xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองกลางขีดเส้น 31 ส.ค.ผู้ว่าการ กปภ.ส่งคำให้การโดนฟ้องยกเลิกซื้อน้ำป้อนประปาคลองหลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลปกครองกลาง ขยายเวลาให้ผู้ว่าการ กปภ.ส่งคำให้การภายใน 31 ส.ค. คดี “ทีเอสที วอเทอร์ กรุ๊ป” ฟ้องข้อหายกเลิกซื้อน้ำป้อนประปาคลองหลวงโดยมิชอบ

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. รายงานข่าวจากศาลปกครองกลาง เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีกิจการร่วมค้า ทีเอสที วอเทอร์ กรุ๊ป เป็นผู้ฟ้องคดี นายวิบูลย์ วงสกุล ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และการประปาส่วนภูมิภาค ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยมีคำฟ้องสรุปเบื้องต้นได้ว่า กิจการร่วมค้า ทีเอสที วอเทอร์ กรุ๊ป ฟ้องว่า ผู้ว่าการ กปภ.กับพวกรวม 2 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีได้ประกาศลงวันที่ 5 เมษายน 2566 ยกเลิกการประกวดราคาซื้อน้ำประปาเพื่อรองรับชุมชนบริเวณคลองสามถึงคลองเจ็ด การประปาส่วนภูมิภาคคลองหลวง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 เนื่องจากมีผู้ยื่นข้อเสนอที่ถูกต้องตามเงื่อนไขเพียงรายเดียว ซึ่งผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ถูกต้องตามเงื่อนไขได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่แจ้งผลการพิจารณา เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้อง

ล่าสุด ศาลปกครองกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ขยายระยะเวลาทำคำให้การคดีหมายเลขดำที่ 1202/2566 ดังกล่าวออกไปถึงวันที่ 31 ส.ค. 2566

สำหรับ กิจการร่วมค้า ทีเอสที วอเทอร์ กรุ๊ป ประกอบด้วย บริษัท ทีอีดับบลิว วอเทอร์ กรุ๊ป จำกัด, บริษัท เอสทีพี วอเทอร์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท เทสโกเอ็นจิเนีย จำกัด
 
ที่มาของข้อพิพาทดังกล่าว ย้อนกลับไปช่วงกลางเดือน ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ นายวิบูลย์ วงสกุล ในฐานะผู้ว่าการ กปภ.ส่งเอกสารชี้แจง 3 ประเด็น ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. ประกาศการประปาส่วนภูมิภาค เรื่องยกเลิกประกาศประกวดราคาซื้อน้ำประปาเพื่อรองรับชุมชนบริเวณคลองสามถึงคลองเจ็ด การประปาส่วนภูมิภาคสาขาคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ลงวันที่ 5 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้น น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร

ข้อ 2. การให้คำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลังหรือไม่ อย่างไร และ

ข้อ 3. การทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองเป็นอุปสรรคแก่การบริหารของรัฐ หรือแก่บริการสาธารณะหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น