xs
xsm
sm
md
lg

“วันชัย” ค้านแก้ ม.13 พ.ร.บ.ประชามติ เชื่อไม่เป็นอุปสรรคขวางแก้ รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วันชัย” เผย กมธ.การเมือง ยังไม่ส่งความเห็นแย้ง แก้ ม.13 พ.ร.บ.ประชามติ แต่ส่วนตัวมองไม่ควรแก้ไข เหตุไม่เป็นอุปสรรคขวางแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมมองกระบวนการแก้ไข ต้องใช้ กมธ.ร่วม เพราะเป็น กม.หมวดปฏิรูปประเทศ

วันนี้ (21 พ.ย.) นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ฐานะรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวถึงกรณีที่ นายนิกร จำนง ฐานะประธานอนุกรรมการรับฟังความเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เตรียมเสนอกรรมการประชามติชุดใหญ่ วันที่ 24 พ.ย. เพื่อเสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 13 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ผ่านประชามติ ว่า ตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เพราะหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 13 นั้น ถูกพิจารณาด้วยความรอบคอบ ทั้งนี้ ตนในฐานะอดีต กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ นั้น มองว่า หลักเกณฑ์ที่ใช้เป็นกติกาให้การทำประชามติผ่าน ทั้งประเด็นต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเกณฑ์ผ่านประชามติที่ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธินั้น จะทำให้การทำประชามติเรื่องใดๆ นั้น ได้รับการยอมรับ เช่น กรณีที่มีการทำประชามติสอบถามถึงการเปิดบ่อนกาสิโนในประเทศ จำเป็นต้องได้รับเสียงเห็นชอบที่ได้รับการยอมรับ จึงจะถือว่าชอบธรรม

เมื่อถามว่า หากไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไข กมธ.การเมือง จะทำหนังสือหรือความเห็นแย้งไปยังกรรมการประชามติหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ต้องรอหารือในที่ประชุม กมธ.การพัฒนาการเมือง ที่คาดว่า จะมีการนัดประชุมสัปดาห์หน้า แต่หากระหว่างนี้มีการสอบถามความเห็น จะนำเสนอประเด็นตอบกลับไป

“ผมมองไม่เห็นว่า หลักเกณฑ์ตามมาตรา 13 ของกฎหมายประชามติจะเป็นเดดล็อกที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน เพราะหากมีการรณรงค์ให้กว้างขวาง เชื่อว่า จะทำให้คนออกมาใช้สิทธิได้ตามเกณฑ์ อย่างไรก็ดี หากคิดจะแก้ พ.ร.บ.ประชามติ ผมเกรงว่าเป็นการคิดประเด็นปลีกย่อย ที่อาจทำให้การทำประชามติไม่เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงการแก้รัฐธรรมนูญด้วย

เมื่อถามถึงข้อถกเถียงถึงกระบวนการแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ ว่า ต้องเป็นไปตามขั้นตอนปกติ หรือ ใช้ กมธ.ร่วมกันของรัฐสภา เพราะที่มาถือเป็นกฎหมายในหมวดปฏิรูปประเทศ นายวันชัย กล่าวว่า ตนมองว่า หากต้นทางใช้วิธีพิจารณาตามกระบวนการของกฎหมายปฏิรูปประเทศ ดังนั้น การแก้ไขควรเป็นไปตามกระบวนการเดิม คือ ใช้ กมธ.ร่วมกันของรัฐสภาพิจารณา


กำลังโหลดความคิดเห็น