“รสนา” เผย หลังส่งหนังสือถึงนายกฯ ประยุทธ์ ทวงคืนท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผ่านไป 6 ปีแล้ว ศาลปกครองสูงสุด ยังไม่ตัดสินคดีทวงคืนเรื่องท่อก๊าซในทะเล เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือเป็นสมบัติของ ปตท. ชี้ รวมเวลาแล้ว 16 ปี คดีนี้ยังไม่มีคำตัดสิน การตัดสินมีอะไรยากมากจนต้องใช้เวลายาวนานขนาดนี้
วันนี้ (10 พ.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า วันนี้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว หลังจากส่งหนังสือถึงนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว ผู้ฟ้องคดีกรณี กฟผ.ได้สอบถามไปยังศาลปกครองสูงสุด ถึงกรณีการหมดอายุความการทวงคืนเรื่องท่อก๊าซภายในกำหนด 10 ปี คือ ภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ต่อมาได้รับคำตอบจากศาลปกครองสูงสุด ว่า “สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่มีอายุความ”
จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมาแล้ว 6ปี ศาลปกครองสูงสุด ยังไม่ตัดสินว่า ท่อก๊าซในทะเล เป็นสาธารณสมบัติหรือเป็นสมบัติของปตท. ถ้าท่อก๊าซเป็นสาธารณสมบัติที่ไม่มีอายุความ แต่อาจจะถูกเอกชนเอาไปใช้ จนหมดอายุท่อก๊าซไปเสียก่อนหรือไม่ กรณีทวงท่อก๊าซสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมเวลาแล้ว 16 ปี คดีนี้ยังไม่มีคำตัดสิน ประชาชนสงสัยว่า การตัดสินมีอะไรยากมากจนต้องใช้เวลายาวนานขนาดนี้เชียวหรือ !!??
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 60 นางรสนา ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ วันนี้ดิฉันได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีรมว.กระทรวงการคลัง และรมว.กระทรวงพลังงานขอให้สั่งการให้มีการคืนระบบท่อส่งก๊าซตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้ครบถ้วนก่อนหมดอายุความ
ลำดับเหตุการณ์คดีนี้
1) คดีนี้มีผู้ฟ้องคดี5รายโดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้ฟ้องคดีที่ 1 น.ส รสนา โตสิตระกูล เป็นผู้ฟ้องคดีที่ 2 ฟ้องคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นายกฯ ที่ 2 รมว.พลังงาน ที่ 3 และ บมจ.ปตท.ที่ 4 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่รายร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็น (1) สาธารณสมบัติของแผ่นดิน (2) สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้ง (3) แยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐ ออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4
และต่อมาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ “เห็นชอบหลักการการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ และสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยมีมติ (1) ให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว (2) ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง (3) หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาล ในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป”
2) ต่อมากรมธนารักษ์ได้รับโอนทรัพย์สินจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวนหนึ่งในปี 2551 การที่กรมธนารักษ์รับโอนทรัพย์สินดังกล่าว มิได้มีผลการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตามเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ปรากฏว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้จัดทำรายงานการตรวจสอบมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ระบุว่าระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังในปี 2551 เป็นมูลค่า 16,176.22 ล้านบาทนั้น ยังไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษา โดยมีระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ยังมิได้แบ่งแยกอีกจำนวนทั้งสิ้น 32,613.44 ล้านบาท
3) อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดที่อ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว เป็นเหตุให้ตุลาการบันทึกด้วยลายมือลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ว่า “เสนอวันนี้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รายละเอียดปรากฏตามคำร้องรวมสำนวน” ทั้งที่ปรากฏข้อมูลในรายงานการประชุมวันที่ 29 ตุลาคม 2551 ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มตรวจสอบงบการเงิน ปตท. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประกอบบันทึกฝ่ายบัญชีบริหาร และสรุปรายงานการประชุมระหว่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วันอังคารที่ 9 ธันวาคม 2551 ปรากฎหลักฐานว่าปตท.รับทราบความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตามรายงานฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2551 เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2551 และวันที่ 9 ธันวาคม 2551 ตามลำดับ แต่ได้ละเว้นไม่แจ้งความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าวให้แก่ศาลปกครองสูงสุดในการยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551
4) ต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 800/2557 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2557 หน้า 64 ได้กำหนดวิธีดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีไว้อย่างชัดแจ้งว่า
“การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งพันสี่ร้อยห้าสิบคนกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด โดยที่ยังไม่มีการตรวจสอบและรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งผลการตรวจสอบของ สตง. ยืนยันว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) ส่งมอบทรัพย์สินคืนให้แก่กระทรวงการคลังยังไม่ถูกต้องครบถ้วน จึงเป็นการรายงานสรุปการดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินคืนให้กระทรวงการคลังที่ยังไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดนั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งพันสี่ร้อยห้าสิบคนกล่าวอ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรี มิใช่เป็นเหตุที่จะกล่าวอ้างว่าเป็นการดำเนินการที่ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายเพราะเป็นกระบวนการที่กำหนดขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น”
5) ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้มีมติเห็นพ้องตามผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2550 และมีการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 เนื่องจากไม่มีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบรับรอง รวมทั้งเห็นว่าการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว มีการแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญและปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่จะต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด จึงมีมติให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการเพื่อให้มีการส่งมอบทรัพย์สินให้ครบถ้วนถูกต้องต่อไป และแจ้งนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และเนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือลงวันที่ 24 สิงหาคม 2559 ถึงนายกรัฐมนตรีและบุคคลที่เกี่ยวข้องไปแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าว ผู้ที่ละเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 46 และมาตรา 64แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542
6) ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหนังสือ ที่ นร ๐๙๐๓/๓๗๙ ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๙ ถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพร้อมทั้งต่อคณะรัฐมนตรีระบุว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้วินิจฉัยคำพิพากษาแล้วว่าศาลปกครองสูงสุด มิได้แยกระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกเป็นส่วนๆ หรือคำนึงว่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ตั้งอยู่บนที่ดินของใคร ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) จึงสรุปได้ว่าความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่เห็นว่าทรัพย์สินสุทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบ่งแยกและส่งมอบกระทรวงการคลังแล้วรวม 16,176.22 ล้านบาท ยังไม่ครบถ้วนนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 ว่า หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษา ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติ ดังนั้น เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้วินิจฉัยคำพิพากษาจนมีข้อยุติแล้ว
ข้อเสนอแนะ
(1) นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.๔๗/๒๕๔๙ คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.๓๕/๒๕๕๐ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชากระทรวง ทบวง กรมทั้งหลาย จึงจะต้องดำเนินการให้การแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิแล้วเสร็จก่อนวันที่ 13 ธันวาคม 2560 เพื่อป้องกันมิให้มีความเสี่ยงที่อายุความการบังคับคดี 10 ปีจะหมดลงนั้นเกิดขึ้น ซึ่งจะก่อความเสียหายต่อฐานะการคลังและทรัพย์สินของประเทศอย่างใหญ่หลวง
(2) การแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามคำพิพากษาโดยที่สตง.พิจารณาเฉพาะทรัพย์สินก่อนการแปรรูปเมื่อปี2544 แต่ทรัพย์สินที่มีการใช้อำนาจมหาชนยังเกิดขึ้นต่อเนื่องหลังการแปรรูปจนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ที่มีคำสั่งให้มีการแบ่งแยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิเอกชนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4(บมจ.ปตท.)นั้นยังไม่ได้มีการสำรวจตรวจสอบในส่วนนี้แต่อย่างใด ทางผู้ฟ้องคดีได้ทำรายการทรัพย์สินที่น่าจะอยู่ในคำสั่งศาลที่ว่าเป็น"ทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน"ทั้งก่อนการแปรรูป และหลังการแปรรูปแล้วมาให้ประกอบการพิจารณาตรวจสอบของนายกรัฐมนตรีด้วย
นอกจากนี้ ตามคำสั่งของศาลที่ให้มีการแบ่งแยกอำนาจและสิทธิมหาชนด้วยนั้นในเรื่องของสิทธิมหาชนย่อมจะต้องหมายรวมถึงสิทธิในการซื้อก๊าซธรรมชาติจากผู้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐและเดิมรัฐได้มอบให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นผู้ใช้สิทธินี้ และทรัพย์สินและสิทธิต่างๆ ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และทรัพย์สินทั้งปวงที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจมหาชนทั้งก่อนและภายหลังวันแปรสภาพการปิโตรเลียมฯ ไปเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมทั้งทรัพย์สินและสิทธิอื่นใดทั้งหมดซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ นายกรัฐมนตรีจึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องทำการสำรวจตรวจสอบเพื่อดำเนินการให้ครบถ้วนตามคำพิพากษา
(3) เนื่องจากมีหลักฐานที่ชัดแจ้งว่ามีการละเว้นไม่แจ้งความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าวให้แก่ศาลปกครองสูงสุดในการยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 นายกฯ จึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย
ท้ายสุดได้ขอให้ท่านนายกฯพิจารณาดำเนินการโดยเร่งด่วนก่อนครบกำหนด 10 ปี ของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 13 ธันวาคม 2560 หากท่านนายกฯยังละเลยไม่ดำเนินการภายในกำหนด อาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา