"ภคมน" สส.ก้าวไกล เปิดหลักฐานบริษัทรับงาน กสทช. 30 ล้าน เป็นคูหาบ้านทาวเฮ้าส์ “ภคมน” แซว มีกางเกงใครตากอยู่ด้วย จี้ กสทช.แจงรายละเอียด ถามงบอบรมช่วงเลือกตั้ง 5 แสนคน ประชาชนเหล่านั้นใช้เทคโนโลยีเก่งขึ้นหรือยัง
วันที่ 31 ส.ค.2566 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นางสาวภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ รองโฆษกพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนขอชี้ให้เห็นถึงต้นตอของปัญหางบประมาณมหาศาลที่ไม่โปร่งใส
จากรายงานที่ ในปี 2565 สำนักงาน กสทช. ตั้งงบประมาณ 6,765 ล้านบาท และปี 2566 สำนักงาน กสทช. ตั้งงบประมาณอีก 6,271 ล้านบาท งบประมาณ กสทช. ในแต่ละปี เป็นจำนวน 6 พันกว่าล้านบาทนี้ เป็นงบที่มากกว่าหลายกระทรวง แต่ ไม่มีแม้แต่เพียงบาทเดียวที่ผ่านการพิจารณาโดยองค์กรที่มาจากประชาชน
แหล่งรายได้ กสทช. มาจากการเก็บสัมปทานคลื่นความถี่ แต่ กสทช.ไม่ใช่ผู้ที่หาเงินเอง แต่เป็นเหมือนหน่วยงานเก็บค่าต๋ง ที่มีหน้าที่เก็บรายได้ค่าธรรมเนียมจากคลื่นความถี่ที่เป็นสมบัติสาธารณะโดยมีประชาชนทั้งประเทศเป็นเจ้าของ เพื่อนำรายได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ แต่จากผลการปฏิบัติงานรายได้ของ กสทช. ปีละประมาณ 40,000 ล้านบาท ถูกนำไปใช้อย่างไร ตาม พ.ร.บ. กสทช. มาตรา 65 เปิดช่องให้ กสทช. นำรายได้ที่จัดเก็บได้แต่ละปี หักค่าใช้จ่ายก่อนที่จะนำส่งเข้าเป็นเงินแผ่นดิน ซึ่งค่าใช้จ่ายของตัวคน 7 คน ใช้เงินของประเทศปีละ 28.6 ล้านบาท แต่จากการบริหารงานของ กสทช. ทำให้ตนคิดว่านี่คือระบบเจ้าภาษีนายอากร ที่ถูกยกเลิกไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีกลุ่มบุคคลได้รับอำนาจตามกฎหมายเข้าไปเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากอะไรสักอย่าง หลังจากหักเปอร์เซ็นไว้กับตัวจำนวนหนึ่งแล้ว ส่วนที่เหลือค่อยส่งคืนให้กับรัฐบาล
นางสาวภคมน กล่าวว่า กรณีแรกที่สังคมตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใส คือ การเดินทางไปต่างประเทศของประธาน กสทช. มีสื่อรายงานข่าวว่าประธาน กสทช. แค่ 1 ปี 3 เดือน บินไปต่างประเทศ 15 ครั้ง ถลุงงบฯ 45.8 ล้านบาท แต่ได้ให้เลขาฯออกมาชี้แจงว่า จริงๆ แล้วค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศไม่ใช่ 45.8 ล้านบาทตามที่สื่อนำเสนอ แต่เป็น “เจ็ดล้านห้าแสนบาทเท่านั้น” ดังนั้น เพื่อความโปร่งใส ตนขอเรียกร้องให้สำนักงาน กสทช. เปิดเผยข้อมูลการเดินทางไปต่างประเทศทั้งหมดของสำนักงาน ให้สังคมได้พิจารณา
นางสาวภคมน กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งโครงการที่ตนขอตั้งคำถามคือการอนุมัติโครงการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัล 5 ภูมิภาค งบประมาณ 1.79 พันล้านบาท
