จากผลสำรวจของ “นิด้าโพล” เรื่อง พรรคก้าวไกล ควรเลือกอะไร ระหว่างรองประธานสภา กับ ผู้นำฝ่ายค้าน พบว่ากลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 56.11 ให้เลือกผู้นำฝ่ายค้าน มีเพียง 39.08 เท่านั้นเห็นว่า ควรเลือกรองประธานสภา
นั่นจึงเป็นที่มาของการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ซึ่งจะมีผลให้กรรมการบริหารพรรคทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งไปด้วย และต้องเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ภายใน 60 วัน ระหว่างนี้ก็ให้กรรมการบริหารพรรคชุดเดิมรักษาการไปก่อน
มีการแย้มออกมาว่าหัวหน้าพรรคคนใหม่ น่าจะเป็น “ไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล รักษาการรองหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน
แต่การจะเป็น “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนั้น ในพรรคจะต้องจะต้องไม่มี ส.ส.คนใดที่เป็นประธานสภา หรือรองประธานสภา ซึ่งขณะนี้ พรรคก้าวไกลมี “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก นั่งเป็นรองประธานสภา คนที่ 1 อยู่
ดังนั้น ถ้าพรรคก้าวไกล ต้องการให้หัวหน้าพรรคคนใหม่เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภา “หมออ๋อง” ก็ต้องลาออกจาก รองประธานสภา คนที่ 1
แต่ “หมออ๋อง” ก็ยืนยันว่าจะไม่ลาออก ยังต้องการทำหน้าที่รองประธานสภาอยู่
จึงมีความคิดว่าจะใช้ มติกรรมการบริหารพรรค ยื่นข้อเสนอให้ “หมออ๋อง” ลาออก ถ้าไม่ออก ก็ใช้มติกรรมการบริหารพรรคขับออก
หาก“หมออ๋อง” ถูกขับพ้นพรรคก้าวไกล ก็ต้องหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 30 วันเพื่อรักษาสถานภาพ ส.ส. และรักษาสถานภาพรองประธานสภาไปในตัวด้วย ซึ่ง“พรรคเป็นธรรม” ที่มี “กัณวีร์ สืบแสง” รองหัวหน้าพรรคและประธานยุทธศาสตร์พรรค เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่ออยู่เพียงหนึ่งเดียว และเป็นพันธมิตรของพรรคก้าวไกล ก็ยินดีอ้าแขนรับอยู่แล้ว
ถ้าเป็นไปตามนี้ พรรคก้าวไกล ก็จะมีทั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภา และรองประธานสภา ซึ่งฝากอยู่ที่พรรคเป็นธรรม
แล้ว “หมออ๋อง”จะเล่นตามเกมนี้หรือไม่ ??!!
“หมออ๋อง” บอกว่าจะไม่ลาออก และจะคุยกับคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เท่านั้น ว่าแนวทางต่างๆ จะเป็นอย่างไร
ส่วนแนวทางที่จะขับตนเองออกจากพรรคแล้วให้ไปสังกัดพรรคใหม่ เพื่อรักษาตำแหน่งรองประธานสภาไว้นั้น “หมออ๋อง” บอกว่า...
“เราเรียกสิ่งนั้นว่า ข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญ ไม่มีประเทศไหนมีทริกเช่นนี้ ผมได้รับการโปรดเกล้าฯ มา ซึ่งไม่ควรที่จะได้รับข้อจำกัดเช่นนี้มาบีบให้เราต้องทำอะไรที่ไม่ตรงไปตรงมา แต่เมื่อข้อจำกัดเป็นเช่นนี้ แล้วทางพรรคเห็นสมควรเช่นไร ก็เป็นเรื่องของพรรค แต่ผมก็จะทำงานของผมให้เต็มที่”
นัยในคำพูดเหมือนจะไม่เต็มใจทำในสิ่งที่ “ไม่ตรงไปตรงมา” แต่เมื่อมีข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ ตนเองก็พร้อมจะดำเนินการไปตามที่พรรคเห็นสมควร
เป็นอันว่าช่องทางนี้ จะทำให้พรรคก้าวไกลสามารถรั้งไว้ได้ทั้งตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน และ รองประธานสภา
ส่วน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่พลาดหวังทั้งจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาก็เป็นไม่ได้ แล้วยังไม่รู้ว่าจะรักษาตำแหน่ง ส.ส.ไว้ได้หรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสภาพ ส.ส. หลังจากนี้อนาคตทางการเมืองก็คงดับวูบ