“อนุทิน” ประชุม คกก.วัคซีนแห่งชาติ นัดสุดท้าย ไฟเขียว อปท.ซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พร้อมเคาะตั้งอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิฯ-เร่งซื้อวัคซีนป้องกันมะเร็ง
วันที่ 31 ส.ค.2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 ว่า วันนี้เป็นการประชุมนัดสุดท้ายในฐานะ รมว.สาธารณสุข โดยที่ประชุมมีมติดังนี้ 1. ให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 2. เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานจัดซื้อจัดหาวัคซีนโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ตามระเบียบกรมบัญชีกลาง และมอบหมายสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรคเป็นผู้ประสานการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดยังต้องมีการหารือต่อไป และ 3. เร่งรัดการจัดหาและฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในนักเรียนหญิงระดับประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งก่อนหน้านี้มีการขาดแคลนชั่วคราว โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ได้เร่งจัดหา
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า สำหรับข้อถามว่าหาก อปท.ไหนมีศักยภาพเพียงพอสำหรับดูแลประชาชนจะให้โควตาจัดซื้อวัคซีนทั้ง 100% เลยหรือไม่นั้น เรื่องนี้เดี๋ยวค่อยว่ากัน เพราะเป็นเรื่องของอนาคต ตอนนี้เป็นเรื่องของการกระจายเข้าลักษณะนโยบายกระจายอำนาจด้วย มีการโอนถ่ายการบริการไปยังท้องถิ่น สถาบันวัคซีนก็ดำเนินการตามนโยบาย โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยระวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในส่วนของวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นั้น ปกติ ภาครัฐมีการจัดหามาฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงเป็นประจำทุกปี โดยสัดส่วนของ สปสช. เป็นชนิด 3 สายพันธุ์ ประมาณ 4 ล้านโดส งบประมาณ 400 ล้านบาท และสัดส่วนของกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นชนิดป้องกัน 4 สายพันธุ์ งบประมาณ 10 ล้านบาท แต่ในจำนวนที่มีการจัดหานี้ถือว่ายังไม่เพียงพอกับกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ที่ควรได้รับวัคซีน ทั้งผู้สูงอายุที่มีประมาณ 12 ล้านคน เด็ก 6 เดือน - 3 ขวบ และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ อีก ดังนั้น วัคซีนที่มีจึงถือว่ายังไม่ครอบคลุม ดังนั้น หาก อปท. เข้ามาช่วยดำเนินการตรงนี้ก็จะช่วยให้มีวัคซีนที่ครอบคลุมประชาชนกลุ่มต่างๆ มากขึ้น เพราะบางพื้นที่อาจจะมีกลุ่มเสี่ยงที่นอกเหนือจากกลุ่มเสี่ยงที่ตั้งไว้ เช่น ค่ายทหาร เรือนจำ เป็นต้น ส่วนข้อกังวลเรื่องศักยภาพของอปท.บางพื้นที่ไม่เท่ากันนั้น ก็อาจจะมีวิธีบริหารจัดการต่อไป แต่เบื้องต้นเราก็มีวัคซีนพื้นฐานให้กับกลุ่มเสี่ยงอยู่ ทั้งนี้ การให้อปท.จัดหาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้นั้น จะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2567 นำร่องในจังหวัดใกล้ๆ กรุงเทพฯ ก่อน