“ธีระชัย” แนะ “เศรษฐา” ยกเลิกแจกเงินดิจิทัล ชี้เข้าข่ายเป็น “เงินตรา” ตาม พ.ร.บ.เงินตราฯ แน่นอน หากมองตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน หากเดินหน้าโครงการ ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ก่อน ไม่เช่นนั้น จะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ชี้เป็นอุปสรรคใหญ่ที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้คำนึงไว้ตอนหาเสียง
วันนี้ (29 ต.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในหัวข้อ “เงินดิจิทัลเป็นเงินตรา” มีรายละเอียดระบุว่า ผมขอแนะนำท่านนายกเศรษฐา อาจจะต้องถึงขั้นยกเลิก โครงการแจกเงินดิจิทัล
ปัญหาลำหักลำโค่น คือ ในแง่มุมของกฎหมาย ซึ่งถ้าไม่เคลียร์ ท่านก็จะพารัฐมนตรีของพรรคร่วมลงเหวไปด้วย
ผมให้ข้อสังเกตไว้ ดังนี้
หนึ่ง ทำไมต้องแจกเป็นเงินดิจิทัล
พรรคเพื่อไทยหาเสียง โดยชูโรงโครงการแจกเงินดิจิทัล เป็นเรือธงนำ flag ship
ถ้าหากแจกเป็นเงินธรรมดา สังคมก็จะประณาม ว่า เป็นการใช้เงินหลวงเพื่อสร้างความนิยมจึงต้อง promote ว่า การเป็นเงินดิจิทัล จะทำให้ต่างชาติตะลึงงัน ในความสามารถของพรรคเพื่อไทย
อ้างว่า เงินดิจิทัลจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ทางการเงิน ทั้งที่ไม่จริง
คนที่รู้เรื่องดิจิทัลผิวเผิน ก็ช่วย promote ว่า จะเป็นเรื่องมหัศจรรย์
ทั้งที่ เครื่องมือที่จะสามารถพัฒนาประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ใช่เงินดิจิทัลตามที่พรรคเพื่อไทยออกแบบไว้
ดังนั้น ถ้าไม่แจกเป็นเงินดิจิทัล ก็บ่มีไก๊ เครดิตทางการเมืองก็จะหมดไป
นอกจากนี้ ยังมีประเด็น อาจมีผลประโยชน์ส่วนตนแก่พรรคพวก
และข้อมูลของคนเกือบทั้งประเทศ จะตกไปอยู่ในมือของไม่กี่คน ที่เอาไปใช้ประโยชน์ได้ ..
ทั้งในการหาเสียงทางการเมือง และในทางการตลาด
สอง ถ้าแจกเงินดิจิทัล ก็เป็นเงินตรา
ตามที่ สนง.กฤษฎีกาวินิจฉัยเงินดิจิทัลว่า
“พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501
จากการตีความการดำเนินนโยบายตามข้อกฎหมายฉบับนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า สามาถดำเนินนโยบายได้ ถ้าสามารถเก็บเงินหรือให้ร้านค้าที่รับเงินเป็นคนสุดท้ายเบิกเป็นเงินสดออกมาได้ภายใน 6 เดือนตามระยะเวลาโครงการไม่ขัดกับกฎหมาย แต่ถ้าไม่เก็บกลับภายในระยะเวลาโครงการและยังปล่อยให้มีการนำเงินดิจิทัลไปใช้จ่ายต่อจะถือว่าขัดต่อกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นสกุลเงินใหม่”
ผมขอเรียนว่า เป็นการพิจารณาเฉพาะในแง่มุม 'การคงอยู่' (time value) ซึ่งเป็นพฤติกรรมเฉพาะเพียงภายนอกระบบสนง.จึงแนะนำให้ยุติ เก็บเงินดิจิทัลกลับภายในหกเดือน
แต่ในแง่มุม 'วัตถุประสงค์ของการใช้งาน' (medium value) ซึ่งเป็นพฤติกรรมภายในระบบ นั้นเงินดิจิทัลที่แจกจะเข้าข่ายเป็นเงินตราอย่างแน่นอน
ผมมีความเห็นตรงกับอดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาท่านหนึ่ง ว่า กรณีคูปองที่บริษัทห้างร้านแจกให้ลูกค้าเพื่อส่งเสริมการขายนั้น มีข้อจำกัดว่า ใช้ได้เฉพาะการซื้อสินค้าจากห้างที่แจกคูปองหรือห้างในเครือเท่านั้น ไม่อาจนำไปใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายได้ทั่วไปเหมือนเงินตรา
แต่เงินดิจิทัลที่รัฐบาลจะแจกนั้น สามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้อื่น ซึ่งมิใช่ผู้ออกได้ เป็นการทั่วไป
โดยเนื้อหาทางเศรษฐกิจ เงินดิจิทัลจึงเป็นเงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จึงมีสภาพเป็นเงินตรา
และเงินตราหมายถึง “วัตถุหรือเครื่องหมายใดๆ“ จึงย่อมรวมไปถึงรวมถึงวัตถุไม่มีรูปร่างด้วย
อธิบายแบบชาวบ้าน พรรคเพื่อไทยอ้างว่าเงินดิจิทัลดังกล่าว เป็นเพียงคูปองในศูนย์อาหาร
แต่ในศูนย์อาหารปกติ ย่อมไม่มีขนาดใหญ่ครอบคลุมทั่วราชอาณาจักร
ร้านค้าที่ได้รับคูปอง จะไม่เอาคูปองไปชำระหนี้ร้านค้าอื่น หรือเอาคูปองไปชำระหนี้แก่ซัปพลายเออร์ ซึ่งอยู่นอกศูนย์อาหาร
นอกจากนี้ ลูกค้าจะไม่ให้ความเชื่อถือ ถึงขั้นที่จะใช้คูปอง เป็นเครื่องมือในการกู้ยืมระหว่างกัน
สรุปแล้ว ถ้าท่านนายกเดินตามข้อแนะนำ ที่พิจารณาเฉพาะในแง่มุม “การคงอยู่” ...
ท่านอาจจะทำให้ทั้งคณะรัฐมนตรีฝ่าฝืนกฎหมาย
สาม ถ้าเป็นเงินตรา ก็ต้องตรากฎหมายใหม่
อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัล ที่มีสภาพเป็นเงินตรา แบบตรงไปตรงมา
ก็ยังสามารถทำได้ โดยรัฐมนตรีคลังอนุญาตเอกชน ตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501
แต่ คุณรสนา โตสิตระกูล กล่าวถึงความเห็นของอดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาท่านนี้ว่า เมื่อเงินดิจิทัลเป็นเงินตรา แต่ไม่ใช่เงินตราที่เป็นธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์
จะแจกได้หรือไม่ จึงต้องนำมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 มาประกอบการพิจารณา
ประเด็นสำคัญ ก็คือ ในปี 2501 ที่มีการร่างและตรามาตรา 9 นั้น ยังไม่มีการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งเป็นวัตถุไม่มีรูปร่าง ดังนั้น ถ้าจะนำเอาดิจิทัลเทคโนโลยี เข้ามาประกอบในเรื่องของเงินตรา ก็จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 9 ให้หมายความรวมถึงวัตถุไม่มีรูปร่างด้วย
อธิบายแบบชาวบ้าน เงินดิจิทัลมีสภาพทางเศรษฐกิจ เป็นเงินตราอย่างหนึ่ง ถ้ารัฐมนตรีคลังจะอนุญาต เอกชนก็ต้องยื่นผ่านธนาคารชาติ ซึ่งเดาได้ว่า ธนาคารชาติคงไม่เห็นชอบ
และกรณีพิจารณาว่า พ.ร.บ.เงินตรา ปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมถึงดิจิทัลเทคโนโลยี ถ้าจะเกิดขึ้นได้ ต้องตราพระราชบัญญัติใหม่ผ่านรัฐสภา เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.เงินตรา เสียก่อน
การพัฒนาสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ต้องทำเต็มรูปแบบ ไม่ใช่ตะแบง ทำเฉพาะส่วน
ตรงนี้แหละครับ ที่เป็นอุปสรรคขนาดใหญ่ และดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ได้คำนึงไว้ ในชั้นการหาเสียง