หัวหน้า พท. ขอเสียงหนุน “เศรษฐา” เป็นนายกฯ เพื่อเริ่มต้นเปลี่ยนความเห็นต่าง เป็นความเห็นร่วม ชูคือจุดเริ่มต้นความสวยงาม ปชต. ย้ำ พท. อาสาสลายความขัดแย้ง พาชาติเดินหน้าต่อ ย้ำจำเป็นต้องแก้ รธน. แต่ยังเปลี่ยนแปลงได้ในเงื่อนไขไม่ก่อขัดแย้ง
วันนี้ (22 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายแสดงความเห็นในคุณสมบัติของ นายเศรษฐา ทวีสิน แล้วเสร็จ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวขอบคุณสมาชิกที่แสดงความคิดเห็น และซักถามต่อคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่เสนอชื่อ ถือเป็นการทำหน้าที่แทนประชาชนในการแสวงหาข้อเท็จจริง ก่อนจะตัดสินใจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในนามของพรรคเพื่อไทย ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการตรวจสอบคุณสมบัติต้องห้ามอย่างถี่ถ้วน ซึ่งข้อกล่าวหาต่างๆ ทั้งเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และพฤติกรรมระหว่างประกอบอาชีพด้านอสังหาริมทรัพย์ในบริษัทมหาชนนั้นไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ หรือหลักฐานบ่งชี้ได้ว่าเป้นความจริง มีเพียงข้อกล่าวหาที่โน้มเอียง ไม่สามารถพิสูจน์ความผิดได้ ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยรับฟังทุกเสียง และยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเฉพาะระบบรัฐสภา ส.ส. ทุกคนต่างมาจากการเลือกตั้งเป็นตัวแทนของประชาชน
“ที่ผ่านมา แน่นอนว่า มีการแบ่งแยกแตกต่างอย่างสิ้นเชิงตลอด 2 ทศวรรษ ที่ผ่านมา พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย ต่างมีประสบการณ์ในเรื่องนี้อย่างเจ็บปวด คนที่เจ็บปวดที่สุดคือประชาชนคนไทย เราขัดแย้งกันแล้วได้อะไรขึ้นมา นี่คือ จุดยืนและอุดมการณ์ของพรรคเพื่อไทย เราเห็นความย่อยยับสูญเสียโอกาสของประชาชน เพราะเพียงแต่มีความคิดต่างกัน และมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน แต่แยกกันเดิน เราจะปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดต่อไปหรือ” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราเห็นด้วยอย่างยิ่งที่พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคอันดับ 1 ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และไม่มีทางจัดตั้งรัฐบาลแข่ง เราไม่ร่วมมือกันไม่ได้ ด้วยสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เราคิดผิด เพราะยิ่งเราจับมือกัน ยิ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุด คือจับเอาดุลอำนาจที่มีอยู่ในประเทศนี้ มาประนีประนอมอำนาจ ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด น่าจะดีสุดในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เราต้องปกป้องคุ้มครองสถาบันหลักของชาติ ทุกคนพูดเหมือนกัน แต่วิธีการทำไม่เหมือนกัน เพื่อไทยอาสาเข้ามาสลายความขัดแย้ง จัดตั้งรัฐบาลในนามของทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของรัฐบาลที่มาจากพี่น้องประชาชน
ส่วนความห่วงใยเรื่องนโยบายจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั้น หากทุกพรรคการเมืองจัดทำเป็นนโยบายของรัฐบาลและแถลงต่อรัฐสภา ยังสามารถปรับแปลงแก้ไขได้ ขณะที่วิกฤตรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่า ผู้เขียนรัฐธรรมนูญต้องการปกป้องคุ้มครองสิ่งที่เห็นว่าสำคัญ แต่เมื่อถึงเวลาสิ่งหนึ่งย่อมถูกสลายออกไป เป็นดุลอำนาจที่ดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงจำเป็นและสำคัญ ในเงื่อนไขที่จะไม่เกิดความขัดแย้ง
นพ.ชลน่าน ยืนยันว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังต้องผ่านการทำประชามติ ซึ่งต้องใช้เวลานาน จึงปล่อยให้เนิ่นช้าไม่ได้ และต้องไปคุยในรายละเอียดว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้ พร้อมชี้ว่า ความเห็นต่างเป็นสีสันสวยงามในระบอบประชาธิปไตย แต่จะแปลงความเห็นต่างเป็นความเห็นร่วมอย่างไร ขึ้นอยู่กับพวกเรา 750 คนในวันนี้ การเห็นชอบเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นจุดเริ่มต้นในเรื่องดังกล่าว
“ผมขอขอบคุณท่านประธาน ผ่านไปยังสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน ที่จะขานชื่อให้ความเห็นชอบ นายเศรษฐา เป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย” นพ.ชลน่าน กล่าว