“เศรษฐา” เผยผลคุยผู้บริหารเทสล่า สนใจลงทุนในไทย เตรียมตัดสินใจช่วงไตรมาสแรกปีหน้า พร้อมเดินทางมาไทยมาดูที่ตั้งโรงงาน หลังเอกชนไทยเสนอ 3 แห่ง พร้อมเล่าประสบการณ์ทดสอบรถไซเบอร์ทรักของเทสล่าที่เตรียมเปิดตัวล่าสุดสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้
วันนี้ (14 พ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยบรรยากาศการเยี่ยมชมบริษัท เทสล่า โดยเยี่ยมชมกระบวนการผลิตบริษัท เทสล่า และร่วมทดสอบรถยนต์ ไซเบอร์ทรัก ซึ่งเป็นรถบรรทุกที่จะเปิดตัวสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เฉพาะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น และยังมีการพูดคุยกับผู้บริหารของเทสล่า โดยเทสล่าสนใจเข้าลงทุนในไทย เพราะไทยเป็นประเทศที่ทางเทสล่าให้ความสนใจสูงสุด คาดว่า จะสามารถตัดสินใจได้ในไตรมาสแรกของปีหน้า (2567) และเจ้าหน้าที่เทสล่าจะเดินทางไปประเทศไทย เพื่อไปดูที่ตั้งโรงงาน ซึ่งเอกชนไทยเป็นผู้เสนอจำนวน 3 แห่ง นายกรัฐมนตรีจึงได้ชวนให้ไปชมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย โดยเชิญเข้าร่วมเทศกาลยี่เป็ง ซึ่งเป็นการลอยกระทงที่จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี และมั่นใจว่าจะสรุปได้ในเร็ววันนี้
นายกรัฐมนตรี ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรถยนต์ไซเบอร์ทรัก ว่า เป็นรถยนต์รุ่นเรือธงของ อีลอน มัสก์ ทำจากอะลูมิเนียม ใช้ค้อนทุบไม่เป็นรอย ถูกชนไม่เป็นรอย ยืนบนหลังคาที่มีความแข็งแรงขณะตนเองเป็นคนตัวใหญ่กับเจ้าหน้าที่อีกคนยืนพร้อมกันยังไม่มีรอยบุบสำหรับสมรรถนะ มีความเร็ว 0-100 กิโลเมตร วิ่งได้ประมาณ 2.3 วินาที เร็วกว่ารถยนต์ Ferrari มีการทดสอบให้ดูเรียกได้ว่าน่าตื่นตาตื่นใจเข้าโค้งได้เกาะถนน ซึ่งได้ข่าวว่า บริษัทในอเมริกาสั่งซื้อแล้ว 1,000,000 คันและจากที่ได้ทดลองนั่งดีมากสบายมาก
ส่วนพบกับ HP ได้มีการหารือเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านภาษี และด้านศุลกากรเพราะต้องการความคล่องตัวเนื่องจากอยากจะย้ายฐานการผลิตเข้ามา ซึ่งทางบริษัทอยากจะประกาศการขยายกำลังการผลิตให้ได้ภายในกลางเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งทางอีซีอีโอ ของบริษัทจะมาพบกับตนเองอีกครั้ง ซึ่งจะมีข่าวดีคาดว่าจะจบได้ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้
ส่วนบริษัท ADI มีความสนใจที่จะมาเปิดโรงงานในประเทศไทยถือเป็นโอกาสดีที่ได้พูดคุยและรับทราบความต้องการ รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่เขาต้องการจะได้รับหากเข้ามาลงทุน ส่วนตัวดีใจที่ประเทศไทยอยู่ในช็อตลิสเนื่องจากมีความสนใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำพลังงานสะอาด และมีความต้องการบุคลากรด้านวิศวกรรมศาสตร์จำนวนมาก คาดว่า น่าจะตกลงกันได้ในเร็ววันนี้
ส่วนการสัมมนาโครงการแลนด์บริดจ์ ได้รับความสนใจเป็นอย่างดีถือเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ที่สำคัญโดยจะมีการพูดคุยกับนักลงทุนสหรัฐฯ 50 คน และนักลงทุนไทย 30 คน ว่า จะสามารถจับคู่ทางธุรกิจร่วมกันได้อย่างไร ในอนาคตคาดว่าโครงการนี้จะมีความชัดเจนใน 24 เดือน ขณะเดียวกัน เอกชนที่ส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับโครงการแลนด์บริดจ์ยังคงมีคำถามหลายประเด็นที่ไทยต้องทำการบ้านเพื่อตอบคำถามโดยเฉพาะประเด็น เรื่องของขนาดลงทุนเป็นเท่าไหร่