ข่าวปนคน คนปนข่าว
**ด้อมส้มโยงน้ำส้ม“ลิซ่า” ชน "มิ้นต์ช็อก" จัดตั้งรัฐบาลแบบนี้ก็ได้เหรอ ?
“ลิซ่า แบล็กพิงก์” นักร้องซูเปอร์สตาร์ชาวไทยขวัญใจแฟนเพลงทั่วโลก โพสต์ภาพสวยสดใสของตัวเอง ด้วยเสื้อผ้าหน้าผมริมฝีปากทาลิปสติกไปยันเล็บคุมโทน “สีส้ม” ในมือถือแก้วน้ำส้มพร้อมดื่มลงในโซเชียลฯ ส่วนตัว โดยใช้อิโมจิรูปผลส้ม แทนการเขียนแคปชัน ว่ากันว่า ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงมีแฟนๆ เข้ามากดไลค์ชื่นชมชื่นชอบ จำนวนมาก
แน่นอนว่า ระดับซุป’ตาร์ อย่าง “ลิซ่า” เคลื่อนไหวแต่ละครั้งย่อมสั่นสะท้านไปทั่วปฐพีออนไลน์ หลายๆ ครั้งที่โพสต์ของลิซ่า ถูกพูดถึงและกลายเป็นกระแสฟีเวอร์ ผู้คนแห่แหนตามรอย ไม่ว่าจะเป็นของกิน “ลูกชิ้นยืนกิน” “โรตีสายไหม” ไปยันแหล่งท่องเที่ยวไทยอย่าง อยุธยาเมื่อเร็วๆ นี้
ขณะที่ในโลกโซเชียลฯ บ้านเรา ภาพน้องลิซ่า “ลุคส้ม” จัดว่าแรงเกินต้านกว่าที่ใดๆ เพราะมาถูกที่ ถูกเวลา จึงถูกนำมา “ขยาย” และ “ตีความ” แชร์ออกไปพร้อมกับบรรเลงคำบรรยาย- แสดงความเห็นใหม่โยงเข้าหาเรื่องการเมือง และนำไปเทียบกับเมนู “มิ้นต์ช็อก” เครื่องดื่มสุดฮอตประจำโต๊ะเจรจาจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคการเมืองที่ถูกรับเชิญมาพูดคุย
เมื่อ “ส้มลิซ่า” มาปะทะกับ “มิ้นต์ช็อก” ดรามาจึงตามมาพลัน!
ไม่ต้องเดาให้เสียเวลาว่า ฝ่ายที่ “ตีความ” ตักตวงประโยชน์เอาจากโพสต์น้องลิซ่า ย่อมเป็น “ด้อมส้ม” ที่ช่วงนี้เห็น “มิ้นต์ช็อก” เป็นเทรนด์ยอดนิยมในทวิตเตอร์ ตลอดทั้งวัน
บ้างก็ว่า จากภาพของ “น้องลิซ่า” นั่งชิลล์ดื่มน้ำส้ม มีคนช็อกตายยัง#จัดตั้งรัฐบาล ,ใครๆ ก็ชอบน้ำส้ม น้ำอุบาทว์อย่างมิ้นต์ช็อก เอาไว้ให้พวกที่ชอบแทงเพื่อนกิน หรือว่า นางแบกมิ้นต์ช็อกดิ้น
ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามด้อมส้มก็สวนกลับ พวกเมิงใจเย็นๆ ลิซ่าแค่กินน้ำส้ม เล็บสีส้ม แคปชันส้ม เสื้อก็สีส้ม มันไม่ได้มีอะไรเว้ย แค่น้องถ่ายรูปเฉยๆ ไม่มีนัยยะเลย
งานนี้เอาเป็นว่า ระหว่าง “มินต์ช็อก” กับ “น้ำส้ม” ใครใคร่ชอบอะไร จะโยงการเมืองแบบไหนก็ฟาดกันไป เอาที่สบายใจ ที่แน่ๆ มติมหาชนมากกว่า 14 ล้านเสียง ที่ได้เห็นภาพที่น้องลิซ่าโพสต์ธีมส้มนี้แล้วบอกเป็นเสียงเดียวกัน …น่ารักอ่ะ.
** เพื่อไทย กั๊กเขี่ยทิ้ง ก้าวไกล ขอรอฟังมติ 8 พรรคก่อน “เสรีพิศุทธ์” ซัดพรรคสีส้มไม่สำนึก ตั้งรัฐบาลไม่ได้เพราะไม่มีเพื่อน!!
