xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เผย “ฮุน มาเนต” มาไทย ก.พ.67 ถก ครม.เศรษฐกิจร่วมกัน ชี้ ผลดีหากกัมพูชาสร้างนิคมฯ แย้มพานาโซนิคสร้าง รง.แบตฯ ในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เศรษฐา” เผย “ฮุน มาเนต” เตรียมเยือนไทย ก.พ. 67 ประชุมย่อย ครม.เศรษฐกิจร่วมกัน ถกการค้าชายแดน เชื่อหากกัมพูชาสร้างนิคมอุตสาหกรรม ส่งผลดีภูมิภาค-ไทย เหตุมีท่าเรือน้ำลึก-สนามบิน พร้อม ชี้ คุยพานาโซนิค เล็งใช้พื้นที่ไทย 600 ไร่สร้าง รง.ผลิตแบตเตอรี่

วันนี้ (18 ธ.ค.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีได้พบกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยได้มีการพูดคุยถึงพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นจังหวัดหลัก ที่ตนเพิ่งไปลงพื้นที่มา ซึ่งเห็นว่า นิคมอุตสาหกรรมและการค้าชายแดน ยังสามารถยกระดับได้อีก โดยในเดือนก.พ. 2567 สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะมาเยือนประเทศไทย จากนั้นจะมีการประชุมย่อยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจร่วมกันเกี่ยวกับการค้าชายแดน เพราะเรามีความพร้อมเรื่องการจัดส่งสินค้า หากกัมพูชามีแผนสร้างนิคมอุตสาหกรรมแล้วติดต่อการค้า เขามาก็จะดีกับทั้งภูมิภาค เพราะประเทศไทยมีท่าเรือน้ำลึกและสนามบินที่พร้อม มีพลังงานสะอาดที่พร้อม น่าจะทำอะไรร่วมกันได้ เพื่อเสริมสร้างซึ่งกันและกัน และอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะเป็นเบอร์ 3 ของโลก การที่เรารวมตัวกันและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จะเอื้อต่อธุรกิจได้อีกเยอะมาก และยิ่งตนกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ จะพูดอะไรก็ง่าย

นายกฯ ยังกล่าวถึงการพูดคุยกับบริษัท พานาโซนิค ซึ่งเขาเป็นบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่และทำเรื่องของแบตเตอรี่ ให้กับบริษัท เทสล่า ด้วย ซึ่งขณะนี้เขากำลังดูสถานที่ที่จะทำโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในพื้นที่ 600 ไร่ ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ในเป้าหมายซึ่งเขายังไม่ได้ตัดสินใจ เพราะต้องดูแผนระยะยาว แต่เขาลงทุนที่ประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 1961 ก่อนที่ตนจะเกิดอีก จึงถือว่ามีความผูกพันกับประเทศไทย ซึ่งผู้บริหารเบอร์สองของเขาก็อยู่ในเมืองไทยมาตลอด ยิ่งตอกย้ำว่า ผู้บริหารบริษัทระดับสูงของญี่ปุ่นส่วนใหญ่เคยผ่านงานที่ประเทศไทยมาก่อน ทั้งนี้ เรื่องใจถึงใจเรื่องที่เขาอาจจะลำเอียง อยากมาลงทุนตนเชื่อว่าเป็นธรรมดาของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครดิตของคนไทยที่ต้อนรับอาคันตุกะทุกอาชีพด้วยใจจริง และงานที่เราทำมาทั้งหมดในการเดินทางมาครั้งนี้ไม่ใช่ผลงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่บีโอไอญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ ตนมาต่อเครื่องที่ประเทศญี่ปุ่น บีโอไอที่ญี่ปุ่นเป็นคนจุดประกาย ว่า ญี่ปุ่นมีความเป็นห่วงเรื่องอะไร ตนรับโจทย์ไปและจัดการในทุกเรื่อง ซึ่งเรามาถึงที่นี่ก็ง่ายเพียงแค่ยิ้มแย้มแจ่มใสและพยักหน้า ตนถือว่าครั้งนี้ประสบความสำเร็จมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น