โฆษกก้าวไกล ยืนกราน ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แนะจัดเลือกตั้ง 3 ประเภท กันข้ออ้างต้องมีผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วย ลั่นหากไม่ลงตัว ให้ถามในประชามติครั้งแรก
วันนี้ (24 ธ.ค.) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทําประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ชี้แจงว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพราะที่มาจะมาจากประชาชนโดยจะไม่มีรัฐบาลแต่งตั้ง ทางพรรคมองอย่างไร ว่า
ตน และพรรค ก.ก. ยืนยันเหมือนเดิมว่า หากเราต้องการการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีความชอบธรรม มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ส.ส.ร. ก็ควรมาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ตนไม่แน่ใจว่า ฝ่ายอื่นๆ นิยามคำว่ามาจากประชาชนอย่างไร แต่สำหรับพรรค ก.ก. การที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาจากประชาชนอย่างตรงไปตรงมามากที่สุด คือ มาจากการเลือกตั้ง นี่คือ จุดยืนของเรา
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ที่เรายืนยืนยันว่า ส.ส.ร. ควรมาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เราไม่ได้มีข้อกังวลที่จำกัดเพียงว่า ส.ส.ร. บางส่วน จะมาจากการแต่งตั้งหรือการคัดเลือกของรัฐบาลเท่านั้น แต่หากมาจากการแต่งตั้งของรัฐสภา ส่วนหนึ่งของรัฐสภา คือ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถึงแม้จะไม่ใช่ ส.ว. 250 คน ในชุดปัจจุบัน ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
แต่ ส.ว. อีก 200 คน ในชุดถัดไป ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่เป็นวิธีการให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเอง หากนายนิกร พยายามจะชี้แจงว่า ส.ส.ร. ไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล แต่มาจากการแต่งตั้งของรัฐสภา เราก็ยังมีความกังวลอยู่ดี
นายพริษฐ์ กล่าวว่า หากใครมีข้อกังวลว่า ส.ส.ร. ควรมีพื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ หรือกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลาย เรามองว่าเราสามารถออกแบบระบบเลือกตั้ง ที่เปิดพื้นที่ให้กับคนกลุ่มต่างๆ ได้ โดยยังคงหลักการว่า ให้ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งมีหลายทางเลือก
แต่อีกทางเลือกหนึ่ง คือ การใช้ระบบเลือกตั้งที่ประชาชนมีบัตรเลือกตั้ง 3 ใบ เพื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร. ทั้ง 3 ประเภท 3 ใบเลือกตั้ง
ประเภทที่ 1 ส.ส.ร. การเลือกตั้งตัวแทนพื้นที่ โดยกำหนดได้ว่าจะใช้อะไรเป็นเขตเลือกตั้ง
ประเภทที่ 2 ส.ส.ร. ที่เป็นตัวแทน ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ หรือฝ่ายวิชาการ โดยเปิดโอกาสว่า หากใครสนใจจะสมัครเป็น ส.ส.ร. และมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ตามที่ถูกกำหนด ก็สามารถสมัครเพื่อให้ประชาชนเลือก ผ่านการเลือกตั้งประเภทที่ 2 ได้
ประเภทที่ 3 การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ประเภทตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย ประชาชนที่สนใจสมัครเป็นตัวแทน ส.ส.ร. ประเภทที่ 3 ก็สามารถสมัครเข้ามาได้ โดยระบุว่า ตนเองเป็นตัวแทนของกลุ่มความหลากหลายในด้านไหน
โดยวิธีนี้จะทำให้มี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด ตนจึงย้ำว่า ไม่ควรใช้เหตุผลว่า ส.ส.ร. ต้องมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญผู้มีประสบการณ์ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายมาเป็นข้ออ้าง ว่า ส.ส.ร. จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้
“ตนย้ำว่า เรื่องแนวคิด ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่ได้เป็นแนวคิดที่ใหม่และผูกขาดจากการเสนอจากพรรคก้าวไกลเพียงอย่างเดียว ในปี 2563-2564 รัฐสภาได้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ ส.ส.ร. ในวาระที่สอง ก็มีการลงมติเกินกึ่งหนึ่งว่า ส.ส.ร. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งนายนิกรก็เคยเป็นหนึ่งใน ส.ส. ที่อยู่ในรัฐสภาชุดนั้นเช่นกัน” นายพริษฐ์กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า แต่หากเรายังเห็นต่างกันจริงๆ ในเรื่องนี้ เราเสนอว่า ควรให้ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในคำถามรองที่ถูกถามในการจัดทำประชามติครั้งแรก นอกเหนือจากคำถามหลัก หากประชาชนลงความเห็นไปในทิศทางใดผ่านการทำประชามติ ตนเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาทุกคน ก็พร้อมเดินหน้าต่อตามเสียงของประชาชน