รองนายกฯ ปธ.การประชุม กอนช. สั่งหน่วยงานบูรณาการการทำงานแก้ปัญหาอุทกภัยใต้ให้กลับสู่ปกติโดยเร็ว เร่งฟื้นฟูความเสียหาย เตรียมประชุมศูนย์ฯน้ำส่วนหน้าภาคใต้และลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ มอบถุงยังชีพยะลา-ปัตตานี 28 ธ.ค.
วันนี้ (27 ธ.ค.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ครั้งที่ 1/2566 พร้อมกล่าวมอบนโยบายขับเคลื่อนกองอํานวยการน้ำแห่งชาติ ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ จากสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้เกิดอุทกภัยระดับรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ซึ่งมีประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก และสถานการณ์น้ำยังมีแนวโน้มแผ่ขยายต่อเนื่องก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง จึงได้สั่งการให้เร่งหาแนวทางบรรเทาและควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยต้องผนึกกําลังทุกหน่วยงานบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน ลดความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและทันเวลา โดยขณะนี้ได้มีการจัดตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. ขึ้น เพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ ทั้งนี้ กอนช. จะติดตามสภาพปัญหาและสถานการณ์น้ำ สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิด พร้อมกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งมีการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน เพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ทวีความรุนแรง เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และสถานการณ์คลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
ทั้งนี้ ได้มอบแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยภาคใต้เพื่อเร่งบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน โดยให้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์ ประเมินสถานการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง พื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ และวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อให้สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายโดยเร็วที่สุด พร้อมกันนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่ภาคใต้ ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำทุกขนาด น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและอิทธิพลของการขึ้น-ลง ของน้ำทะเล โดยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก โดยให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด รวมถึงให้มีการดำเนินการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสถานการณ์น้ำและการให้ความช่วยเหลือ
รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อว่า นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ระดมกำลังเข้าช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มกำลัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นเป็นการเร่งด่วน รวมถึงให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด อีกทั้งให้จัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์และรายงานผลการดำเนินงานให้ฝ่ายเลขานุการฯ กอนช. ทราบทุกสัปดาห์ เพื่อสรุปเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และมอบหมายรองผู้อำนวยการ กอนช. ประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานทุกสัปดาห์ จนกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ รวมถึงให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันคาดการณ์และประเมินสถานการณ์เพื่อเตรียมรับมือฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้อีกระลอกในช่วงปลายเดือน ธ.ค. 66 นี้ด้วย
ด้าน ดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดว่า ในช่วงวันที่ 27-31 ธ.ค. 66 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะเริ่มมีกำลังอ่อนลง ส่งผลให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยจากการติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำพื้นที่ภาคใต้ พบว่า มีอ่างฯขนาดกลางที่ต้องเฝ้าระวังน้ำมาก รวม 19 แห่ง โดยเป็นอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำเกินความจุ 100% จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อ่างฯคลองแห้ง จ.กระบี่ และอ่างฯคลองหลา จ.สงขลา และเป็นอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำ 80-100% ของความจุ จำนวน 17 แห่ง ในขณะที่สถานการณ์ของอ่างฯ บางลาง จ.ยะลา คาดการณ์ 7 วันล่วงหน้า พบว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าสะสม 150 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยจะมีปริมาณน้ำ 1,168 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังคงต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมสูงสุดอยู่ 126 ล้าน ลบ.ม. และต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมอุทกภัย 155 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ จะมีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทุกแห่งอย่างใกล้ชิด
“ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้ รวม 24 อำเภอ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ จัดกำลังพลให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อุทกภัย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สถานการณ์ฝนตกหนัก แจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและเตรียมขนของขึ้นที่สูง ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ กอนช. จะบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อเร่งคลี่คลายอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย พร้อมทั้งมีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ได้มอบหมาย และในวันพรุ่งนี้ (28 ธ.ค.) รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ณ ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เมือง จ.ยะลา พร้อมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย ณ บ้านจางา ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี” ดร.สุรสีห์ กล่าว