส่งเสริมให้เกิดการใช้ขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยต้องปรับลดราคาค่าโดยสารลงให้สอดคล้องกับอัตราค่าครองชีพ รวมทั้งเพิ่มเส้นทาง จุดจอด และการเชื่อมต่อบริการสาธารณะอื่น ๆ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในส่วนที่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล และรถโดยสารสาธารณะ
สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว ต้องเน้นการบริหารจัดการเชิงระบบ หรือการกำหนดนโยบายที่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ดังนี้
1. กำหนดนโยบายและทบทวนโครงสร้างราคาขนส่งสาธารณะทั้งระบบให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่เป็นภาระค่าครองชีพมากจนเกินไป และการลดราคาค่าโดยสารต้องไม่ฉาบฉวย ต้องไม่ใช่การกู้มาอุดหนุนราคาค่าโดยสาร แต่ต้องเป็นการปรับโครงสร้างราคาทั้งระบบเพื่อให้ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการสามารถอยู่ได้ภายใต้ราคาที่เป็นธรรม รวมไปถึงกำหนดแผนการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งเสริมการใช้รถสาธารณะที่ใช้พลังงานสะอาดในการให้บริการประชาชนเพื่อลดการปล่อยมลพิษ นอกจากนี้ ควรจะตั้งเป้าหมายในการอนุญาตให้จำหน่ายเฉพาะรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษต่ำเหมือนที่ในหลายๆ ประเทศ และการลดกำแพงภาษีให้กับรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษต่ำเพื่อให้ราคาจำหน่ายในประเทศต่ำลง ประชาชนเข้าถึงได้
2. ผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับด้านอากาศสะอาด โดยกำหนดให้มีการทำรายงานการปล่อยมลพิษ และควบคุมให้เกิดการลดการปล่อยมลพิษจากโรงงาน มีการกำหนดมาตรการควบคุมอย่างจริงจังในทุกกระบวนการ และรวมไปถึงการดำเนินการต่าง ๆ จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย พร้อมกันนี้ ตนในฐานะผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการยื่นร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้วเมื่อ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นกลไกสำคัญ ที่จะทำให้มีการรายงานการปล่อยมลพิษ การควบคุมการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด ไปจนถึงการจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศอย่างเป็นระบบ และมีการจัดตั้งคณะกรรมาการร่วมนโยบายอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ที่มาจากภาคประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ตนยืนยันที่จะร่วมให้การสนับสนุนกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการปกป้องลมหายใจของประชาชนอีกด้วย
“ผมได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ฉบับนี้ เข้าสู่การพิจารณาของสภา เพื่อขอให้พี่น้องประชาชน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมกันให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ และขอให้รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ และมลพิษทางอากาศอย่างจริงจังเสียที ทั้งการสนับสนุนภาคเกษตร และธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมขนส่งมวลชนและยานยนต์ไฟฟ้า และพลังงานสะอาด เป็นต้น และในระยะนี้ ผมขอให้พี่น้องทุกท่านได้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นพิษ รักษาสุขภาพ งดกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่น และร่วมกันส่งเสียงเรียกร้องถึงรัฐบาล ร่วมกันทวงคืนอากาศสะอาด ทวงคืนสุขภาพ และสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเราทุกคน” นายร่มธรรม กล่าว