xs
xsm
sm
md
lg

จ่อเพิ่มโอทีพิเศษ “ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตร” เสี่ยงอันตรายไล่จับแก๊งลิขสิทธิ์ “นายกฯ นิด” ไม่ขัด เล็งหักค่าจดทะเบียนฯ เจียด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ก.พาณิชย์” แทรกวาระรายงานทรัพย์สินทางปัญญา ขอ ครม.เพิ่มค่าโอที “ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตร” อ้างเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ไล่จับแก๊งละเมิดลิขสิทธิ์ ช่วยสะสางงานค้าง “นายกฯ นิด” ไม่ขัด จ่อตั้งเป็นค่าตอบแทนพิเศษ สูงสุด รายละ 1.5 หมื่น/เดือน เล็งหักจากค่าธรรมเนียมจดทะเบียนทรัพย์สินฯ ก่อนส่งเข้าคลัง

วันนี้ (15 พ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยตามกฎหมายการค้า ของสหรัฐอเมริกา

ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี พ.ศ. 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

ล่าสุด สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แจ้งเวียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการส่งเสริมการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้มีประสิทธิภาพ

ทั้งเร่งกวดขันปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังและเต็มประสิทธิภาพ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกันการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในท้องตลาดและช่องทางออนไลน์

และเร่งดำเนินคดีกันผู้ผลิตสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต้นน้ำ การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟด์แวร์ในภาคเอกชน และการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ ผ่านอุปกรณ์หรือแอปพลิเคชันสำหรับการสตรีมและดาวน์โหลด

ตามรายงานของกรมศุลกากร ระบุว่า สามารถตรวจยึดสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวนทั้งสิ้น 741 คดี ปริมาณของกลางรวม 910,662 ชิ้น

ครม.ยังขอให้หน่วยงานรัฐทั่วประเทศ ปฏิบัติตาม“แนวทางการจัดซื้อจัดจ้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software : ซอฟต์แวร์) และการใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ” อย่างเคร่งครัด ตามมติคณะรัฐมนตรี (29 มิ.ย. 2564)

ให้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เร่งรัดการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ.. เพื่อนำไปสู่การออกกฎหมายให้เท่าทันกันสถานการณ์

และรองรับการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮก ว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแนบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ระหว่างประเทศ

ล่าสุด ร่างฉบับนี้ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงกระบวนการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และสิทธิบัตรการออกแบบผลตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความตกลงกรุงเฮก นั้น

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 6)

มติให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พิจารณา “แนวทางการขอหักเงินค่าธรรมเนียม” การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ที่ต้องส่งเข้าเงินคงคลัง

เป็น “ค่าตอบแทนการปฎิบัติงานนอกเวลาราชการ” (โอที) ของผู้ตรวจสอบสิทธิบัตร เพื่อช่วยสะสางงานค้างสะสม โดยมีข้อเสนอค่าตอบแทนพิเศษ ที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต มีความชำนาญประสบการณ์สูง สูงสุด รายละ 15,000 บาท/เดือน ตามหลักเกณฑ์ ของ ก.พ.

กรณีนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความเห็นในฐานะรมว.คลัง ว่า รมว.คลัง สามารถอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ.2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 วรรคสอง

กำหนดข้อบังคับกระทรวงการคลังว่าค้วยการหักเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา พ.ศ. 2549

และที่แก้ไขเพิ่มเติม อนุญาตให้กรมทรัพย์สินฯ สามารถหักเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนทรัพย์สินฯ ก่อนนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

“กันไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการส่งเสริมและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาได้ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวงเงินที่กระทรวงการคลังกำหนด สำหรับการใช้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว”

ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินค่าธรรมเนียม การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเสริมเงินงบประมาณ พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

มติให้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เร่งรัดการพิจารณากำหนดให้ตำแหน่ง “ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตร” เป็นตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ให้ได้รับเงินเพิ่ม

สำนักงาน ก.พ. แจ้งว่า ได้ประสานกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อปรับปรุงระเบียบหรือหลักเกณฑ์ ตามขั้นตอนกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน.


กำลังโหลดความคิดเห็น