ข่าวปนคน คนปนข่าว
**บุญคุณ “วันนอร์” ต่อ “อิหร่าน” ได้ลุ้นฮามาสปล่อยตัวประกันคนไทย
ยังต้องเอาใจช่วยกันต่อไป สำหรับแรงงานไทยที่ถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกันระหว่างทำงานในอิสลาราเอล แล้วเกิดศึกแบบสายฟ้าแลบขึ้นมา ซึ่งตัวเลขล่าสุดยังอยู่ที่ 22 ราย ขณะที่ทางการไทยหลายส่วนหลายฝ่าย ต่างพยายามคนละไม้คนละมือ เพื่อให้ทั้ง 22 คน ได้รับการปล่อยตัว
โดยการเจราจาช่วยเหลือที่ดูเป็นชิ้นเป็นอันมากที่สุด ก็น่าจะเป็นผลงานของทีมที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ที่มีความคืบหน้าถึงขั้นได้ไปพบปะพูดคุยกับตัวแทนกลุ่ม“ฮามาส” ที่ประเทศอิหร่าน มาเรียบร้อยแล้ว
ฟังจากคำแถลงของ “อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์” ที่ปรึกษาประธานสภาฯ และ “มุข สุไลมาน” เลขานุการประธานสภาฯ ที่รัฐสภาเมื่อวาน (1พ.ย.) ก็พอทำให้ญาติพี่น้องของแรงงาน และคนไทยที่ห่วงใยได้อุ่นใจอยู่เปลาะหนึ่ง
เมื่อทราบว่าทางกลุ่มฮามาส ยืนยันในความปลอดภัยของตัวประกันคนไทย พร้อมดูแลความเป็นอยู่ให้อย่างดีไม่ให้เดือดร้อน แถมเชิญเข้าไปพบตัวประกันคนไทยในฉนวนกาซ่าอีก เพียงแต่ตัวแทนฝ่ายไทยเกรงอันตรายจึงไม่ได้เข้าไป
ส่วนกรอบเวลาที่จะปล่อยตัว ยังไม่สามารถกำหนดวัน-เวลา ที่จะปล่อยตัวได้ เพราะกลัวจะได้รับอันตรายจากการโจมตีของอิสราเอลในช่วงที่ปล่อยออกมา
นอกจากนั้น ทีมงาน “ประธานวันนอร์” ยังได้พบที่ปรึกษาประธานาธิบดีอิหร่าน พร้อมตัวแทนปาเลสไตน์ ในกรุงเตหะราน ซึ่งทางอิหร่านชาติที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการฮามาส ก็รับปากว่าจะเป็นตัวกลางให้ความช่วยเหลือคนไทย โดยจะรายงานเรื่องนี้ต่อประธานาธิบดี พร้อมประสานไปยังรัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน เพื่อไปพบกับหัวหน้าของกลุ่มฮามาส ในขั้นต่อไป
ขณะที่คณะประสานงานของประธานรัฐสภา ก็ยังวางคนประจำการอยู่ที่ประเทศอิหร่าน เพื่อคอยประสานงานหากมีการปล่อยตัวคนไทย
ก็เอาเป็นว่า ถ้าเป็นไปตามที่แถลงก็นับเป็นผลงานชิ้นโบแดงของ “ประธานวันนอร์”เลยทีเดียว
ว่ากันว่า เหตุที่อิหร่านยินดีช่วยประสานช่วยเหลือตัวประกันคนไทย นอกจากเพราะความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ชาติที่ยาวนานมา 300 ปี และความเป็นมุสลิมชีอะห์ ของประธานรัฐสภาไทยแล้ว ยังเป็นเพราะบุญคุณที่เคยมีต่อกันมาในอดีต ระหว่าง “อาจารย์วันนอร์” กับประเทศอิหร่าน นั่นเอง
ย้อนกลับไปในสมัย“อักบาร์ รัฟซันยานี” เป็นประธานธิบดีอิหร่าน เกิดเหตุการณ์ “คาร์บอมบ์” หน้าสถานทูตอิสราเอลในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2537
ขณะนั้นตำรวจไทยได้จับกุมชาวอิหร่าน ที่เดินทางเข้าไทยจากทางมาเลเซีย และตั้งข้อหาว่าเป็นมือคาร์บอมม์ แล้วให้ “สมชาย นีลไพจิตร” เป็นทนายความช่วยว่าความให้
คดีนี้ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ตัดสินประหารชีวิต และในปี 2541 คดีมาถึงชั้นศาลฎีกา อดีตประธานาธิบดี “ลัฟซันยานี” ได้พาพ่อแม่ของจำเลยชาวอิหร่านมาร้องไห้ และยืนยันว่าลูกชายไม่ผิด แค่มาทำการค้าขายในมาเลเซียเท่านั้น
ในเวลานั้น “อาจารย์วันนอร์” ซึ่งอยู่ในตำแหน่งประธานรัฐสมัยแรก ได้มาพบ และบอกว่าจะให้ความเป็นธรรม
ต่อมาคำพิพากษาของศาลฎีกาก็เป็นใจ เมื่อได้พิพากษากลับยกฟ้อง ทำให้“ประธานวันนอร์” ได้รับการยอมรับจากประเทศอิหร่าน มาตั้งแต่บัดนั้น
ในฐานะคนไทยด้วยกัน ก็ได้หวังว่า บุญคุณครั้งนั้นของ “ประธานวันนอร์” ที่มีต่อคนอิหร่าน จะส่งผลหนุนนำให้ตัวประกันคนไทยทุกคนได้รับการปล่อยตัวโดยเร็ว
**ชะตาชีวิตของ “รองฯรอย” คงได้เกษียณในตำแหน่งเลขาฯ สมช. มากกว่ารอง ผบ.ตร.
ได้ฤกษ์เสียที สำหรับการตั้งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เมื่อ “นายกฯนิด” เศรษฐา ทวีสิน จะนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานในการประชุมเพื่อแต่งตั้งในวันนี้ (2 พ.ย.) ก่อนส่งเข้าขอความเห็นชอบจากที่ประชุมครม.ในวันอังคารหน้า (7 พ.ย.)