หลังจากพรรคเพื่อไทย ได้รับมอบหน้าที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกล ที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ว่าที่นายกฯ โหวตไม่ผ่านในรอบแรก ... พอจะโหวตรอบ 2 ก็เจอมติที่ประชุมรัฐสภา ไม่ยอมให้เสนอชื่อซ้ำ จึงจำใจต้องวางมือ
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ได้เชิญแกนนำพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามที่อยู่นอก “เอ็มโอยู 8 พรรคร่วมฯ” มาหารือ โดย “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าเพื่อไทย ย้ำว่าเชิญหารือเพื่อหาทางออกให้กับประเทศชาติ ว่าแต่ละพรรคมีข้อเสนออย่างไร จะได้นำไปหารือในที่ประชุม 8 พรรคร่วมฯ ไม่ใช่เชิญพรรคเหล่านี้มาร่วมรัฐบาล
แต่หลังการหารือ มีการตั้งโต๊ะแถลงข่าว แกนนำพรรคที่ถูกเชิญมานั้น ไม่ว่าจะเป็น พรรคภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ ชาติพัฒนากล้า ชาติไทยพัฒนา พลังประชารัฐ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จะไม่ร่วมสังฆกรรมตราบใดที่ยังมี พรรคก้าวไกล ร่วมอยู่ด้วย
จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า เพื่อไทยเล่นบท ยืมปากเพื่อนมาไล่พรรคก้าวไกล ให้ไปเป็นฝ่ายค้าน เพราะตัวเองไม่กล้าหักด้ามพร้าด้วยเข่า
ดังนั้น สูตรการตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย จึงมีทางเลือกไม่มากนัก อย่างสูตรแรก ถ้ายังยึด 8 พรรคร่วมฯ เดิม ไม่ว่าจะเสนอชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” หรือ “อุ๊งอิ๊ง” ขึ้นเป็นนายกฯ ก็ไม่ผ่านแน่ เพราะบรรดาพรรคการเมืองที่กล่าวมา และส.ว.พูดชัดว่าไม่โหวตให้
สูตรที่ 2 ถ้าเพื่อไทยย้ายขั้วไปรวมกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม โดยไม่มีก้าวไกล อาจจะได้รับการสนับสนุนจากส.ว.จนการโหวตนายกฯผ่านไปได้ แต่เพื่อไทยจะทำอย่างไรในการฉีกเอ็มโอยู 8 พรรค โดยที่ไม่ต้องตกเป็นผู้ร้าย และรัฐบาลยังบริหารประเทศไปได้
หรือจะเป็นสูตรที่ 3 ลุยโหวตไปตาม สูตรที่ 1 ถ้าไม่ผ่าน ก็โยนให้พรรคลำดับที่ 3 คือ พรรคภูมิใจไทย ของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นเจ้าภาพในการตั้งรัฐบาล แล้วค่อยมาเชิญเพื่อไทยไปร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม ท่าที่ของพรรคก้าวไกล ผ่าน “ชัยธวัช ตุลาธน” ที่ออกมาล่าสุดคือขวางการฉีกเอ็มโอยู โดยขอให้ 8 พรรค ร่วมจับมือกันให้แน่น การตั้งรัฐบาลก็จะไม่มีวัน “พลิกขั้ว” สอดรับกับการเคลื่อนไหวของ “ด้อมส้ม” ที่พยายามสร้างกระแสในเชียลฯ ว่า อีก 10 เดือนประชาชนก็รอได้ รอให้ ส.ว.หมดสิทธิ์ในการร่วมโหวตนายกฯ ดีกว่าที่จะให้ “รัฐบาลลุง” ฟื้นคืนชีพมาสืบทอดอำนาจต่อ
สำทับด้วย มติส.ส.พรรคก้าวไกล ว่าจะไม่มีวันร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ เช่นเดียวกับ “ม็อบ” ในเครือข่ายของก้าวไกล ก็ลงถนนเคลื่อนไหว ถล่มเพื่อไทย
ขณะที่ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว”บอกว่า วันนี้ (25ก.ค.) จะเอาข้อเสนอของพรรคการเมืองที่เชิญไปหารือกับ 8 พรรคร่วม ในส่วนส.ว.เท่าที่ได้ประสานพูดคุยมา ก็ยังมีท่าทีเช่นเดิม คือไม่รับพรรคก้าวไกล
“เรามีหน้าที่เอาข้อมูลเข้าสู่วาระของการประชุม 8 พรรคร่วมฯ และร่วมกันพิจารณาทางออก ทางเลือก ส่วนผลจะออกมาอย่างไร อยู่ที่การพูดคุยกัน ยังตอบไม่ได้ว่าจะออกมามุมไหน”
ส่วนข้อเสนอที่ว่าจะให้เลื่อนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ออกไปก่อน เพื่อรอให้ส.ว.หมดอำนาจในอีก 10 เดือนข้างหน้า “นพ.ชลน่าน” บอกว่านั่นก็เป็นแนวทางหนึ่ง แต่เมื่อมาดูในรายละเอียดถึงผลสัมฤทธิ์แล้ว ถ้าเสียงข้างมากของรัฐสภา 749 เสียงเขาไม่ยอม ก็คงลำบาก และระหว่างนั้นก็อาจมีปัญหาแทรกซ้อนขึ้นได้ตลอดเวลา
ที่เราที่กลัวคือ วิกฤตทางการเมือง และวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม ที่จะเกิดขึ้น!!
