xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” เตือนแรง ดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อไทยถึงทางตันเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจได้ไม่แล้ว ขืนทำอาจซ้ำรอยจำนำข้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รสนา” เตือนเงินดิจิทัลพรรคเพื่อไทยถึงทางตัน ไม่สามารถเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจได้แล้ว หลังกฤษฎีกาวินิจฉัยเสี่ยงผิด พ.ร.บ.เงินตราฯ หากไม่เก็บเงินดิจิทัลออกจากตลาดให้หมดตามระยะเวลาโครงการ ขณะความเห็นอดีตผู้พิพากษา ระบุ รมว.คลัง ไม่มีอำนาจอนุมัติให้ใช้ ขืนทำอาจซ้ำรอยจำนำข้าว

วันนี้ (28 ต.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสตฺข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ตั้งคำถามว่า การแจกเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยถึงทางตันไม่สามารถเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจได้แล้ว ใช่หรือไม่? โดยมีรายละเอียด ว่า ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยเงินดิจิทัลของเพื่อไทยไม่สามารถนำไปหมุนเวียนหลายๆ รอบแบบเงินตราได้ ตามที่วินิจฉัยไว้ดังนี้

“พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 จากการตีความการดำเนินนโยบายตามข้อกฎหมายฉบับนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า สามาถดำเนินนโยบายได้ ถ้าสามารถเก็บเงินหรือให้ร้านค้าที่รับเงินเป็นคนสุดท้ายเบิกเป็นเงินสดออกมาได้ภายใน 6 เดือนตามระยะเวลาโครงการไม่ขัดกับกฎหมาย แต่ถ้าไม่เก็บกลับภายในระยะเวลาโครงการและยังปล่อยให้มีการนำเงินดิจิทัลไปใช้จ่ายต่อจะถือว่าขัดต่อกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นสกุลเงินใหม่”

ดิฉันนำประเด็นนี้ไปขอความรู้จากอดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาท่านหนึ่ง ท่านให้ความเห็นกับดิฉันว่า มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา 2501 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ทำ จำหน่าย ใช้ หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใดๆ แทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง”

การฝ่าฝืนย่อมเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ซึ่งมีโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่มาตรา 9 ตราขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2501 ซึ่งยังไม่มีการใช้ app หรือดิจิทัลเทคโนโลยี ดังนั้น คำว่า “วัตถุหรือเครื่องหมายใดๆ” ตามมาตรา 9 ดังกล่าวจึงน่าจะหมายถึงวัตถุหรือเครื่องหมายที่มีรูปร่าง เช่นธนบัตร เหรียญกษาปณ์ เท่านั้น ถ้าเงินตราที่เป็นเครื่องหมายตามมาตรา 9 ดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังย่อมมีอำนาจอนุญาตให้ใช้แทนเงินตราได้

เมื่อ app หรือดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นวัตถุหรือเครื่องหมายที่ไม่มีรูปร่าง การใช้แทนเงินตราจึงต้องห้ามตามมาตรา 9 ดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะอนุญาตให้ใช้แทนเงินตราไม่ได้

หากอนุญาตก็ไม่มีผลตามกฎหมายให้ใช้แทนเงินตราได้ และรัฐมนตรีฯ ย่อมมีความผิดและได้รับโทษตามกฎหมายด้วยตามมาตรา 35

การที่คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า “สามาถดำเนินนโยบายได้ ถ้าสามารถเก็บเงินหรือให้ร้านค้าที่รับเงินเป็นคนสุดท้ายเบิกเป็นเงินสดออกมาได้ภายใน 6 เดือนตามระยะเวลาโครงการไม่ขัดกับกฎหมาย แต่ถ้าไม่เก็บกลับภายในระยะเวลาโครงการและยังปล่อยให้มีการนำเงินดิจิทัลไปใช้จ่ายต่อจะถือว่าขัดต่อกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นสกุลเงินใหม่” อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาท่านนั้นจึงแสดงความเห็นว่า ไม่น่าจะทำได้ตาม พ.ร.บ.เงินตราฯ มาตรา9”

ดิฉันจึงขอแนะนำให้รัฐบาลนำความเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาว่าการแจกเงินคนละ 10,000 บาท ผ่าน app หรือดิจิทัลเทคโนโลยีนั้นต้องห้ามตามมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือไม่? และสามารถทำได้ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยหรือไม่? เป็นการพิจารณาในประเด็นข้อกฎหมาย

ส่วนประเด็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจหากมีการแจกเงินดิจิทัลนั้น รัฐบาลควรรับฟังความเห็นทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แล้วชั่งน้ำหนักว่าความเห็นของฝ่ายใดมีเหตุผลมากกว่า ไม่ควรยืนยันที่จะดำเนินการต่อไปโดยไม่พิจารณาความเห็นของทุกฝ่ายให้ละเอียดรอบคอบก่อน เพราะเสี่ยงต่อความรับผิดทางอาญาและทางแพ่งเหมือนคดีจำนำข้าวในอดีต


กำลังโหลดความคิดเห็น