เมืองไทย 360 องศา
จะเรียกว่า “แป้ก” แบบผิดคาดก็ได้ สำหรับพรรคก้าวไกล ที่กำลังออกแรง หวัง “ยุบ กอ.รมน.” หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ทิ้งไป โดยอ้างรวมๆ แบบเข้าใจได้ว่า “เปลืองงบ” ไร้ประโยชน์ เป็นแหล่งหาผลประโยชน์ของนายพลในกองทัพ อะไรประมาณนั้น แต่ผลสะท้อนที่กลับมาเป็นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นว่า ชาวบ้านก็ไม่เอาด้วย ยิ่งไม่ต้องพูดถึงรัฐบาล โดยเฉพาะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้งพรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งประกาศชัดว่า “ไม่ยุบ” เป็นอันขาด
ก่อนหน้านี้ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคก้าวไกล ล่ารายชื่อประชาชน เพื่อเสนอร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน. ต่อสภา ว่า ต้องยอมรับว่า กอ.รมน. ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งในการบูรณาการกับส่วนราชการต่างๆ เพื่อผลักดันนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ดังนั้น การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ หากสั่งผ่าน กอ.รมน. จะเวิร์ก
เมื่อถามว่า กอ.รมน. ไม่ใช่หน่วยงานซ้ำซ้อนตามที่โดนโจมตี ใช่หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ตนมองว่า อยู่ที่ผู้บริหารประเทศจะใช้งาน ถ้าเลือกใช้ไม่เป็น จะซ้ำซ้อน แต่ถ้าเลือกเป็น คือ การสนธิกำลังและบูรณาการอำนาจและทรัพยากร
เมื่อถามว่า กอ.รมน. ถูกมองว่า ให้อำนาจทหารมากเกินไป ในปัจจุบันนี้สมดุลอยู่แล้ว หรือต้องมีการปรับสมดุลใหม่ นายสุทิน กล่าวว่า “คงไม่หรอก ถ้าผู้นำประเทศใช้ กอ.รมน. เป็น อยู่ที่คนใช้งาน ไม่ใช่ตัวองค์กร ที่ผู้นำประเทศที่จะสั่งการเป็นหรือไม่ ยืนยันว่า รัฐบาลเพื่อไทย ยังไม่มีนโยบายลดบทบาท กอ.รมน. เพียงแต่ว่ามีการขับเคลื่อนนักการเมืองหลายส่วน ซึ่งในกลุ่ม ส.ส.เพื่อไทย อยากให้ปรับภารกิจ แต่ ส.ส.บางพรรคอยากให้ยุบ กอ.รมน.”
“สิ่งที่ ส.ส.เพื่อไทย อยากให้ปรับภารกิจ คือ สิ่งที่ซ้ำซ้อนให้ลดลง เน้นสนับสนุนความมั่นคงต่างๆ ของประเทศ เช่น เศรษฐกิจ วัฒนธรรม คุณภาพชีวิต เพราะที่ผ่านไปเป็นหนักความมั่นคงทางทหาร ที่เน้นแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเพียงอย่างเดียว” นายสุทิน กล่าว
เมื่อถามว่า กอ.รมน. ถูกโจมตีว่าใช้มวลชนไปหาเสียงเลือกตั้ง หรือการทำประชามติ นายสุทิน กล่าวว่า อาจจะมีคนคิด และบางยุคอาจจะเป็นอย่างนั้น ดังนั้น หากผู้นำใช้เป็น ก็จะเป็นประโยชน์ ผู้นำบางยุคอาจนำ กอ.รมน. ไปใช้ในทางการเมือง เพราะฉะนั้น จากนี้ผู้นำที่ดี จะไม่ใช้ กอ.รมน. เป็นเครื่องมือทางการเมือง ก็จะทำให้คนมองภาพลักษณ์ กอ.รมน.ดีขึ้น
“ผมได้กำชับกระทรวงกลาโหมไปว่า ให้ระมัดระวังในเรื่องปฏิบัติการไอโอที่พูดถึงกัน ผมได้บอกว่าไอโอสามารถทำได้ แต่ต้องสร้างสรรค์ เกิดภาพพจน์ที่ดีต่อประเทศและกองทัพ แต่ถ้าเป็นไอโอที่ไปทำร้ายกัน หรือด้อยค่า ขยายความขัดแย้ง ได้กำชับว่าอย่าทำ แต่ก็ยอมรับว่า กองทัพก็ถูกไอโอทางอื่นมาด้อยค่า ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกองทัพด้วย ซึ่งผมได้กำชับว่า กองทัพก็ต้องตั้งหลักให้ดี” นายสุทิน ระบุ
ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวทำนองเดียวกันว่า จากการที่พูดไปในวันนี้ (กับผู้นำเหล่าทัพ) ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการยุบ กอ.รมน. เลย ตามความเข้าใจของตนที่ได้พูดคุยกับผู้บัญชาการทหารบก ว่า ที่มาที่ไปของเรื่องนี้มันคืออะไร เรียกว่าในสมัยก่อน หน่วยงานนี้ เป็นหน่วยงานที่ปราบปรามคอมมิวนิสต์ ซึ่งเดี๋ยวนี้คอมมิวนิสต์ไม่มี บริบทการทำงานของกอ.รมน.ก็เริ่มเปลี่ยนไป วันนี้ เราไม่ได้มีการพูดเรื่องคอมมิวนิสต์เลย แต่เป็นเรื่องของการทำช่องว่างระหว่างความเข้าใจผิดระหว่างกองทัพกับประชาชนลดน้อยลง อันนี้ตนถือว่าเป็นเรื่องขั้นต้น เรื่องการมอบที่ดินให้ หนองวัวซอ 9,000 กว่าไร่ โดยทุกๆกองทัพจะมีการนำที่ดินออกมาอีก และขณะที่ตนลงลิฟต์มา ยังได้เรียนกับรองผู้อำนวยการ กอ.รมน. และ ผบ.ทบ.ไปว่า ขออย่าให้หยุดแค่นี้ และให้ดูด้วยว่าไม่ใช่มอบที่ดินไปแล้ว ไม่มีแหล่งน้ำ อาจจะรวมไปถึงการขุดแหล่งน้ำ เพื่อให้เขามีระบบชลประทานที่ดีกว่าเพื่อไปประกอบอาชีพได้จริงจัง รวมถึงเรื่องของ พ.ร.บ.อากาศสะอาด และเรื่องที่จะต้องช่วยกันดูแลเรื่องภัยแล้งน้ำท่วม
“ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการยึดหน่วยงาน กอ.รมน.เลย ไม่ได้อยู่ในความคิดของรัฐบาลนี้ ไม่ได้อยู่ในความตั้งใจ และไม่ได้อยู่ในนโยบายรัฐบาลนี้เลยแม้แต่สักน้อย ชัดเจนนะครับ” นายเศรษฐา กล่าวย้ำหนักแน่น
นั่นคือ ท่าทีชัดเจนของฝ่ายรัฐบาล ทั้ง นายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย ว่า ไม่มีทางยุบ กอ.รมน. อย่างเด็ดขาด และนอกจากไม่ยุบแล้ว ยังดึงมาใช้ประโยชน์อีกต่างหาก โดยการปรับบทบาทให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งการช่วยเหลือภัยพิบัติ ใช้เป็นกลไกรัฐบาลในภารกิจหลากหลาย อาจเน้นในเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ภัยแล้ง สารพัด แต่สิ่งที่ไม่พูดออกมาให้ได้ยิน ก็คือ ต้องนำมาใช้เป็น “กลไกทางการเมือง” แน่นอน
เพราะต้องไม่ลืมว่า ที่ผ่านมา หน่วยงานดังกล่าวที่มักรับรู้กันอยู่แล้วที่เน้นในเรื่องความมั่นคง ก็ย่อมต้องมีเรื่อง “การข่าว” หรือแม้แต่ในยุคหลัง มักมีเรื่อง “ไอโอ” ที่ถูกพูดถึงมากขึ้น และที่สำคัญ ตำแหน่งผู้อำนวยการ กอ.รมน.ก็คือ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นโดยตำแหน่ง ดังนั้น ตอนนี้ก็คือ นายเศรษฐา ทวีสิน นั่นเอง