“เราคิดแบบโลกสวยไม่ได้ในมุมการเมือง มันมีหลายมิติต้องเอามาประกอบกัน ว่าถ้าเราไม่ทำ หรือเราแพ็กกันแน่นอยู่อย่างนี้ คนอื่นเขาก็มีวิธีคิด เขาก็เป็นเจ้าของประเทศ ถ้าเขาสามารถรวมเสียงได้ในที่ประชุมรัฐสภา เราก็ต้องยอมรับ”
หากเพื่อไทยหมดปัญญาแล้ว การมอบให้พรรคที่ 3 เป็นไปได้หรือไม่นั้น ก็อยากจะบอกว่ามันเป็นทางเลือก จะเกิดขึ้นหรือไม่ เราไม่รู้ แต่ที่ชัดเจนคือนั่นเป็นการมอบอำนาจให้เสียงข้างน้อย
ด้าน “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่เคยกล่าวเตือนพรรคก้าวไกล ว่าเมื่อจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ และได้มอบอำนาจให้พรรคเพื่อไทยแล้วก็ควรถอยออกมา ให้พรรคเพื่อไทยเขาดำเนินการไป เพราะตอนนี้เป็นช่วงของการหาเสียงสนับสนุนในการโหวตนายกฯ ให้สำเร็จ
...ที่เคยเสนอให้ก้าวไกลเสียสละ หมายถึง ให้ถอยไปอยู่ข้างๆ ไม่ใช่ให้ถอยไปเป็นฝ่ายค้าน ให้เสียสละให้เพื่อนขึ้นฝั่งให้ได้ก่อน ในเมื่อคุณไม่ช่วยเพื่อน แล้วจะเป็นตัวถ่วงเพื่อนทำไม ถอยเพื่อให้เพื่อไทยโหวตนายกฯ ให้สำเร็จก่อน จะไปยุ่งอะไรกับเขา เมื่อเรามอบให้เป็นสิทธิ์ในการบริหารของแต่ละพรรค ถ้าเขาจัดไม่ดี เขาก็ต้องรับผิดชอบเอง พรรคก้าวไกล ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับเขา ไปก้าวก่ายเขาทำไม ตอนคุณจัดไม่ได้ ก็เพราะคุณไม่มีเพื่อนเอง สำหรับประชาชนถ้าคิดว่า พรรคเพื่อไทย ทำไม่ดี คราวหน้าก็ไม่ต้องเลือก ไม่ใช่พอไม่ได้ก็ไปก่อม็อบ แบบนี้ทำเกินกว่าเหตุ...
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ชุลมุนอยู่นี้ ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณา เรื่องร้องเรียนที่ขอให้ส่งไปให้ศาลรธน.วินิจฉัยว่า การที่ ที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 19 ก.ค. มีมติว่า การเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาลงมติเป็นนายกรัฐมนตรี ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อที่ 41 เป็นการเสนอญัตติซ้ำนั้น เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพตามที่ รธน.คุ้มครองไว้หรือไม่
โดยที่ประชุมมีมติให้ ส่งศาลรธน.วินิจฉัยว่าต่อกรณีดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้ศาลฯ สั่งให้หยุดการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรธน.จะมีคำวินิจฉัย
ตามขั้นตอนของเรื่องนี้ เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปถึงศาลรธน.แล้ว จะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาในวันพุธที่ 26 ก.ค.นี้ เลยหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน
ศาลรธน.จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ถ้ารับ จะสั่งให้หยุดการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 ก.ค.นี้ หรือไม่ ต้องติดตาม