เมืองไทย 360 องศา
“ผมไม่คิดว่าประชาชนเลือกมาเป็นผู้นำฝ่ายค้าน เพราะฉะนั้นก็คิดว่าไม่ได้เป็นตำแหน่งที่เราต้องการ เราก็จะต้องเตรียมตัวเพื่อให้เป็นแคตดิเดตนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป น่าจะเป็นในมุมมองนั้นมากกว่า โดยจะเป็นบทบาทของพรรคก้าวไกล และบทบาทของผม ในฐานะผู้นำพรรค”
สำหรับความชัดเจนระหว่างตำแหน่งรองประธานสภา คนที่ 1 และตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน จะเลือกอะไร นายพิธา ย้ำว่า ตนไม่ได้ต้องการตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน
ถามว่า กรณี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ในฐานะรองประธานสภา คนที่ 1 ก็ไม่ต้องลาออก ใช่หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า คิดว่าอย่างนั้น เพราะ นายปดิพัทธ์ พยายามทำงานอย่างเต็มที่และสร้างสรรค์ แต่ตนไม่ค่อยได้มีโอกาสพูดคุยกัน จึงต้องขอส่งกำลังใจไปให้ด้วยในการทำหน้าที่ ที่ตัวเนื้อหา กฎหมาย ญัตติ และกระทู้ที่ยังทำไม่ได้ในตอนนี้ ก็อยากจะให้เน้นเกี่ยวกับสารัตถะของการเป็นรองประธานสภา ที่ดี
นั่นเป็นคำพูดบางตอนของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระหว่างให้สัมภาษณ์เมื่อหลายวันก่อนที่จังหวัดระยอง ระหว่างช่วยผู้สมัครของพรรคหาเสียงเลือกตั้งซ่อม
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากท่าทีและความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้มาประกอบ ทั้ง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และระดับแกนนำพรรคก้าวไกลที่อยู่ในระดับตัดสินใจไม่ค่อยให้ความสำคัญนักกับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ นายพิธา ยังฝันในแนวทางของตัวเอง นั่นคือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนแทบจะเรียกได้ว่า “เพ้อฝัน” แม้ในเวลานั้นพรรคเพื่อไทยได้ฉีกเอ็มโอยู ในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันไปแล้วก็ตาม
ในเวลานั้น ในช่วงที่ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ได้ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังจากพลาดเก้าอี้ประธานสภามาแล้ว พวกเขายังเน้นย้ำตำแหน่งนี้มากกว่าตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านเสียอีก
นั่นคือ ครั้งหนึ่ง นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ถือว่ายังมีบทบาทชี้นำพรรคก้าวไกลคนหนึ่ง ถึงกับเคยกล่าวในทำนองว่า การดำรงตำแหน่งรองประธานสภาของ นายปดิพัทธ์ จะสามารถทำให้การผลักดันร่างกฎหมายสำคัญไปได้โดยสะดวกมากขึ้น ซึ่งหากพิจารณากันโดยรวมๆ แล้ว พวกเขาให้ความสำคัญกับตำแหน่งประธานสภา หรือรองประธานสภาผู้แทน มากกว่าผู้นำฝ่ายค้านเสียอีก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากสูญเสียตำแหน่งประธานสภาผู้แทน ไปให้กับ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ ซึ่งเข้ามาในฐานะคนกลาง พวกเขาก็ยังเน้นย้ำในตำแหน่งรองประธานสภา ของ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา โดยระบุว่า จะมีผลสำคัญกับการเสนอร่างกฎหมายเข้าสภา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ตำแหน่งหน้าที่รองประธานสภา จะขึ้นอยู่กับการมอบหมายหน้าที่ จากประธานสภาเป็นหลักเท่านั้น
ผิดกับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ที่ตามรัฐธรรมนูญนอกเหนือจากเป็นตำแหน่งที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ มีสถานะระดับเดียวกับนายกรัฐมนตรี หรือผู้นำฝ่ายบริหารแล้ว ยังมีกฎหมายรองรับสำหรับการคัดเลือกแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญในองค์กรอิสระทั้งหลายอีกด้วย
ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนกลับมาโฟกัสที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ล่าสุด ได้ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกลแล้ว และพรรคมีกำหนดเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในวันที่ 23 กันยายน นี้
โดยเขาได้โพสต์ข้อความถึงสมาชิกพรรค และผู้สนับสนุนนตอนหนึ่งว่า แม้วันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าพรรคก้าวไกลต้องเดินหน้าสู่การทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนในฐานะ “ฝ่ายค้าน” ที่มีเสียงมากที่สุดเป็นอันดับ 1 แต่ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ “ผู้นำฝ่ายค้าน” จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคของพรรคฝ่ายค้าน อันดับ 1 และปัจจุบันผมยังอยู่ภายใต้คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ผมจึงยังไม่สามารถเข้าไปทำงานในสภาผู้แทนราษฎร และไม่สามารถจะดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้ ในระยะเวลาอันใกล้
ขณะเดียวกัน ผมได้หารือกับคณะกรรมการบริหาร และ ส.ส. ของพรรคก้าวไกลแล้ว เห็นว่า บทบาท “ผู้นำฝ่ายค้าน” มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อระบบรัฐสภา และสมควรเป็นบทบาทที่รับผิดชอบโดยหัวหน้าพรรคของพรรคฝ่ายค้านหลักในสภา ซึ่งตอนนี้ คือ พรรคก้าวไกล “ผู้นำฝ่ายค้าน” จะเปรียบเสมือนหัวเรือที่กำกับทิศทางการทำหน้าที่ในสภา ของฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบ ถ่วงดุลรัฐบาล และผลักดันวาระการเปลี่ยนแปลงที่ยังตกหล่นจากนโยบายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล ณ ขณะนี้ เพื่อเปิดทางให้พรรคเลือก ส.ส.ที่สามารถทำหน้าที่ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ในสภาขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทนที่ผม
ผมขอยืนยันกับทุกท่าน ว่า ไม่ว่าสถานะของผมจะเป็นอย่างไร ผมไม่ได้หายไปไหน แต่จะยังคงทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกล และพี่น้องประชาชนอย่างสุดกำลัง และสุดความสามารถเพื่อขับเคลื่อนวาระการเปลี่ยนแปลงที่เราปรารถนาร่วมกัน
สรุปก็คือเวลานี้พวกเขาเริ่มกลับมาเห็นความสำคัญของตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” ขึ้นมาแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะ นายพิธา ยังเน้นย้ำอยู่กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ คนที่ 30 หรือในอนาคตข้างหน้าคือ นายกฯคนที่ 31 ก็ตาม แต่กลายเป็นว่าเวลานี้ทุกอย่างได้จบลงแล้ว เมื่อทุกอย่างกลายเป็น “ความจริง” ต้องตื่นจากความฝัน และที่สำคัญ ต้องเข้าสู่กระบวนการสภาตามขั้นตอนเสียที เพราะไม่เช่นนั้น แม้แต่ตำแหน่งประธานวิปฝ่ายค้าน ก็จะไม่สมบูรณ์หากไม่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้นำฝ่ายค้าน
อีกทั้งในความเป็นจริงอีกด้านหนึ่ง เวลานี้สำหรับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สถานะสส. ของเขาก็ยังถูก “แช่แข็ง” เอาไว้ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่เอาไว้จนกว่าคดี “ถือหุ้นสื่อ” ของเขาจะถูกชี้ขาด ดังนั้น ในเวลานี้เขาก็ “มีสถานะลอย” ทำอะไรไม่ได้
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณากันตามความเป็นจริง และแนวโน้มในอนาคตแล้ว สำหรับคดี “ถือหุ้นสื่อ (ไอทีวี)” มองกันถึงความเป็นไปได้ รวมไปถึงการเทียบเทียบเคียงกับกรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่โดนคดีถือหุ้นสื่อ จากกรณีถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จนต้องพ้นจาก ส.ส. โดยคดีของ นายพิธา น่าจะมีการวินิจฉัยไม่เกินเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งยังเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนเท่านั้น ซึ่งหากมองกันถึงความเป็นไปได้แล้วก็ต้องบอกว่า “รอดยาก”
เมื่อแนวโน้มน่าจะออกมาแบบนี้แล้ว มันก็ต้องถือว่า สำหรับอนาคตทางการเมืองของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต้องจบลงเร็วกว่าที่คาด ขณะเดียวกัน สำหรับพรรคก้าวไกลก็ถึงเวลาที่จะมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งนาทีนี้ก็คงคาดเดากันไม่ยากว่าน่าจะเป็น “น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรค ที่เหมือนกับการถูกวางตัวมาจาก “เจ้าของตัวจริง” มาแล้ว โดยมี นายชัยธวัช ตุลาธน เป็นเลขาธิการพรรค ทำหน้าที่ “แม่บ้าน” รับผิดชอบดูแลกิจการภายใน และ น.ส.ศิริกัญญา ก็จะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ที่เป็นผู้หญิงคนแรก เช่นเดียวกัน และ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ก็ต้องลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาสถานเดียว โดยไม่ต้องไปคิดใช้ช่องทางอื่น ให้ถูกเหยียดหยามตามมา
ดังนั้น หากพิจารณากันตามรูปการณ์สำหรับพรรคก้าวไกลในเวลานี้ มันก็เหมือนกับอาการเพิ่งตื่นจากความฝัน แล้วกำลังคืนกลับสู่ความเป็นจริงเสียที กลับมาตั้งหลักในตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านที่สมควรจะเป็น ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือว่า แม้วันนี้ยังไปไม่ถึงฝัน แต่ในอนาคตข้างหน้าก็ยังมีโอกาสกลับมาได้อีก หากไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง โดยต้องสะสมบารมีในพรรคอีกระยะหนึ่ง อย่างน้อยก็ต้องให้ “เหนือกว่า” พวก “แกนนำจิตวิญญาณ” บางคนให้ได้เสียก่อน เพราะตอนนี้เหมือนกับว่า “ถูกลอยแพ” ไม่มีผิด !!