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาถึงบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาล ต้องบอกว่า กำลังเป็นไปอย่าง “ชื่นมื่น” เพราะสามารถสนองนโยบายได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่งมอบที่ดินของกองทัพที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์นำมาจัดสรรให้ประชาชนมีที่ทำกิน ซึ่งในเบื้องต้นนำร่องไปแล้วกว่าหมื่นไร่ ในหลายจังหวัด ทั้งภาคอีสาน และภาคกลาง ภาคตะวันตก เป็นต้น โดยจะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตามกำหนดการ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดแจกที่ดินจัดสรรดังกล่าวให้กับประชาชนในวันที่ 25 ธันวาคม เพื่อเป็นของขวัญ
แน่นอนว่า นี่คือ งานการเมืองที่แฝงเข้ามาอย่างชัดเจน รัฐบาลย่อมได้คะแนนนิยม ขณะเดียวกัน หากเข้าใจกันว่า หน่วยงาน กอ.รมน.เป็นเรื่องของความมั่นคง มันก็ย่อมใช้เป็นกลไกรัฐที่นำมาใช้ประโยชน์ในทางการเมืองอย่างดี เพียงแค่ปรับภาพลักษณ์ให้ “ซอฟต์” ลงเท่านั้น อีกทั้งเมื่อบรรยากาศการเมืองเปลี่ยนไป หมดเงื่อนไขเผด็จการ รวมไปถึงบรรดาผู้นำกองทัพต้องถอยกลับที่ตั้งปรับบทบาทแบบ “อยู่เป็น” มันก็ไม่มีกระแสกดดันบีบคั้นจากภายนอกมากนัก
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ฝ่ายที่เสนอให้ยุบ กอ.รมน. คือ พรรคก้าวไกล กำลังถูกมองในทางลบมากขึ้น กลายเป็นเพิ่มความไม่น่าไว้วางใจ ไม่ต่างจากต้องสงสัยว่ามีเจตนาทำลายความมั่นคงภายใน เพราะแม้แต่ความเห็นของประชาชนที่โหวตทางออนไลน์ ผลออกมาแทบไม่น่าเชื่อว่า เกือบร้อยละแปดสิบ “ไม่ต้องการให้ยุบ” กลายเป็นว่า พรรคก้าวไกล “หน้าแหก” ไปแบบงงๆ เพราะมันเหนือความคาดหมายไปมาก
อย่างไรก็ดี หากให้วิเคราะห์สถานการณ์ว่าทำไมถึงได้ออกมาแบบนี้ ส่วนสำคัญอาจเป็นเพราะ “เงื่อนไขเผด็จการ” หมดไปแล้ว วาทกรรมเรื่อง “สืบทอดอำนาจ” หมดไป หลังจาก “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางมือทางการเมือง ทำให้เงื่อนไขหากินของพรรคก้าวไกล ฝ่อลงไปด้วย สังเกตจาก “ม็อบสามนิ้ว” เวลานี้ก็เหงาหงอย แทบจะไม่มีพลังเคลื่อนไหวเลย มีแต่รอรับชะตากรรมหลังจากคดีความต่างๆ กำลังทยอยพิพากษาออกมา หรือได้แค่รอลุ้นประกันตัวเท่านั้น
ดังนั้น หากพิจารณากันตามรูปการณ์แล้ว งานนี้ถือว่า ทั้งพรรคเพื่อไทย และกองทัพ “อยู่เป็น วิน วิน” กันทั้งสองฝ่าย ขณะที่ฝ่ายการเมืองได้ประโยชน์เต็มๆ ขณะที่อีกฝ่าย คือ ก้าวไกล กลายเป็นผู้ร้าย ถูกมองในด้านลบไปเสียฉิบ เพราะดูเหมือนไม่น่าไว้ใจ ทำให้กระแส “มีเรื่องกับทหาร” ไม่เท่เหมือนในอดีตยุค “สาม ป.” เพราะเงื่อนไขมันเปลี่ยนไปแล้ว!!