โฆษกกระทรวงต่างประเทศ เผย จำนวนคนไทยเสียชีวิตในอิสราเอลยังคงเดิมที่ 21 คน ขณะยอดผู้ขอกลับเพิ่มเป็น 6,778 คนแล้ว ตั้งเป้าอพยพกลับให้ได้วันละ 400 คน แต่เบื้องต้น 15 ต.ค.มาอีก 100 คน ลงอู่ตะเภา ให้พักที่ รร.เอส ซี ปาร์ค รอญาติมารับ เผย คนซื้อตั๋วกลับเองตั้งแต่ 7 ต.ค.รัฐบาลพร้อมจ่ายคืน เร่งหาเบอร์โทร.แรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันให้อิสราเอลใช้เทคโนโลยีช่วยระบุตำแหน่ง
วันนี้ (13 ต.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 16.05 น. นางกาญจนา ภัทรโชติ อธิบดีกรมสารนิเทศ และ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ในอิสราเอล ว่า หลังการประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินเพื่อติดตามสถานการณ์ในอิสราเอล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำว่า การช่วยเหลือคนไทยเป็นภารกิจแห่งชาติ ขอให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญสูงสุด โดยเมื่อเช้าที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ได้เชิญเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย หารือ และขอให้ฝ่ายอิสราเอลช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดส่งคนไทยกลับประเทศโดยเร็วที่สุด ซึ่งทูตอิสราเอล แจ้งว่า อิสราเอลได้อพยพคนต่างชาติออกจากบริเวณพื้นที่ใกล้ฉนวนกาซาไปยังพื้นที่ปลอดภัยแล้วกว่าร้อยละ 99 นายกรัฐมนตรีขอให้ช่วยดูแลความปลอดภัยและการลำเลียงมายังสนามบิน ซึ่งทูตอิสราเอลได้รับปาก ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับทูตอิสราเอลเกี่ยวกับเรื่องการส่งต่อแรงงานไปยังนิคมเกษตรพื้นที่อื่น ขอให้มีการพักสภาวะจิตใจจากภาวะตึงเครียด และไม่ให้มีการบังคับใช้แรงงาน
ส่วนสถานการณ์ในอิสราเอล ยังคงรุนแรง ยังมีการโจมตีโดยจรวด และกลุ่มฮามาสอาจจะมีการตั้งรับ ซึ่งอิสราเอลอาจจะบุกเข้าไปยึดพื้นที่ หลังมีการตัดน้ำตัดไฟบริเวณฉนวนกาซา ขณะที่สหประชาชาติแสดงความเป็นห่วงผลกระทบต่อพลเมือง ส่วนทางอิสราเอลอยู่ระหว่างแผนจัดตั้งพื้นที่อยู่อาศัยชั่วคราวสำหรับผู้อพยพออกจากพื้นที่รอบฉนวนกาซา ซึ่งอยู่ระหว่างการกำหนดพื้นที่ที่แน่นอน
สำหรับผลกระทบต่อคนไทยในพื้นที่ จากสถิติวันนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 21 คน ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ 14 และคาดว่า ถูกจับตัวไปจำนวน 16 ราย โดยเมื่อวานนี้ สถานทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ แจ้งพบแรงงานไทย 2 ราย ที่หลบซ่อนตัวในนิคมอุตสาหกรรมคิบบุตซ์ นาน 5 วัน ได้นำตัวเข้ารักษากับแพทย์แล้ว หากประสงค์จะกลับไทยก็จะอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับ ทั้งนี้ ผู้ที่ประสงค์จะกลับประเทศไทย 6,778 ราย และผู้ประสงค์อยู่ต่อ 85 ราย
ขณะที่การอพยพวันนี้มีคนไทยกลับประเทศ 19 ราย เที่ยวบินที่ LY 085 ถึงไทยเวลา 16.57 น. และในจำนวนนี้มีแรงงานไทยที่ซื้อตั๋วกลับมาเองด้วยที่ไม่ใช่การอพยพผ่านทางสถานทูต
ส่วนในวันพรุ่งนี้จะมีสายการบิน Fly Dubai ซึ่งถือเป็นเที่ยวบินที่ 3 ในการอพยพคนไทยจำนวน 100 ราย จะถึงประเทศไทยในวันที่ 15 ตุลาคม เวลา 07.25 น. โดยจะไปลงที่สนามบินอู่ตะเภา มีรถบัสรับมายังโรงแรม เอสซี ปาร์ค เพื่อให้ญาติมารอรับตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ยังได้คุยกับสายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์เพิ่มเติม เพื่อจัดชาร์เตอร์ไฟลต์ อพยพคนไทย 250 คน เดินทางมาในวันที่ 16 ต.ค.โดยรอยืนยันเวลาเดินทางถึงไทย ขณะเดียวกัน ยังมีเที่ยวบินของกองทัพอากาศ อพยพคนไทย 135 คน จะเดินทางถึงประเทศไทยเวลา 04.00 น. พร้อมยังสำรองเที่ยวบินพาณิชย์สำหรับอพยพคนไทย แต่ขอยังไม่เปิดเผยรายละเอียด โดยตั้งเป้าอพยพให้ได้วันละ 400 คน จากทุกช่องทาง หากเป็นไปได้จะเดินทางกลับประเทศไทยทุกวัน
