xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” จับไต๋ “เศรษฐา” ใช้มาตรการกึ่งการคลังบังหน้า แจกเงินดิจิทัล ลั่น อย่าแถไม่ได้กู้! “วันชัย” แซะใคร “หมาเห่าหลังโรงลิเก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากเพื่อไทย ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จากแฟ้ม
“สมชัย” จับไต๋ “เศรษฐา” ช่วงหาเสียง แจกเงินดิจิทัล ไม่ต้องกู้แม้แต่บาทเดียว ชี้ ใช้มาตรการ “กึ่งการคลัง” บังหน้า อย่าแถไม่ได้กู้! “วันชัย” แซะใคร “หมาเห่าหลังโรงลิเก” “โบว์” ยก 3 ข้อ แม่หยก หนีความรับผิดชอบไม่ได้


น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (8 ก.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สมชัย ศรีสุทธิยากร ถึงกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เคยประกาศไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น ไม่ต้องกู้เงินแม้แต่บาทเดียว ระบุว่า

ภาพ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร จากแฟ้ม
“มาตรการกึ่งการคลัง Quasi fiscal policy คืออะไร เป็นคำเท่ใหม่ๆ ที่รัฐบาลในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ชอบใช้ กรณีที่เงินงบประมาณแผ่นดินไม่พอ จะกู้อย่างเป็นทางการก็กระดาก เนื่องจากงบประมาณก็ขาดดุลเยอะแล้ว หากกู้ให้เห็น ตัวเลขก็จะขาดดุลเยอะขึ้นอีก

ทางรัฐบาลจึงใช้กลไกทางการเงินการคลังของรัฐ เช่น ธนาคารของรัฐ กรุงไทย ออมสิน ธ.ก.ส. ให้เป็นผู้จ่ายเงินบรรเทาความเดือดร้อนไปก่อน โดยรัฐจะตั้งงบประมาณชดใช้พร้อมดอกเบี้ยในภายหลัง

ธนาคารของรัฐก็ชอบ เพราะเอาเงินออมที่ล้นของตนเองออกมาให้รัฐบาลกู้ แถมมีดอกเบี้ย ไม่ต้องไปเร่หาลูกค้า แถมได้หน้าว่าช่วยรัฐบาล

ส่วนคำที่ชาวบ้านใช้ คือ การกู้จากรัฐวิสาหกิจ

ประเด็นคือ ถ้ากู้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องที่รัฐบาลไม่ได้เตรียมการก็เป็นสิ่งที่พอมีเหตุผลยอมรับได้

แต่หากกู้มาแจกตามนโยบายหาเสียง ให้บุคคลโดยไม่จำแนกว่าเป็นคนมีรายได้เดือนละร้อยล้านหรือไม่กี่พันบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วต้องใช้หนี้คืนพร้อมดอกเบี้ย เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดว่าเหมาะสมหรือไม่

อยากได้ อยากช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่กู้ และไม่ใช้คำแถ ว่า ใช้มาตรการกึ่งการคลัง ไม่ได้กู้ครับ.”

ภาพ นายวันชัย สอนศิริ จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก ทนายวันชัย สอนศิริ ของนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. โพสต์ข้อความระบุว่า

“การเมือง...กับหมาเห่าหลังโรงลิเก

เวลาเปลี่ยน... สถานการณ์เปลี่ยน... โลกเปลี่ยน... ชีวิตเราก็เปลี่ยน... สมัยก่อนวัดตามต่างจังหวัดจะมีโรงลิเกประจำอยู่ในวัด เมื่อมีงานประจำปีหรืองานเทศกาลต่างๆ จะมีลิเกมาเล่น 7 วัน 7คืน 15วัน 15 คืน หรือบางแห่งเป็นเดือนก็มี เพราะสมัยโบราณการเดินทางลำบาก เมื่อจ้างมาเล่นทั้งทีก็จะเล่นหลายคืน เจ้าภาพจะเอาอาหารมาเลี้ยงลิเก 3 มื้อ เมื่อลิเกกินอาหารเหลือก็จะสาดไปหลังโรง หมาก็จะกัดกันเห่ากันแย่งอาหารกัน วันต่อๆ มา หมาก็จะมาเห่าหอนรออาหาร เป็นอย่างนี้ทุกวัน เขาเรียกว่าหมาหลังโรงลิเก... ครั้นเมื่อครบ 7 วันหรือ 15 วัน ลิเกเลิก เก็บฉากเก็บดาบเก็บหอกเก็บข้าวเก็บของ ย้ายวิกไปแสดงที่อื่น หมาหลังโรงลิเกมันไม่รู้ว่าลิเกเขาเลิกแล้ว ย้ายวิกเปลี่ยนเรื่องไปแสดงที่อื่นแล้ว มันยังมาเห่าหอนอยู่หลังโรงลิเก คิดว่าจะได้เศษอาหารเหมือนที่มันเคยได้ มันจะมาเห่าหอนอย่างนี้ทุกวัน ใครเห็นก็เรียกว่า...พวกหมาเห่าหลังโรงลิเก

สื่ออาวุโสท่านหนึ่งเล่าเรื่องนี้ให้ผมฟัง บอกว่า วันนี้เวลานี้การเมืองมันเปลี่ยน... เรื่องเก่าเขาเลิกเล่นกันแล้ว เขาเปลี่ยนวิกเปลี่ยนเรื่อง อย่าทำตัวเป็นคนตกยุคตกสมัย ย่ำอยู่กับเรื่องเก่าเล่าเรื่องเดิม... คุณวันชัย... อย่าทำตัวเป็นหมาเห่าหลังโรงลิเกนะ... ผมเงี๊ยะ เข้าใจลึกซึ้ง... จี๊ดดดเลย!”

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์เฟซบุ๊ก Bow Nuttaa Mahattana ระบุว่า

“ประเด็นแม่ของหยก ประเมินได้สามทาง

1. แม่เป็นผู้ปกครองแบบอยากใช้ไม้แข็ง รอให้หยกสิ้นหนทางจนต้องกลับบ้านเอง เป็นวิธีปราบที่ใช้ได้กับเด็กบางคน แต่ไม่ได้กับเด็กทุกคน ซึ่งผู้ปกครองบางคนดันทุรังใช้วิธีแบบนี้เพราะเข้าใจว่าจะได้ผล สุดท้ายคือเสียลูก

2. แม่เป็นคนขี้ขลาดตาขาว กลัวแรงกดดันจากสังคม ไม่กล้าเผชิญหน้า ใช้วิธีหนีปัญหา

3. ความเป็นไปได้อื่นๆ เช่น เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ เล่นบทหลบเพื่อให้กลุ่มและหยกสร้างประเด็นต่อไป ด้วยข้ออ้างว่าหยกไม่มีผู้ปกครองดูแล ฯลฯ

ไม่ว่าจะอย่างไร หนีความรับผิดชอบไม่ได้ค่ะ.”


กำลังโหลดความคิดเห็น