‘ก้าวไกล’ เปิดคำร้องแบบเต็ม ถูกกล่าวหา ‘ล้มล้างการปกครอง’ เหตุเสนอแก้ 112 ยืนยัน ‘แก้ไขไม่ใช่ล้มล้าง’ อ้างไม่ให้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง ปิดกั้นเสรีภาพ ปชช. พร้อมชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 27 ส.ค.
วันนี้ (26 ก.ค.) จากกรณี ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
.
วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 เฟซบุ๊กเพจ ‘พรรคก้าวไกล’ ได้โพสต์ข้อความชี้แจงกรณีดังกล่าว ระบุว่า เปิดคำร้องแบบเต็ม พรรคก้าวไกลถูกกล่าวหา ‘ล้มล้างการปกครอง’ เพราะเสนอแก้ 112
.
‘แก้ไขไม่ใช่ล้มล้าง’ ประโยคนี้กำลังถูกท้าทายจากบรรทัดฐานทางกฎหมายแบบไทยๆ อีกครั้ง เมื่อพรรคก้าวไกลถูกยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในข้อหาล้มล้างการปกครอง โดยคำร้องมีความยาวเกือบ 20 หน้า บรรยายมาอย่างละเอียดโดยอ้างถึงพฤติกรรมที่ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้แก่ การที่หัวหน้าพรรค และ สส. ของพรรคก้าวไกล มีจุดยืนและการแสดงออกต่อสาธารณะในการเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
.
คำร้องนี้ยกความคิดเห็นและการตีความพฤติกรรมของพรรคก้าวไกล จากบุคคลหลากหลายที่เราคุ้นหน้าคุ้นตา คุ้นจุดยืนกันดี เช่น แก้วสรร อติโพธิ, สนธิ ลิ้มทองกุล, สมเกียรติ อ่อนวิมล รวมถึงมีการยกคำให้สัมภาษณ์ที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้กับสำนักข่าวบีบีซี โดยมีการตัดทอนบทสัมภาษณ์ คัดเอาเฉพาะบางประโยคบางท่อนมาต่อกันเพื่อให้ดูสมกับข้อหาล้มล้างการปกครองมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
.
คดีนี้เดิมพรรคก้าวไกลจะต้องยื่นคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ แต่ศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงอีก 30 วันเป็นวันที่ 27 สิงหาคม 2566
.
พรรคก้าวไกล ยืนยันว่า เราสามารถชี้แจงทุกประเด็นที่ถูกกล่าวหาได้อย่างมั่นใจ โดยยึดหลักการว่าการแก้ไขมาตรา 112 เป็นสิ่งที่กระทำมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และจะต้องทำได้ต่อไป
.
เราเชื่อว่า การแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง ในทางตรงกันข้าม จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต