องค์การสุรา กรมสรรพสามิต จัดสัมมนาการเลือกใช้แอลกอฮอล์อย่างถูกต้อง สร้างองค์ความรู้การตรวจสอบทะเบียนที่ถูกกฎหมาย “สัญชัย” ประเมินต้นทุนผลิตสูงขึ้นอีก 2-3 ปีข้างหน้า ย้ำจำเป็นต้องบริหารแอลกอฮอล์ให้เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา องค์การสุรา กรมสรรพสามิต จัดงานสัมมนาลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการเลือกใช้แอลกอฮอล์อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และมีความรู้ในการตรวจสอบทะเบียนและเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพิจารณาเลือกซื้อแอลกอฮอล์ที่ถูกกฎหมาย
โดยนายสัญชัย ชาสมบัติ ผู้อำนวยการองค์การสุรา กรมสรรพสามิต กล่าวระหว่างเปิดงานว่า ขณะนี้กลุ่มโรงงานเอทานอลพลังงานที่ผลิตแอลกอฮอล์กำลังมีการเปลี่ยนแปลงด้านราคาเอทานอลและหยุดการผลิต เนื่องจากต้นทุนมีราคาที่สูง โดยคาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า แอลกอฮอล์ในไทยจะมีราคาที่สูงขึ้นไปพร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกที่จะมีปริมาณการใช้แอลกอฮอล์ในการผลิตสูง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพูดถึงในประเด็นการบริหารแอลกอฮอล์ให้เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ
นายสัญชัย กล่าวต่อว่า การผลิตแอลกอฮอล์ในภายภาคหน้า จะนำเอาวัตถุดิบไฟเบอร์จำพวกใบไม้ ฟางข้าว ซังข้าวโพด มาทำเป็นเอทานอล เนื่องจากแต่เดิมวัตถุดิบที่ใช้มาจากมันสำปะหลัง และอ้อยเป็นหลัก แต่ปัญหาแทรกซ้อนในการได้มาซึ่งวัตถุดิบที่มีอยู่จึงทำให้อุตสาหกรรมเอทานอลจะเข้าสู่จุดที่ต้องหาวัตถุดิบอื่นซึ่งมีราคาที่ถูกลง
ขณะที่ ดร.จีรพา บุญญคง หัวหน้ากลุ่มงานวิเคราะห์อินทรีย์เคมี ฝ่ายมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ บรรยายในหัวข้อ ผลิตภัณฑ์วัสดุอ้างอิงรับรอง (CRM) กับระบบมาตรวิทยาเพื่อสนับสนุนการตรวจสอบคุณภาพแอลกอฮอล์ ว่า แต่ละประเทศ จะมีสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ หรือหน่วยงานที่หน้าที่แทน สำหรับประเทศไทย มีทั้งสถาบันฯ และบางหน่วยงานที่ทำหน้าที่แทน เช่น ด้านรังสี ซึ่งสถาบันลงนาม CIPM-MRA เพื่อให้ผลการวัดจากสถาบันฯ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ดร.จีรพา เปิดเผยว่า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติลงนาม MOU ร่วมกับองค์การสุรา เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2563 เกิดเป็นโครงการ “ระบบมาตรวิทยาเพื่อสนับสนุนการตรวจสอบคุณภาพแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์จากแอลกอฮอล์” ซึ่งเป็นที่มาของการผลิตวัสดุอ้างอิงรับรองซึ่งมีกระบวนการทดสอบต่าง ๆ ในกระบวนการผลิตแอลกอฮอล์ ตั้งแต่แอลกอฮอล์ที่มาจากโรงกลั่น รวมถึงแอลกอฮอล์ที่ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว อีกทั้ง สถาบันฯ เข้าร่วมเปรียบเทียบผลการวัด เอทานอลเมื่อปี 2562 ซึ่งได้ผลการวัดอยู่ในระดับดี
ด้าน ภก. ประเสริฐ เลิศเลอพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรมเทคโนโลยีและเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ บรรยายในหัวข้อการยกระดับมาตรฐานการผลิตแอลกอฮอล์สู่โรงงานผลิตสารตั้งต้นทางยา ว่า อย.เป็นสมาชิก PIC/S (Pharmaceutical Inspection Co-Operation Scheme) ซึ่งมี GMP (GOOD MANUFACTURING PRACTICE) ควบคุมให้อุตสาหกรรมยาปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ครอบคลุมการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยาแผนปัจจุบันและแผนโบราณ
ภก.ประเสริฐ กล่าวว่า องค์การสุราเกี่ยวข้องกับข้อกำหนดดังกล่าว เนื่องจากเป็นผู้ผลิตสารตั้งต้นให้กับโรงงานผลิตยา ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติตามแนวทางของ อย.ในการตรวจประเมินกรณีที่เป็นผู้ผลิตตัวยาสำคัญ และวัตถุที่ใช้ในการผลิตยา โดย อย.ใช้ PIC/S GMP เป็นมาตรฐานในการตรวจประเมินสถานที่ผลิตเภสัชเคมีภัณฑ์
ส่วน น.ส.เบญจมาศ เชาวน์ไว หัวหน้าแผนกควบคุมคุณภาพ องค์การสุรา บรรยายในหัวข้อสุราสามทับภายใต้กฎหมายอาหาร ว่า องค์การสุรา ผลิตสุราสามทับที่มีคุณภาพสูง ซึ่งการจัดเก็บภาษีสุราสามทับจะเก็บในอัตราที่ต่ำเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าที่มีผลต่อค่าครองชีพของประชาชน ทั้งยาและอาหาร แต่ก็มีโอกาสที่บุคคลใช้ช่องทางดังกล่าวซื้อไปเพื่อการบริโภคสุราเนื่องจากเมื่อนำสุราสามทับนี้ไปเจือจางน้ำแล้วสามารถดื่มได้เหมือนสุรา จึงเป็นเหตุผลที่รัฐวิสาหกิจมีบทบาทเป็นผู้ควบคุมการจำหน่ายสุราสามทับในประเทศ
น.ส.เบญจมาศ กล่าวต่อว่า องค์การสุรา มีการรับรองคุณภาพของสุราสามทับ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ มาตรฐานบังคับตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ และมาตรฐานทางเลือก โดยองค์การสุราขึ้นทะเบียนทั้ง อย. และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) รวมถึงกรมปศุสัตว์ ซึ่งปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง โดยขึ้นทะเบียนจำแนกตามแรงดีกรีและวัตถุประสงค์การนำไปใช้ ทั้งนี้ ทุกผลิตภัณฑ์ขององค์การสุรามาจากกระบวนการผลิตเดียวกัน แต่ขึ้นทะเบียนต่างกันตามการควบคุมคุณภาพหรือการกำกับดูแลของหน่วยงาน
นอกจากนี้ น.ส.เบญจมาศ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เอทานอลแม้จะเข้าใจว่ากินได้ แต่ด้วยการผลิตเพื่อให้ได้เอทานอลแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงก็เรียกว่าเอทานอล ซึ่งกระบวนการผลิตเอทานอลเชื้อเพลิงไม่จำเป็นต้องกลั่นเพื่อเอาสารปนเปื้อนออกเนื่องจากไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค ที่จะทำให้คงเหลือสารปนเปื้อนอยู่ เช่น เมทานอลที่มีความเป็นพิษสูง
ดังนั้น การเลือกซื้อเอทานอลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมให้ปลอดภัยต้องมาจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ มีมาตรฐานรับรองและควรจะต้องมีผลการตรวจวิเคราะห์ว่าไม่มีสารปนเปื้อนตกค้าง