“โครงการนี้ทำอะไร โครงการนี้ จ่ายเงินจ้างบริษัทเอกชน ในแต่ละภูมิภาคให้ไปอบรมประชาชนชายขอบใช้เทคโนโลยี ประมูลขายงานกันไปตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งก็น่าสงสัยนะคะ ว่า งบ 1.8 พันล้าน อบรมการใช้เทคโรโลยีให้กับคนชายขอบช่วงเลือกตั้ง มีเป้าหมายเพื่ออะไร กลุ่มเป้าหมายอบรมที่ผ่านการอบรมการใช้เทคโนโลยี ที่กสทช. บอกว่ามีกลุ่มเป้าหมาย 500,000 คน ไปอยู่ที่ไหนหมด มีแต่ตอนนี้ประชาชนเหล่านั้นใช้เทคโนโลยีเก่งขึ้นจริงหรือไม่” นางสาวภคมน กล่าว
นางสาวภคมน กล่าวว่า ตนเป็นนักข่าวเก่า มีแหล่งข่าวให้ข้อมูลที่น่าสนใจมาว่า มีบริษัทชื่อ “ทาลอนเน็ต” มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบอร์ด กสทช. และรับงานโครงการต่างๆ ของ กสทช. ตนอยากทราบว่าข้อมูลนั้นจริงหรือไม่ ก็เลยลองค้นข้อมูลดู
จากการสืบค้น พบว่าบริษัท ทาลอนเน็ต จำกัด มีตัวตนอยู่จริง ได้รับงานประมูล กสทช. จริง ตามที่แหล่งข่าวแจ้งมา โดยเป็นบริษัท ประกอบกิจการซื้อขาย ติดตั้ง บริการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์บริการออกแบบและพัฒนาอีคอมเมิร์ซ โซลูชั่นและบริการให้คำปรึกษา มีทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท ส่วนข้อมูลการรับงานภาครัฐ ตั้งแต่ปี 2560-2566 มีการรับงานไปแล้ว 35 โครงการ วงเงินรวม 141.8 ล้านบาท 21 จาก 35 โครงการ เป็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง
ทั้งนี้ บริษัท ทาลอนเน็ต ดังกล่าวโครงการเกือบทั้งหมด รับจาก กสทช. ที่เดียว ลองค้นหาข้อมูลดู ไม่พบเว็บไซต์ของบริษัท หรือ Company Profile ใดๆ เลย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบรายได้บริษัท กับวงเงินจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทั้งหมดแทบจะเท่ากันพอดี หรืออาจกล่าวได้ว่าบริษัท ทาลอนเน็ต มีรายได้หลักมาจากการรับงานโครงการของรัฐ และจากข้อมูลรายได้ เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าหลังเข้ารับงาน กสทช. ในปี 2560 รายได้ของบริษัท เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด
นางสาวภคมน ยังเปิดภาพที่ตั้งบริษัทดังกล่าว พร้อมกับกล่าวว่า บริษัทนี้ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 555/149 ซอยสายไหม 54/1 แขวงสายไหม เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร 10220 ซึ่งเป็นที่ตั้งเดียวกันกับ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอมิตา” การจัดหาน้ำและการจ่ายน้ำสำหรับใช้ในครัวเรือนและอุตสาหกรรม ผ่านระบบประปา จากที่ทีมของตนไปตรวจสอบพบว่าที่ตั้งบริษัท ที่รับงาน กสทช. ปีละ 30 กว่าล้านนั้น สภาพจริงเป็นทาวน์เฮ้าส์ 1 คูหา 3 ชั้น ปัจจุบัน มีกางเกงตากอยู่หน้าบริษัทด้วย และบริษัทนี้ก็ยังคงดำเนินการ และยังรับงานจาก กสทช. ด้วย ในปี 2566
“เรื่องนี้ ดิฉันอยากให้มีการชี้แจงว่า กสทช. ใช้งบประมาณของรัฐ ปีละ 20-30 ล้าน จัดซื้อจัดจ้างโครงการแบบนี้ได้อย่างไร และข้อกล่าวว่าหามี กสทช. ท่านหนึ่งเกี่ยวข้องนั้น ข้อเท็จจริงแล้วเป็นอย่างไร อยากให้ท่านชี้แจงออกมาให้ประชาชนทราบ”