“อิศรา” เผย องค์คณะไต่สวน ชง ป.ป.ช. ชี้มูลอดีตผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ และผู้บริหารบีทีเอส คดีจ้างเดินรถไฟฟ้า “สายสีเขียว” ถึงปี 2585 มูลค่า1.9 แสนล้านบาท เลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุน ระหว่างรัฐและเอกชน
รายงานจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เปิดเผยจากแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ย. มีการประชุมองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการ ป.ป.ช. ทุกคน เพื่อพิจารณากรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585
ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว ขณะที่ก่อนหน้านี้ องค์คณะไต่สวนฯได้แจ้งข้อกล่าวหาบุคคลและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง 13 ราย ไปแล้ว นั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาสำนวนการไต่สวนฯเรื่องดังกล่าว ที่ประชุมมีข้อเสนอว่า ควรให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ ผลปรากฏว่าองค์คณะไต่สวน มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง เห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนฯมีเพียงพอที่จะลงมติได้แล้ว จึงไม่ต้องสอบเพิ่มอีก
จากนั้นที่ประชุมมีการลงมติว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดหรือไม่ ผลปรากฏว่าในการลงมตินั้น องค์คณะไต่สวนมีความเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151, 157, 83 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว ไปด้วยเสียง 3 ต่อ 3 เสียง
“แม้ว่าเสียงจะเท่ากัน แต่ถือว่าเข้าข่ายความผิด เพราะตาม มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต บัญญัติว่า การลงมติว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดหรือไม่นั้น ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่” แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช. กล่าว
สำหรับกรรมการเสียงข้างน้อย ประกอบไปด้วย นายวิทยา อาคมพิทักษ์, นางสุวณา สุวรรณจูฑะ และ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า มาตรา 23 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต บัญญัติว่า “การลงมติเพื่อมีความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่”
ส่วนในประเด็นที่ว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เพียงข้อหาเดียวหรือไม่นั้น องค์คณะไต่สวนมีมติ 5 ต่อ 1 เสียง เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิด โดยกรรมการเสียงข้างน้อย คือ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ
ทั้งนี้ เมื่อผลการลงมติขององค์คณะไต่สวนใน 2 ประเด็นดังกล่าวออกมาในลักษณะเช่นนี้ จึงเท่ากับว่าองค์คณะไต่สวนมีความเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาน่าจะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151, 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
สำหรับขั้นตอนต่อไป องค์คณะไต่สวนชุดใหญ่จะต้องนำเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเร็วที่สุด เพื่อชี้มูลความผิด เนื่องจาก นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ กรรมการ ป.ป.ช. จะพ้นวาระเนื่องจากอายุ 70 ปี ในอีกไม่กี่วันนี้
สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่องค์คณะไต่สวนเห็นว่า น่าจะมีความผิด ประกอบไปด้วย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ข้าราชการระดับสูง กทม. จำนวนหนึ่ง และบริษัทเอกชน อาทิ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (มหาชน) หรือ BTSC และนายคีรี กาญจนพาสน์ กรรมการ BTSC ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด
รายงานข่าวแจ้งว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท”
ส่วนมาตรา 157 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจาคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจาทั้งปรับ”
ขณะที่มาตรา 83 บัญญัติว่า “ในกรณีความผิดใดเกิดขั้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขั้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และพวกรวม 13 คน กรณีว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585 ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว ตามที่องค์คณะไต่สวนเสนอ
ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 13 ราย ประกอบด้วย 1. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเพมหานคร 2. นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ตำแหน่งรองผู้ว่ารายการกรุงเทพมหานคร 3. นายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด 4. นายอมร กิจเชวงกุล ตำแหน่งกรรมการบริษัท กรุงเทพอนาคม จำกัด 5. นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร
6. นางนินนาท ชลิตานนท์ ตำแหน่งรองปลัดกรุงเทพมหานคร 7. นายจุมพล สำเภาพล ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง 8. นายธนา วิชัยสาร ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง 9. นายกฤษณ์ เกียรติพนชาติ ตำแหน่งผู้อำนวยการกองการขนส่ง 10. นายคีรี กาญจนพาสน์ ตำแหน่งกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 11. นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ตำแหน่งกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 12. บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้รับจ้างในโครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ตามสัญญาเลขที่ 1/2555 ลงวันที่ 6 พ.ค.2555 และผู้บริหารระบบในสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เลขที่ กร.ส. 006/2555 ลงวันที่ 3 พ.ค. 2555 13. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการในสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เลขที่ กร.ส.6/2555 ลงวันที่ 3 พ.ค. 55
รายงานข่าวระบุด้วยว่า สำหรับข้อกล่าวหาในคดีนี้ เป็นกรณีการทำสัญญาว่าจ้างให้เอกชนให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (รถไฟฟ้าสายสีเขียว) ระหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้ว่าจ้าง กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC (ในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS) ในฐานะผู้รับจ้าง เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2555
โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ว่าจ้าง BTSC เพื่อให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวรวม 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง) 2. สายสีลม (สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่) และ 3. ว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และ สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปอีก 13 ปี หรือเป็นสิ้นสุดสัญญาพร้อมกันในปี 2585 โดยมีวงเงินค่าจ้าง 1.9 แสนล้านบาท