xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ขอร่วมแก้หนี้นอกระบบจบ รบ.นี้ “กิตติรัตน์” แจงหนี้บัตรเครดิต ดอกลด 3-5% แบงก์แบกส่วนต่างเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เศรษฐา” เดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ขอทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ลั่น ให้จบภายในรัฐบาลนี้ “กิตติรัตน์” แจง ลูกหนี้บัตรเครดิต ดอกเบี้ยลดเหลือ 3-5% ชี้ สถาบันการเงินแบกส่วนต่างเอง ปัดรัฐบาลใช้งบชดเชย

วันนี้ (12 ธ.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงข่าวจัดการหนี้ทั้งระบบ โดยมี นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีร่วมแถลง

โดย นายกฯ กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนาน ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ตามที่ได้แถลงนโยบายเมื่อวันที่ 28 พ.ย. และอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. สำหรับหนี้ในระบบที่มีปัญหาจนส่งผลกระทบต่อการทำงาน บางรายเป็นหนี้เสียคงค้างเป็นเวลานานจนขาดโอกาสในการประกอบอาชีพจึงถือเป็นวาระแห่งชาติเช่นเดียวกัน รัฐบาลนี้จะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ทั้งการจัดการกวาดล้างหนี้นอกระบบ และดูแลลูกหนี้ในระบบ ให้ได้รับสินเชื่ออย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

นายกฯ กล่าวว่า ตนต้องขอชี้แจงและไม่ได้กล่าวว่าการเป็นหนี้ เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย โลกนี้มีหนี้ที่ดีอยู่ คือ หนี้ที่นำไปจับจ่ายใช้สอยหรือประกอบธุรกิจ โดยไม่เกินความสามารถ เป็นหนี้ที่จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ เพิ่มจำนวนเงินในระบบทั้งประเทศ แต่ต้องเข้าใจว่า สภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้กลไกเหล่านี้ มีข้อติดขัดหลายอย่าง จนปัญหาสั่งสมจนใหญ่เกินกว่าจะแก้ได้โดยปราศจากภาครัฐ วันนี้พวกเราไม่สามารถจะปล่อยให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหานี้เผชิญปัญหาอยู่อย่างลำพัง ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะขอยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาหนี้ให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง

นายกฯ กล่าวว่า ภาพรวมกลุ่มลูกหนี้ในระบบ และสาเหตุของปัญหาว่า เพื่อให้เห็นภาพแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้ที่ชัดเจน ตนเองขอแบ่งกลุ่มลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหา ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมาก จนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง และกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้างเป็นระยะเวลานาน ซึ่งทุกกลุ่มที่ตนเองกล่าวไปทั้งหมด มีข้อสังเกตที่เหมือนกันอย่างนึงว่า ลูกหนี้ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้จนกลายเป็นหนี้เสีย เมื่อเป็นหนี้เสียก็ถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยปรับเพิ่ม และวนกลับไปทำให้ชำระไม่ไหวอีก วงจรแบบนี้ส่งผลให้ติดเครดิตบูโร ไม่สามารถขอสินเชื่อในระบบต่อได้ หรือบางรายที่ค้างชำระเป็นเวลานานจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย แม้ว่าลูกหนี้ทุกกลุ่มจะมีสภาพปัญหาคล้ายกัน แต่ต้นตอของปัญหานั้นต่างกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงเตรียมแนวทางช่วยเหลือที่แตกต่างกันตามสาเหตุของปัญหา เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม ดังนี้

สำหรับลูกหนี้ในกลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มนี้ โดยปกติจะมีประวัติการชำระหนี้มาโดยตลอด แต่สถานการณ์โควิดทำให้ธุรกิจต้องสะดุดหยุดลง ขาดสภาพคล่อง จนไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ อีกส่วนนึง บางรายเป็นหนี้ครั้งแรกในช่วงโควิด เพราะต้องการเงินทุนไปหมุนเวียน แต่สุดท้ายกลายเป็นหนี้เสียจนไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อได้ กลุ่มนี้จะต้องได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย หรือได้รับการพักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว สำหรับลูกหนี้รายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่มีหนี้เสียกับธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. รัฐบาลจึงกำหนดให้ธนาคารทั้งสองแห่งติดตามทวงถามหนี้ตามสมควร และให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อให้ไม่เป็นหนี้เสียอีกต่อไป โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในกลุ่มนี้ ได้ประมาณ 1.1 ล้านราย ส่วนลูกหนี้ SMEs สถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่อยู่กับแบงก์รัฐ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs เหล่านี้ ได้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 99 ของจำนวนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียในกลุ่มนี้ นับเป็นจำนวนกว่า 100,000 ราย

สำหรับกลุ่มที่ 2 คือ ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพ โดยอาจจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อยได้แก่ กลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่มักจะมีหนี้กับสถาบันการเงิน และกลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิต กลุ่ม ข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำรวจ ทหาร จะได้รับการช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทางด้วยกัน แนวทางแรก คือการลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ แนวทางที่สอง จะต้องโอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น ที่สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวก และสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ และแนวทางสุดท้าย คือบังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งทั้งสามแนวทางนี้ จะต้องทำ “พร้อมกัน” ทั้งหมด

สำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ และลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือ โดยการพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว การลดดอกเบี้ย หรือลดเงินผ่อนชำระในแต่ละงวดให้ต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้เกษตรกร ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากรายได้ของพวกเค้า ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปริมาณผลผลิต เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ รัฐบาลได้มีโครงการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยพักทั้งหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งโครงการนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมการพักหนี้กว่า 1.5 ล้านราย เป็นต้น

สำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ 4 กลุ่มนี้เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐ มาเป็นระยะเวลานาน กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น คาดว่า มาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย

นายกฯ กล่าวว่า ครั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้หลากหลายกลุ่มด้วย ทั้งมาตรการที่ ครม.เห็นชอบไปแล้ว เช่น การพักหนี้เกษตร มาตรการที่สามารถดำเนินการขยายผลได้ทันที เช่น เรื่องหนี้ครู หนี้ข้าราชการ หนี้บัตรเครดิต หนี้เช่าซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซต์ โดยเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. กระทรวงมหาดไทยได้เริ่มเปิดรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบ ซึ่งตนหวังว่าจะมีการติดตามเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยต่อไป อย่าให้หายเงียบตามแนวทางที่ได้มอบไว้ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตในระยะเร่งด่วนเพื่อต่อลมหายใจให้ลูกหนี้ทุกกลุ่ม

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนระยะยาวควรมีการแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง โดยยกระดับการให้บริการสินเชื่อให้เหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งกระทรวงการคลังได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดทำแนวทางเพื่อยกระดับการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อสะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ได้มากขึ้นเป็นธรรม มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม และป้องกันปัญหาการก่อหนี้เกินศักยภาพ เช่นหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้สถาบันการเงิน ต้องคำนวณอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ และกำหนดให้การผ่อนชำระสินเชื่อ ต้องให้ผู้กู้ยืมมีเงินเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ

นายกฯ กล่าวว่า การให้สินเชื่อโดยพิจารณาจาก ข้อมูลอื่นนอกเหนือจากประวัติการชำระสินเชื่อ เช่น การชำระค่าน้ำหรือค่าไฟ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชน เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น การผลักดันให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน รายงานข้อมูลเครดิตไปยัง NCB เพื่อให้ผู้ให้สินเชื่อสามารถประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้และการจัดการบุริมสิทธิในการตัดเงินเดือนของลูกหนี้ที่เป็นธรรมเพื่อชำระหนี้กับผู้ให้สินเชื่อได้อย่างเหมาะสม สำหรับกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีและปิดจบหนี้ให้ได้ภายใน 5 ปี

นายกฯ กล่าวว่า เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ให้สำเร็จและมีผลอย่างยั่งยืน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันเสริมความรู้และพัฒนาทักษะการบริหารจัดการเงินให้แก่ประชาชนหรือจัดให้มีระบบการเงินชุมชนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยต่อไป ส่วนนักศึกษาที่กู้ กยศ.ต้องผ่านการอบรมการบริหารจัดการหนี้ บุคลากรภาครัฐบรรจุใหม่ต้องผ่านการอบรมการเงินส่วนบุคคล รวมทั้งเพิ่มตัวช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ประชาชน เช่น สร้างคนให้คำแนะนำการแก้หนี้ หรือคนไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อช่วยให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือ

นายกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ ภาครัฐยังส่งเสริมวินัยการออม เช่น บริการออมเพลิน ซึ่งเป็นโครงการนำร่องให้ประชาชนสามารถสะสมเงินออมแบบอัตโนมัติในทุกครั้งที่ใช้จ่ายชำระค่าสินค้า เพื่อลดการเป็นหนี้ และส่งเสริมให้ประชาชนมีเงินออมที่เพียงพอหลังเกษียณอายุ

นายกฯ กล่าวว่า ท้ายที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ให้สำเร็จและมีผลอย่างยั่งยืนหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ร่วมกันเสริมความรู้ ยืนยันรัฐบาลห่วงใยลูกหนี้ทุกกลุ่มและได้มีแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว การดำเนินมาตรการให้สำเร็จได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากลูกหนี้ เจ้าหนี้ และหน่วยงานต่างๆ หลายภาคส่วน ตนขอมอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้มาร่วมกันแก้หนี้ทั้งระบบให้จบภายในรัฐบาลนี้ ร่วมกันสำรวจและซ่อมแซมกลไกทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เครื่องจักรทางเศรษฐกิจเราทำงาน เติบโต และขยายตัวต่อไปได้

ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ชี้แจงแทนนายกฯ ถึงมูลหนี้ทั้งหมดในระบบ ครอบคลุมหนี้ครัวเรือนทั้ง 16 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าร้อยละ 90 ของจีดีพี และในส่วนของเนชั่นแนลเครดิตบูโร จะพบตัวเลข 13.5 ล้านล้านบาท แต่ไม่ได้รวมส่วนที่เป็นสหกรณ์และ กยส.เข้าไปด้วย โดยส่วนที่นายกฯ ได้แถลงนั้น เป็นการรวมครบถ้วน ทั้งนี้ หนี้ของเกษตรกร และหนี้ SMes

นายกิตติรัตน์ ยังชี้แจงหนี้บัตรเครดิตด้วยว่า มียอดหนี้รวมอยู่ที่ 5.4 แสนล้านบาท เป็นหนี้ที่กำลังจะเป็นปัญหาประมาณ 6.7 หมื่นล้าน จากผู้ถือบัตรเครดิตจำนวนทั้งสิ้น 23.8 ล้านใบ โดยในเป็นส่วนนี้เป็นหนี้ที่กำลังน่าห่วงใย 1.1 ล้านใบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดอกเบี้ยบัตรเครดิต 16-25% เหลือ 3-5% เฉพาะลูกหนี้ที่เข้าโครงการเท่านั้นหรือไม่ นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ผู้ถือบัตรทุกรายทั้ง 23 ล้านใบ มีสิทธิได้ดอกเบี้ย 3-5% ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินและระยะเวลาปีการผ่อนชำระ จึงขอเรียนเชิญให้เข้าร่วมโครงการฯ เมื่อถามย้ำว่า แม้ว่าจะเป็นลูกหนี้ที่มีสถานะปกติใช่หรือไม่ นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ความจริงหากเป็นหนี้ปกติ ก็อยากให้ชำระปกติ เมื่อถามว่า นายกฯ เคยประกาศว่าหนี้ในระบบไม่ควรสูงเกิน 15% แต่ทำไมหนี้บัตรเครดิตจึงสูงกว่า 15% นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ความจริงแล้วหนี้ปกติก็ชำระได้โดยไม่เสียดอกเบี้ย แต่หากชำระบางส่วนก็จะมีอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดขึ้น ในกฎหมายเรื่องดอกเบี้ย 15% เป็นกฎหมายที่ดูแลผู้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน แต่ในกลุ่มบัตรเครดิตเป็นส่วนของสถาบันการเงินซึ่งมีค่าบริการและค่าใช้จ่ายต่างๆ จึงมีการกำหนดที่สูงกว่า 15% ได้บ้าง ซึ่งขณะนี้มีการดูแลไม่ให้ดอกเบี้ยสูงไปอยู่แล้ว เมื่อถามว่า ส่วนต่างใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ในกลุ่มที่เป็นเจ้าหนี้บัตรเครดิตยินดีลดดอกเบี้ยให้เพื่อดูแลลูกค้า โดยที่รัฐบาลไม่ต้องตั้งงบประมาณไปชดเชยให้

“กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย สามารถใช้บริการคลินิกแก้หนี้ได้ ซึ่งผมไม่ได้พยายามยุให้ท่านเข้าใช้บริการ แต่หากเกินศักยภาพในการชำระเกินก็ขอให้เข้ามาใช้บริการได้เลย” นายกิตติรัตน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น