xs
xsm
sm
md
lg

“จักรพงษ์” แจงสภา พร้อมประสานองค์กรนานาชาติเจรจาฮามาสปล่อย 16 คนไทย ถูกจับเป็นตัวประกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมช.กต.แจงสภา นายกฯ สั่งเร่งอพยพคนไทยจากอิสราเอล หลังล่าสุดยอดตายพุ่ง 21 ราย พร้อมประสานองค์กรนานาชาติ เจรจากลุ่มฮามาส-ปาเลสไตน์ ปล่อย 16 คนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน


วันนี้ (12 ต.ค.) นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ ตอบกระทู้ถามสดต่อที่ประชุมสภา ในประเด็นผลกระทบต่อแรงงานไทยในประเทศอิสราเอลที่มีสถานการณ์สู้รบ ซึ่งตั้งถามโดย นายวัชระพล ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ว่า สถานการณ์ล่าสุด พบว่า มีคนไทยที่เสียชีวิต รวม 21 คน ซึ่งเป็นรายงานจากนายจ้าง ไม่ใช่คำยืนยันอย่างเป็นทางการจากประเทศอิสราเอล ทั้งนี้ อิสราเอลขอเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อยืนยันตัวตนผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ อิสราเอลจะเยียวยาจากเหยื่อสงคราม ขณะที่ผู้บาดเจ็บ ที่มี 14 คน เอกอัครราชทูตได้เข้าเยี่ยมแล้ว สำหรับผู้ที่บาดเจ็บเล็กน้อยจะถูกส่งตัวกลับไทย โดยจะมาถึงประเทศไทยในวันนี้ (12 ต.ค.) สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม จะได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย เช่น เงินสงเคราะห์ 15,000 บาท กรณีพิการ 15,000 บาท กรณีทุพพลภาพ 30,000 บาท ค่าจัดงานศพในต่างประเทศเท่าที่จ่ายจริงหรือไม่เกิน 40,000 บาท เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีการเยียวยาทางจิตใจของครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบและสูญเสีย

“เมื่อคืนวันที่ 11 ต.ค. นายกฯ สั่งการมาที่ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหาช่องทางอพยพคนไทยออกมาจากพื้นที่ให้มากที่สุด ทั้งทางอากาศ น้ำ และทางบก แต่ภาวะสู้รบที่มีต่อเนื่องทำให้เป็นไปได้ยาก” นายจักรพงษ์ ชี้แจง

นายจักรพงษ์ ชี้แจงด้วยว่า สำหรับคนไทยที่ถูกลักพาตัวหรือจับเป็นตัวประกันมีทั้งสิ้น 16 คน โดยกระทรวงการต่างประเทศใช้ความพยายามเต็มที่สื่อสารไปยังกลุ่มฮามาส จับกุมคนไทยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง แต่ปาเลสไตน์ไม่มีทูตประจำประเทศไทย ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานทูตต่างชาติที่ประจำในไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับปาเลสไตน์ รวมถึงกลไกอาเซียนเพื่อให้ปล่อยตัว รวมถึงองค์กรนานาชาติ เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวกับมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ให้ช่วยเหลือด้วย ทั้งนี้ พบว่า มีคนไทยที่ได้รับผลกระทบประมาณ 5,000 คน จากคนไทยในอิสราเอล 30,000 คน

ทั้งนี้ นายจักรพงษ์ ยังได้ชี้แจงต่อกระทู้ถามของนายสหัสวัต คุ้มคง ส.ส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล ซึ่งอ้างว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประสบภัยในประเทศอิสราเอลที่ต้องการอพยพออกจากพื้นที่ที่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 7,000 คน เกี่ยวกับมาตรการเชิงรุกของรัฐบาลไทย การจัดพื้นที่พักคอยที่ปลอดภัยเพื่อรอการอพยพ รวมถึงการเยียวยาผู้เสียหายและแรงงานที่ถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง ว่า การพูดคุยโทรศัพท์ตามที่อ้างว่าได้คุยกับแรงงาน ตนไม่ต่างกัน เพราะได้คุยกับเอกอัครราชทูตที่ดูแลพื้นที่ พบว่า มีการสู้รบต่อเนื่อง ตนห่วงคนไทยทุกคน รวมถึงข้าราชการไทยในสถานการณ์สู้รบ ที่ต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดในพื้นที่ การขับรถต้องขออนุญาตจากอิสราเอล เพราะเคยมีกรณีที่ไม่ได้ขออนุญาตทำให้เกิดความเข้าใจผิดมาแล้ว

นายจักรพงษ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นที่แรงงานถูกเอาเปรียบได้หารือกับกระทรวงแรงงานเพื่อดูแลและแก้ปัญหา ทั้งนี้แรงงานในทั่วประเทศ 30,000 คน ได้ติดต่อเช่นกัน แต่แรงงานไม่พบว่าตนเองอยู่ในพื้นที่ไหน เนื่องจากถูกอพยพออกจากพื้นที่ สถานทูตไทยประจำอิสราเอล ใช้ทุกอย่างที่มีอยู่ ด้วยเจ้าหน้าที่ที่จำกัดได้ส่งเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมเพื่อดูแลเหตุการณ์โดยรอบ สำหรับแรงงานคนไทยที่มี 30,000 คน อยู่ที่อิสราเอล ซึ่งในพื้นที่มีศูนย์อาร์ซี รับเรื่องร้องเรียนไว้และติดต่อไปยังแรงงานทุกคน

“กระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับหลายประเทศที่อยู่รอบด้านอิสราเอล แต่ขณะนี้พบว่าการเดินทางไปชายแดนประเทศต่างๆ มีความเสี่ยง แม้ทูตจะประสานอิสราเอลเพื่อขอรถเพื่อเคลื่อนย้าย แต่พบความเสี่ยงเช่นกันเนื่องจากสถานการณ์สู้รบ ยิงจรวดเข้าพื้นที่อย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งนี้ในพื้นที่เสี่ยงสูง อิสราเอลจะเป็นผู้ดำเนินการให้ออกมาจากพื้นที่เสี่ยงไปยังพื้นที่ปลอดภัย” นายจักรพงษ์ ชี้แจง


กำลังโหลดความคิดเห็น