“ออมสิน” รอดปมเซ็นอนุมัติสร้างแนวป้องกันกัดเซาะชายหาดสมิหลา ป.ป.ช. ชี้มูลเอาผิด กก.ประกวดราคาปัดตกบริษัทยื่นราคาต่ำ เลือกบริษัทตั้งประมูลสูงกว่า ทั้งที่ใช้เทคนิคเดียวกัน ส่งดำเนินคดีอาญา-แจ้งผู้บังคับบัญชาสั่งชดใช้ค่าเสียหาย
วันนี้ (4 ธ.ค.) นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. และรองโฆษก ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการไต่สวนได้ดำเนินการไต่สวนกรณีกล่าวหา นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม กับพวกรวม 6 ราย พิจารณาให้ผู้เสนอราคาบางรายไม่ผ่านคุณสมบัติในการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดสมิหลา ถนนชลาทัศน์ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยพบว่า กิจการร่วมค้านราบางกอก เสนอราคา 254,330,000 บาท แต่ไม่ผ่านคุณสมบัติ เนื่องจากไม่ได้ยื่นผลงานประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาครั้งนี้ และเห็นควรจ้างบริษัท เค.พี.ซี. เอนเตอร์ไพร้ส์ จำกัด ซึ่งเสนอราคา 269,600,000 บาท เนื่องจากมีคุณสมบัติถูกต้องและเสนอราคาต่ำสุด
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า ทั้ง 2 บริษัทดังกล่าวใช้เทคนิคการก่อสร้างเดียวกัน แต่ นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้เร่งรัดทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโครงการดังกล่าวกับบริษัท ต่อมา นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ เข้ารับตำแหน่ง รมว.คมนาคม ได้ลงนามเห็นชอบและอนุมัติ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2559 และกรมเจ้าท่า ได้มีหนังสือลงวันที่ 27 พ.ค. 2559 และลงนามสัญญาจ้างบริษัท เค.พี.ซี. เอนเตอร์ไพร้ส์ วันที่ 31 พ.ค.โดยไม่ได้รอระยะเวลาที่ให้กิจการร่วมค้านราบางกอก ยื่นอุทธรณ์ผลการประกวดราคา ภายใน 15 วัน
ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้ 1. การกระทำของนายออมสิน ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป 2. การกระทำของนายศรศักดิ์ แสนสมบัติ นายดนัย คำนึงเนตร นางจุฑามาศ อัชกุล นายจิรัฏฐ์ ลักษณะละม้าย และนายนคฤกษ์ คำม่วง กรรมการพิจารณา มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 พ.ร.บ.ว่า ด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 พ.ร.ป.ว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตาม พ.ร.ป.ว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยตามฐานความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.ป.ว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91(1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป ทั้งนี้ ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539