กสม.ออกแถลงการณ์ ห่วงผู้หนีภัยสู้รบในเมียนมาเข้ามาชายแดนไทย หนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดพื้นที่ปลอดภัยให้พักพิง ประสานองค์กรระหว่างประเทศช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
วันนี้ (29 ส.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ออกแถลงการณ์ แสดงความห่วงใยกรณีผู้หนีภัยจากการสู้รบระหว่างทหารเมียนมา กับกองกำลังต่างๆ บริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมา เข้ามาในชายแดนไทย โดย กสม.ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และล่าสุด มีรายงานการโจมตีทางอากาศ มีการปิดเส้นทางการขนส่งอาหารไม่ให้เข้าถึงผู้หนีภัยจากการสู้รบ เป็นผลให้มีประชาชนหนีภัยข้ามมาพักพิงในฝั่งไทยเพิ่มขึ้นรวมกว่า 9,400 คน ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 5 แห่ง ในอำเภอแม่สะเรียง อำเภอขุนยวม และอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีชายแดนติดรัฐคะเรนนี
กสม. มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และขอยืนยันถึงหลักสิทธิมนุษยชนของการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หนีภัย หลักความเสมอภาค และห้ามเลือกปฏิบัติอันเนื่องจากถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือเหตุอื่นใด รวมทั้งหลักการห้ามผลักดันกลับ (Non-refoulement) ซึ่งเป็นพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) รวมทั้งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
กสม. เห็นว่า การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้หนีภัยซึ่งประสบสภาวะเดือดร้อนยากลำบากในชีวิตที่มาพักพิงในไทย มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงขอสนับสนุนให้หน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องจัดพื้นที่ปลอดภัยเพิ่มเติมตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อเป็นที่พักพิงชั่วคราวของผู้หนีภัยการสู้รบ และขอให้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาสังคม สภากาชาดไทย และองค์การระหว่างประเทศ ช่วยเหลือดูแลด้านที่พัก อาหาร เสื้อผ้า และด้านสาธารณสุขแก่ผู้หนีภัยอย่างครอบคลุมทั่วถึง นอกจากนี้ ขอให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและคัดกรองประชากรผู้หนีภัยทุกคน เพื่อเตรียมเข้าสู่ระบบการคัดกรองผู้หนีภัย (National Screening Mechanism) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 โดยอำนวยความสะดวกให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกส่งกลับตามหลักการ non-refoulement โดย กสม. จะติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดต่อไป