xs
xsm
sm
md
lg

“ก้าวไกล” เมินยื่นศาล รธน.ซ้ำ ยันกิจการสภาไม่เกี่ยวองค์กรภายนอก แต่ขอลุยยื่นญัตติทบทวนมติ 19 ก.ค.อีกรอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ใบพลู” เผย “ก้าวไกล” เมินยื่นร้องศาล รธน. วินิจฉัยเสนอชื่อ “พิธา” ซ้ำ ซัดเป็นกิจการสภาไม่เกี่ยวองค์กรภายนอก เสียงแข็งดันญัตติขอทบทวนมติ 19 ก.ค.ต่อ หวั่นสร้างบรรทัดฐานเสนอชื่อบุคคลดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นได้แค่ครั้งเดียว



วันนี้ (16 ส.ค.) ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงภายหลังศาลไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัยมติที่ประชุมรัฐสภาห้ามเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำในสมัยประชุมเดียวกัน ว่าศาลไม่ได้พิจารณาในเนื้อหาสาระข้อเท็จจริง แต่เป็นการพิจารณาเกี่ยวกับเทคนิคและกระบวนการ ทั้งยังชี้ด้วยว่าผู้ร้องเรียนไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยตรง ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลยืนยันตลอดว่ากรณีเช่นนี้รัฐสภาควรจะว่ากันเองได้ ไม่จำเป็นต้องให้องค์กรภายนอก เช่น ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา จึงเป็นที่มาเมื่อวันที่ 4 ส.ค. พรรคก้าวไกลเสนอญัตติให้ทบทวนมติที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ซึ่งญัตตินั้นมีผู้รับรองถูกต้อง ดังนั้น โอกาสที่จะมีการเลือกนายกฯครั้งต่อไป พรรคก้าวไกลยืนยันที่จะเสนอญัตติดังกล่าว

“การเป็นแคนดิเดตนายกฯ เป็นสถานะตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ว่าเสนอแล้วสุดท้ายในรอบแรกไม่ผ่าน แล้วจะมาบอกว่าไม่มีสถานะนั้นแล้ว การพิจารณากันแบบนี้เป็นการเล่นการเมืองโดยไม่พิจารณาบนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย” นายรังสิมันต์ กล่าว

เมื่อถามว่า หลังจากนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ ในฐานะผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจะยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เราไม่ยื่นแน่นอน เพราะยืนยันมาโดยตลอดว่าเรื่องนี้เป็นกิจการของสภา ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรเข้ามา จึงเป็นที่มาที่เราอยากใช้กลไกสภาอย่างถูกต้อง


ถามต่อว่าเสียงจะพอหรือไม่ เนื่องจากพันธมิตรร่วมรัฐบาลได้แยกวงไปแล้ว นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักการ และไม่ได้เสนอเพื่อตัวเอง หรือเพื่อให้นายพิธากลับมาเป็นแคนดิเดตนายกฯอีกด้วยซ้ำ เพราะวันนี้นายพิธาไม่ได้อยู่ในจุดนั้นแล้ว แต่การเสนอของเราเป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง แคนดิเดตนายกฯจะเป็นใครล้วนได้ประโยชน์จากข้อเสนอของพรรคก้าวไกลทั้งสิ้น ยกเว้นบางฝ่ายจะวางหมากให้การเสนอแคนดิเดตเกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียว ยกตัวอย่างเช่น พรรคก้าวไกลไม่ผ่าน และอีกบางพรรคไม่ผ่าน แล้วหวังว่า ตัวเองจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ หรือเป็นการปูทางไปสู่นายกฯคนนอก แต่นาทีนี้ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งสองสภาเท่าที่มีอยู่

ถามถึงญัตติที่พรรคก้าวไกลยืนยันจะเสนอต่อจากการประชุมรัฐสภาคราวที่แล้ว แต่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้ใช้อำนาจประธานวินิจฉัยให้ตกไปแล้ว นายรังสิมันต์ ชี้แจงว่า ยอมรับว่า ตอนนี้มีปัญหาสถานะญัตติคืออะไร เพราะโดยกระบวนการมีผู้รับรองถูกต้อง รวมถึงญัตติของนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ด้วย โดยหลักก็ต้องพิจารณาต่อไป ไม่มีอำนาจในข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่จะให้นายวันมูหะมัดนอร์ วินิจฉัย ในวันประชุมครั้งนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ไม่ได้อ้างข้อกฎหมาย ได้แต่ชี้แจงเพียงว่าขอให้รอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน เข้าใจว่าเป็นเจตนาหวังดีของนายวันมูหะมัดนอร์ว่าให้กระบวนการมีความชัดเจนก่อนแล้วจึงค่อยพิจารณา

“รอคุยกับประธานรัฐสภา ตามปกติจะต้องนัดพรรคการเมืองคุยกันแล้วหารือ เบื้องต้นถ้าพิจารณาจากการประชุมครั้งที่แล้ว ผมเองเสนอ และโดยหลักต้องพิจารณาญัตติของผมก่อน แต่ว่ามันก็มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่าคำวินิจฉัยของประธาน ที่ตกลงแล้วมีการถกเถียงกันแล้วนำสู่การปิดประชุม มีสถานะอย่างไร ซึ่งพวกเราเชื่อว่ามีผู้รับรองถูกต้อง เป็นญัตติแล้ว” นายรังสิมันต์ ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น