ส่วนการหารือกับสายการบินเพื่อเตรียมเที่ยวบินอพยพคนไทยนั้น ก็มีความคืบหน้า โดยการบินไทยก็มีกำหนดอยู่ในแผนแล้ว แต่ขอยังไม่เปิดเผยรายละเอียด นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมแผนสำรองโดยการอพยพคนไทยออกไปที่ประเทศจอร์แดนและประเทศใกล้เคียง ให้สายการบินไทยไปรับกลับประเทศ ซึ่งจะสามารถรองรับได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งจอร์แดนก็มีสายการบินที่บินมาประเทศไทยด้วย ซึ่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงจอร์แดน ก็ได้มีการไปพูดคุย รวมถึงขอให้มีการผ่อนปรนเอกสารหลักฐานบางคนที่ยังมีไม่ครบถ้วน รวมถึงกรณีการเดินทางทางบกโดยรถยนต์ ขณะที่แผนการให้ความช่วยเหลือก็จะปรับไปตามสถานการณ์และดูพัฒนาการของอิสราเอล ส่วนกรอบเวลาการอพยพคนไทยกลับ ไม่สามารถยืนยันได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
นอกจากนี้ สถานทูตได้จัดสถานที่พักพิงชั่วคราวสำหรับคนไทยที่ออกจากพื้นที่อื่นเพื่อรอเดินทางขึ้นเครื่องกลับประเทศไทย โดยจองโรงแรมไว้ที่กรุงเทลอาวีฟ จำนวน 100 ห้อง จะมีการจัดเตรียมอาหารให้ด้วยในระหว่างรอเดินทางกลับประเทศไทย
ส่วนประเด็นที่มีคนไทยเดินทางกลับมาเอง 26 คน โดยซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับมาเองนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญ และนายกรัฐมนตรีให้นโยบายว่าต้องช่วยเหลือคนไทยทุกคน ซึ่งที่ประชุมสถานการณ์ฉุกเฉินได้มีการพูดคุยโดยเห็นชอบในหลักการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่เดินทางกลับไทยตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งเป็นห้วงประกาศสภาวะสงคราม โดยแรงงานไทยที่เดินทางกลับจะต้องยื่นหลักฐาน ประกอบด้วย บอร์ดดิ้งพาส ใบเสร็จรับเงิน หรือตั๋วเครื่องบิน ประกอบกับเอกสารหลักฐานแสดงตน หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชน ยื่นผ่านแรงงานจังหวัดและกระทรวงแรงงาน โดยในหลักการรัฐบาลจะจ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้แรงงานเก็บเอกสารหลักฐานไว้ก่อน รอฟังรายละเอียดที่ชัดเจนจากทางการอีกครั้ง ซึ่งแรงงานที่อยู่ต่างจังหวัดทางกระทรวงแรงงานจัดเก็บหลักฐานและยื่นเอกสารไว้ให้ ส่วนในอนาคตอาจจะมีการตั้งจุดบริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะต้องรวบรวมหลักฐานเพื่อตั้งของบประมาณเป็นงบกลาง
ส่วนผู้ที่ถูกจับตัวเป็นประการนั้น รัฐบาลพยายามพูดคุยกับทุกฝ่าย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำกับทูตอิสราเอลว่าแรงงานเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวข้องกับคู่ขัดแย้ง ขอให้ดำเนินการปล่อยตัวแรงงานไทยโดยเร็วที่สุด และในพื้นที่ก็มีข่าวว่ากลุ่มฮามาสจะสังหารตัวประกันหากอิสราเอลโจมตี ขณะนี้ยังไม่ปรากฏข่าวดังกล่าว ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มีการพยายามปล่อยออกว่าคนไทยเสียชีวิตมากที่สุดนั้น ขณะนี้ไม่ใช่ แต่เป็นประเทศอื่น อย่างไรก็ตาม จะเป็นชนชาติใดก็ขอแสดงความเสียใจที่ประเทศนั้นๆ จะต้องสูญเสียญาติพี่น้องไป
ทั้งนี้ สถานทูตไทยในกรุงเทลอาวีฟ และทุกฝ่ายได้พยายามหาเบอร์โทรศัพท์ของแรงงานที่ถูกจับตัวประกัน เพื่อให้ทางการอิสราเอลใช้เทคโนโลยีติดตามหาพิกัดว่าถูกจับไปอยู่ในจุดไหน ส่วนคนที่หลบซ่อนตัวอยู่ตามจุดต่างๆ น่าจะได้รับการช่วยเหลือจากทางการอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ระบุว่า อาจจะมีการตั้งศูนย์อพยพที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอียิปต์นั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ดูไบก็เป็นอีกหนึ่งประเทศในการอพยพคนไทยมาพักคอย เพื่ออพยพกลับ แล้วก็มีไฟลต์จากดูไบกลับประเทศไทย ส่วนประเทศอื่นๆ อยู่ระหว่างการประสานงาน อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับแรงงานไทยว่าจะสามารถเดินทางไปยังประเทศไหนที่ใกล้ที่สุด ขณะนี้ยังต้องใช้รถของสถานทูตและรถเช่าในการอำนวยความสะดวกอพยพคนไทย แต่จะต้องประสานให้ทางการอิสราเอลดูแลเรื่องความปลอดภัย