นายกฯบอกใบ้ว่า เรื่องตัวบุคคลนั้น ลงตัวแล้ว เพียงแค่รอดำเนินการตามขั้นตอนเท่านั้น
หากย้อนไปเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา “พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในขณะนั้นซึ่งกำลังจะเกษียณ บอกว่าจะเสนอชื่อ “ฉัตรชัย บางชวด” รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ลูกหม้อสมช. ขึ้นเป็นเลขาฯสมช.ต่อจากตนเอง
ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสสะพัดว่า จะมีการส่ง “พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์” รองผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 1 ข้ามห้วยไปเป็นเลขาฯสมช. เพื่อเปิดทางให้ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. อาวุโส ลำดับ 2 กับ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. อาวุโสลำดับ 4 ได้ชิงดำกันในตำแหน่ง ผบ.ตร.
เหตุการณ์ทำท่าว่าจะซ้ำรอยเหมือนสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่มีการย้าย “พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี” ผบ.ตร.ไปดำรงตำแหน่ง เลขาฯสมช. แทน “ถวิล เปลี่ยนศรี” โดยให้ “ถวิล” ไปนั่งตบยุงที่ทำเนียบฯ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้ “พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์” พี่ชายคุณหญิงอ้อ ขึ้นเป็น ผบ.ตร.
แต่ “นายกฯเศรษฐา” ก็ออกมาดับกระแสข่าวดังกล่าว โดยบอกว่าจะให้ความเป็นธรรม ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และจะสนับสนุนข้าราชการ ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ให้เติบโตในสายงาน ตบท้ายด้วยการปฏิเสธว่า ยังไม่เห็นเรื่องที่ว่า “พล.ต.อ.รอย” จะโยกมานั่งเลขาฯสมช.
แล้วก็ไม่มีการโยกย้าย“รองฯรอย” จริงๆ จนกระทั่งการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ผ่านไป โดย “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ผงาดขึ้นนั่ง ผบ.ตร. ส่วน “บิ๊กโจ๊ก” ต้องแพ้ภัยลูกน้องที่แวดล้อมรอบกาย เพราะไปพัวพันเว็บพนันออนไลน์... ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีการตั้ง “ลูกหม้อสมช.” คนใด ขึ้นมาเป็นเลขาฯสมช.เช่นกัน
ถึงวันนี้ เมื่อ“นายกฯเศรษฐา” บอกว่าจะพิจารณาแต่งตั้งเลขาฯสมช.คนใหม่ สปอตไลต์ ก็ฉายจับไปที่ “รองฯรอย” อีกครั้ง ทั้งที่เพิ่งได้รับการแบ่งงานจาก ผบ.ตร. ให้เป็นผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
มีการให้เหตุผลถึงการโอนย้าย“พล.ต.อ.รอย”ไปดำรงตำแหน่งเลขาฯ สมช. ว่า เป็นตำแหน่งที่สูงขึ้น เทียบเท่าระดับซี 11 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของข้าราชการ ก่อนที่จะเกษียณ
“พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์” เกิดวันที่ 6 ส.ค.2507 เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดในครอบครัวหมอ พ่อเป็นแพทย์ แม่เป็นพยาบาล จบมัธยมต้นโรงเรียนเซนต์คาเบรียล , มัธยมปลายเตรียมอุดม จากนั้นสอบเข้าเรียน “เตรียมทหาร รุ่น 24” เป็นรุ่นแรก ที่รับม.ปลาย เรียนร่วมกันทุกเหล่าทัพ จากนั้นไปต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 40 แถมคว้าปริญญาตรี นิติศาสตร์ รามคำแหง, MPA สหรัฐอเมริกา, หลักสูตรหลัก FBI, หลักสูตรสืบสวน ที่สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย
เส้นทางชีวิตข้าราชการตำรวจ “พล.ต.อ.รอย” เริ่มที่ตำแหน่งรองสารวัตร กองบังคับการปราบปราม ก่อนขยับเป็น รองสารวัตร กองบัญชาการสืบสวน, สว.กก. 5 กองตำรวจสันติบาล 1 นว.(สบ 3) จากนั้นได้ ติดยศ พ.ต.อ. ในตำแหน่ง ผกก.7 บก.ทล. เป็นผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ขึ้นรองผู้บังคับการ ในตำแหน่ง รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ก่อนโยกไปเป็น รอง ผบก.สบพ. และ รอง ผบก.ฝรก., จากนั้นขึ้นเป็น รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล และผู้บัญชาการศึกษา , ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปัจจุบันเป็น รอง ผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 1 จะเกษียณ 30 กันยายน 2567
และสัปดาห์หน้าก็จะชัดเจนแล้วว่า “รองฯรอย” จะเกษียณที่ตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. หรือ เลขาฯสมช.