ม.สวนดุสิต ร่วมกับ ททท.กระบี่ -คณะกรรมการอิสลามกระบี่ จัดฝึกอบรม ผู้ประกอบการฮาลาลพื้นที่ จ.กระบี่ รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิมที่เติบโตสูง
วันที่ 5 สิงหาคม 2566 ที่โรงแรมริเวอร์ ฟร้อนท์ จ.กระบี่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้จัดโครงการอบรมหลักสูตร “การพัฒนากลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานฮาลาลเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มวิถีชีวิตอิสลามในจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่” โดยนายอะหมาน หมัดอะดัม ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานกระบี่ ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกระบี่ เข้าร่วมในพิธีเปิด มีผู้ประกอบการกิจการโรงแรม และธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง ข้าร่วม 50 คน
นายวิรัตน์ นุการคและเล็ม เลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกระบี่ กล่าวเปิดงาน ระบุว่า ฮาลาล ไม่ได้ใช้เฉพาะมุสลิม แต่ใช้สำหรับมนุษยชาติ เพราะเป็นแนวทางของความสะอาด การรักษาสุขภาพ การนำเรื่องฮาลาลมาใช้กับการท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจ การสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการและประเทศชาติ
'ผมเพิ่งกลับจากฮัจย์ ที่มักกะห์ มีมุสลิมจากทั่วโลกเดินทาง ซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาล ทำให้มองว่า ถ้าเราพัฒนาเรื่องฮาลาลจนเป็นที่ยอมรับ จะมีมุสลิมจากทั่วโลกเดินทางมาประเทศไทย'
นายอะหมาน หมัดอะดัม ผู้อำนวยการททท. สำนักงานกระบี่ กล่าวว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวกลุ่มตะวันออกลาง เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ประเทศในยุโรป มีปัญหาเศรษฐกิจจากภาวะสงคราม จีนก็ยังไม่เปิดประเทศอย่างเต็มที่ กลุ่มนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง จึงจะกลายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลัก และเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ
ในช่วง 6 เดือแรกของปี หลังเราเปิดความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย นคนซาอุฯ เดินทางมาประเทศไทย ประมาณ 80,000 คน สิ้นปีคาดว่า จะเข้ามา 150,000 คน เป็นตัวเลขที่กระโดดขึ้นมาก รองลงมา คูเวต โอมาน กลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายต่อทริป 12 วัน ประมาณ 80,000 บาท ถือว่า เป็นตัวเลขที่มาก โดยไปเที่ยวกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต และกระบี่ อยู่อันดับ 4 โดยกระบี่ นักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย เข้ามาท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นๆ
'การมาของคนกลุ่มนี้ เป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีการใช้จ่ายเยอะ ซึ่งดีกว่า นักท่องเที่ยวปริมาณ การพัฒนาฮาลาล จึงมีความสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิมเข้ามา สร้างรายได้ให้กับประเทศ' นายอะหมาน กล่าว
ผศ.ดร.จริยะดา จันทรังษี หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า การอบรมเชิงปฏบัติการในครั้งนี้จะเพิ่มศักยภาพและความพร้อมของผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการท่องเที่ยวตามมาตรฐานวิถีชีวิตอิสลาม ให้เป็นไปตามต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มวิถีชีวิตอิสลาม โดยมีวิทยากรผู้มีความเชี่ยวชาญจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นผู้ฝึกอบรม และได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ทุนจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประเภทงานมูลฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566
กลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วม ฝึกอบรมฯ มี 4 ประเภท ประกอบด้วย ผู้ประกอบการธุรกิจที่พักหรือโรงแรม ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว และผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสุขภาพ โดยมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมการอบรม จำนวนทั้งสิ้น 50 ท่าน
หลังผ่านฝึกอบรม จะทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะเกี่ยวกับแนวทางการจัดการธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานฮาลาล การได้มาซึ่งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะที่เป็นไปตามมาตรฐานฮาลาล รวมถึงหลักการและกระบวนการขอรับการรับรองฮาลาลผ่านระบบ Mobile E-Learning
เมื่อกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีมาตรฐานในการบริการเรื่องฮาลาลจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิมในพื้นที่จังหวัดกระบี่ได้เพิ่มขึ้น จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการทำกำไรให้ผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ด้านท่องเที่ยวของประเทศด้วย
ทั้งนี้ การฝึกการอบรมฯ ที่จังหวัดตรัง จัดขึ้นในวันที่ 6 สิงหาคม มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน