มหาดไทย แจ้งรายชื่อ "กิจการค้าร่วมฯ" คว้างานปรับปรุงระบบเครือข่ายฯ CCTV 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงินเกือบพันล้าน พบเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง ถึง 30 ล้านบาท เผยเจ้าของโครงการ เคยออกหนังสือเวียน แจ้งประมูลโครงการโปร่งใสทุกขั้นตอน
วันนี้ (30 พ.ย.2566) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) ออกประกาศให้ "กิจการค้าร่วม ฟอร์ทแม๊กซ์" ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการเสนอราคา
โครงการค่าปรับปรุงระบบเครือข่ายกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ตามวงเงินที่ได้รับจัดสรร 965,014,000 บาท และราคากลาง
981,773,200 บาท จำนวน 1 โครงการ
ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และบางอำเภอของสงขลา (อำเภอจะนะ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย) จากงบประมาณ ผูกพันงบประมาณ ปี 2566-2568
เนื่องจากเป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนและได้คะแนนรวมสูงสุด ในวงเงิน 930,000,000 บาท ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าใช้จ่าย อื่นใดทั้งปวงแล้ว
"พบว่า เอกชนดังกล่าว เสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง ถึง 30 ล้านบาท" ตามเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เลขที่ 20/2566 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2566 โดยใช้เกณฑ์ราคาประกอบเกณฑ์อื่น เป็นหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ
ทั้งนี้ พื้นที่ดำเนินการบูรณาการหน่วยงานรับผิดชอบ เพื่อจัดหาและติดตั้งระบบ CCTVประกอบด้วย ศาลากลางจังหวัด 5 จังหวัดขายแดนภาคใต้ สถานตำรวจภูธร (สภ.) จำนวน 42 แห่ง ที่ว่าการอำเภอ จำนวน 42 แห่ง
“ติดตั้ง ภายใน กอ.รมน ภาค 4 ส่วนหน้า, ฉก.ยะลา, ศปก.ตร.สน.(กกล.ตร.จชต.), ฉก.ปัตตานี,(นฝต) ขกท, ฉก.นราธิวาส, ฉก.นย.กองทัพเรือ, ฉก.สงขลา และ ศสข.12 สงขลา รวมจำนวน 9 แห่ง”
มีรายงานด้วยว่า ที่ผ่านมา สป.มท. มีหนังสือเวียนแจ้ง กรณี "องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน" ตั้งข้อสังเกตถึงโครงการนี้
เช่น ข้อห่วงใยเกี่ยวกับการที่อาจจะมีการแต่งตั้งพวกพ้องเข้าไปเป็นกรรมการ TOR กรรมการจัดซื้อและกรรมการตรวจรับ เพื่อล็อกสเปค TOR จัดฮั้วประมูล จัดคู่เทียบ
ระบุว่า ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ (TOR) โดยแต่งตั้งจากผู้มีประสบการณ์ทั้งจากส่วนกลาง ผู้อำนวยการจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และบุคคลภายนอก
รวมถึงองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อขอรับการสนับสนุนรายชื่อบุคคลเป็นผู้สังเกตการณ์ย
โดยในส่วนของคณะกรรมการยกร่าง TOR นั้น ก็ไม่มีผู้ใดสนิทสนมกับ "บริษัท TKC" ตามที่มีผู้ร้อง รวมถึงบริษัทเอกชนรายอื่น และบริษัท TKC ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้เคยรับงานทางด้านเทคโนโลยีจากกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด
"มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DEs) และกฎหมายทุกประการสำหรับระบบซอฟต์แวร์ในร่าง TOR เป็นไปตามเกณฑ์ราคากลาง"
ส่วนข้อห่วงใยเกี่ยวกับอาจจะมีการนำเอกสารที่เป็นความลับของทางราชการ TOR ออกมา และมีการปรับแก้ระบบงานเพื่อเอื้อประโยชน์และทำให้ได้เปรียบผู้แข่งขันรายอื่น
สป.มท. ระบุว่า เอกสาร TOR เป็นเอกสารที่ต้องมีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง (EGP) เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถวิจารณ์ร่าง TOR ดังกล่าวได้ ไม่ใช่เอกสารลับแต่อย่างใด
โดยได้ลงประกาศร่าง TOR ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 4 – 6 กรกฎาคม 2566 รวม 4 วันทำการ มากกว่าจำนวนวันที่ระเบียบกำหนด และปรากฏว่ามีผู้วิจารณ์ จำนวน 14 ราย และคณะกรรมการฯ ได้นำข้อวิจารณ์มาพิจารณาและแก้ไขบางข้อที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ
และได้นำร่าง TOR ลงประกาศเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม – 7 สิงหาคม 2566 อีก 4 วันทำการ ปรากฏว่ามีผู้วิจารณ์จำนวน 16 ราย เป็นนิติบุคคล 14 ราย และบุคคลธรรมดา 2 ราย
ข้อห่วงใยต่อโครงการนี้อาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัทเอกชนบางรายให้เป็นผู้ชนะการประมูล และเป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบการรายอื่น ปิดกั้นไม่สามารถเข้าประมูลงาน
สป.มท. ระบุว่า ได้ดำเนินการในทุกขั้นตอนเป็นไปตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ การยกร่าง TOR โครงการฯ ก็เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมโดยพยายามให้บริษัทเอกชนทุกรายที่มีคุณสมบัติสามารถเข้าร่วมประมูลได้
และไม่เคยมีการตกลงกับกลุ่มบริษัทเอกชนกลุ่มใด หรือรายใด ให้เป็นผู้ชนะการประมูล และร่าง TOR ที่อยู่ระหว่างการเผยแพร่เพื่อรับฟังคำวิจารณ์ จึงไม่มีการดำเนินการที่เอื้อประโยชน์หรือปิดกั้นผู้ประกอบการแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังได้เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม (Integrity pact) ซึ่งทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้มอบหมายผู้สังเกตการณ์ เข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง จึงทำให้โครงการนี้มีความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน และเปิดกว้างในการแข่งขัน.