xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวไกลคาใจระเบียบคุมขังนอกคุก หวั่นคณะพิจารณาส่วนใหญ่เป็น ขรก. มั่นใจอย่างไรทั้งถ่วงดุล-เท่าเทียม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศศินันท์” ตั้งคำถามต่อระเบียบ “คุมขังนอกเรือนจำ” ของกรมราชทัณฑ์ กังวลคณะพิจารณาส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ จะเกิดการตรวจสอบถ่วงดุลได้อย่างไร ย้ำ ไทยมีปัญหานักโทษล้นคุก แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าระเบียบนี้จะถูกบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกัน

วันนี้ (13 ธ.ค.) จากกรณีเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ซึ่งให้อำนาจกรมราชทัณฑ์ในการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นๆ นอกเหนือจากเรือนจำได้ ทำให้สังคมเกิดกระแสการตั้งคำถามและเชื่อมโยงไปถึงการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร ที่ยังคงนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจนับตั้งแต่วันที่กลับมาถึงประเทศไทย
.
ต่อกรณีดังกล่าว น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 11 พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นว่า ตนได้เห็นและได้อ่านระเบียบฉบับนี้อย่างถี่ถ้วนทุกบรรทัด และกังวลใจอย่างยิ่งต่อวิธีการสรรหา “คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง” ว่าเหมาะสมหรือไม่ที่สัดส่วนคณะทำงานกว่าร้อยละ 80 นั้นเป็นข้าราชการ ขณะที่สัดส่วนจากบุคคลภายนอกก็ยังเป็นบุคคลที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์แต่งตั้ง โดยมีรองอธิบดีนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานคณะทำงาน

น.ส.ศศินันท์ กล่าวต่อไปว่า ตนทราบดีถึงปัญหานักโทษล้นเรือนจำ และเห็นเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเร่งแก้ไข แต่สิ่งที่สังคมตั้งคำถาม คงไม่พ้นเรื่องการจะบังคับใช้อย่างไรให้เกิดความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะนักโทษคดีการเมือง นักการเมือง นักกิจกรรม ผู้มีอำนาจ และคนรวยมีเส้นสาย ก็คงไม่พ้นการถูกจับตามอง ที่ผ่านมาสังคมได้เรียนรู้หลายต่อหลายครั้งว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศเรานั้นยังไม่ผลิดอกออกผลเท่าที่ควร ทำให้ประชาชนหลายคนทั้งที่เป็นประชาชนทั่วไปและที่เป็นญาติผู้ต้องขังกังวลเรื่องการมีสิทธิ์เข้าถึงระเบียบฉบับนี้ ว่าต่อให้ผู้ต้องขังจะเป็นนักโทษชั้นดีและเข้าเกณฑ์ระเบียบกรมราชทัณฑ์ แต่หากไม่มีเงินและอำนาจก็อาจจะไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเท่าเทียม

“เราต้องยอมรับว่าความยุติธรรมในประเทศเรานั้นล่าช้า แต่กับบางคนมันก็มาถึงก่อนเสมอ นั่นเป็นข้อบ่งชี้ว่าในสายตาของประชาชน กระบวนการยุติธรรมในประเทศเรายังคงอ่อนแอ ดิฉันจึงยิ่งมีความกังวลต่อสัดส่วนของคณะทำงาน เมื่อกรมราชทัณฑ์เองก็มีอำนาจในการชี้ขาดตามระเบียบคุ้มครองอยู่แล้ว การที่ให้คณะทำงานเกือบทั้งหมดเป็นสัดส่วนข้าราชการจะทำให้เกิดกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลได้อย่างไร หากเกิดกรณีที่ไม่เป็นธรรม”


กำลังโหลดความคิดเห็น