xs
xsm
sm
md
lg

“พิธา”จบแล้ว อนาคตยังไม่รู้จะโดนอะไรอีก เอ็มโอยู 8 พรรคส่อว่าจะโดนฉีกทิ้ง!! **แฉแก๊งงาบผลประโยชน์ในการประปาภูมิภาค เตรียมเขมือบเมกะโปรเจกต์ (2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


.
ข่าวปนคน คนปนข่าว

** “พิธา”จบแล้ว อนาคตยังไม่รู้จะโดนอะไรอีก เอ็มโอยู 8 พรรคส่อว่าจะโดนฉีกทิ้ง!!

ฤกษ์ผานาที ตลอดวันที่ 19 ก.ค.66 สำหรับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรี ถ้าไม่เป็นวันอุบาทว์ ก็โลกาวินาศ... คงไม่ใช่วันอธิบดี หรือ ธงชัย เป็นแน่

เพราะโดนเข้าไปทีเดียว 2 ดอกซ้อน แทบจะเรียกว่าปิดฉากทางการเมืองไปเลย

โดยช่วงสายๆใกล้เที่ยง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้รับคำร้องที่ กกต.ส่งมาให้พิจารณาวินิจฉัยไว้พิจารณา ก็ เรื่อง “พิธา”ถือหุ้นไอทีวี ทำให้สมาชิกภาพการเป็นส.ส.สิ้นสุดลงหรือไม่ ...และศาลรธน.ยังมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 สั่งให้ “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส. ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค 66 จนกว่าศาลฯ จะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องนี้

ส่วนที่สภา ซึ่งมีการประชุมรัฐสภา เพื่อเตรียมโหวต“พิธา” เป็นนายกรอบ 2 โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อพิธาต่อที่ประชุมไปแล้ว แต่มีสมาชิกบางส่วนเห็นว่า ตามข้อบังคับการประชุมสภา ข้อที่ 41 ญัตติที่ตกไปแล้ว ไม่สามารถนำมาพิจารณาได้อีก คือ พิธาผ่านการโหวตและสอบตกไปแล้ว จะเอามาโหวตอีกไม่ได้... ประเด็นนี้มีการอภิปรายกันหลายชั่วโมงก็หาข้อสรุปไม่ได้

กระทั่งตกเย็น “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา ได้สั่งยุติการอภิปราย แล้วให้สมาชิกลงมติ ผลปรากฏว่า ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติ ว่า ส่งพิธามาโหวตซ้ำไม่ได้ ด้วยคะแนน 395 เสียง ส่วนที่บอกว่าส่งซ้ำได้ 312 เสียง งดออกเสียง 8 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน ...ส่งผลให้นายพิธา เป็นได้แค่ “นายกฯทิพย์” ไปอย่างถาวร

หากพิจารณาตามผลของคะแนนที่โหวตจะเห็นว่า 312 เสียงที่บอกว่าส่งซ้ำได้นั้น มาจาก 8 พรรคร่วมที่ยังค่อนข้างเหนียวแน่น ... ขณะเดียวกัน เสียงส.ว.ที่เคยโหวตหนุนพิธา เป็นนายกฯ 13 เสียงนั้น มีหายไปบางส่วน เมื่อไปเช็กดูในรายละเอียดก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ...โดยมีเสียงส.ว. 2 เสียง จากเดิมที่ลงมติสนับสนุน “พิธา” แต่เที่ยวนี้กลับลำ คือ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา และ วันชัย สอนศิริ ส่วน “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่อยู่ใน 8 พรรคร่วม กลับไม่ปรากฏว่ามีการลงมติใดๆ

ผลโหวตที่ออกมานี้ พอจะบอกได้ว่า ส.ว.เกือบทั้งหมด ยังคงไม่เอา“พรรคก้าวไกล”

ดังนั้น หากรอบต่อไป พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ชู “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี โดยยังผนึก 8 พรรคเช่นเดิม คือยังมีก้าวไกล เกาะแข้ง กอดขาไปด้วย โอกาสที่ “เศรษฐา” จะวืด ก็เป็นไปได้สูงมาก เพราะส.ว.ไม่เอาด้วย แล้วจะกลับมาลุ้นรอบสอง ก็ไม่ได้แล้ว

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ดังนั้นเพื่อไทยต้องคิดหนัก ...แนวทางที่มองกันไว้ก็คือ หากไม่ทิ้งก้าวไกลก็ต้องไปหาพรรคที่ 9 พรรคที่ 10 มาเติม แล้วพรรคไหนจะมาล่ะ... ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ต่างบอกว่า ถ้ายังมีพรรคที่แก้ ม.112 อยู่ในสมการนี้ ก็จะไม่ไปร่วมด้วย

ดังนั้น โอกาสที่เพื่อไทยจะผ่าทางตัน ฉีกเอ็มโอยู 8 พรรค ตัดก้าวไกลออกไป ก็เป็นไปได้สูง!!

สำหรับ “พิธา” หากถึงที่สุดศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่าการถือหุ้นไอทีวี เป็นลักษณะต้องห้ามของการสมัครส.ส. ต้องสิ้นสภาพส.ส. แล้วเรื่องจะลามไปถึงส.ส.พรรคก้าวไกลทั้งพรรคด้วย หรือไม่ เพราะ “พิธา” ซึ่งถือว่าเป็นคนไม่มีคุณสมบัติ ไปลงนามรับรองให้ลูกพรรคเหล่านั้นลงสมัคร ส.ส. แล้วยังมีเรื่อง ม. 112 ที่เสี่ยงต่อการถูกยุบพรรครออยู่อีก

ตอนที่ก้าวไกลชนะเลือกตั้ง “พิธานายกทิพย์” ออกเดินสายพบหน่วยงานโน่น นี่ นั่น บรรดา “ด้อม” ก็บอกหอมกลิ่นความเจริญ ...แต่ตอนนี้เห็นท่าจะเริ่มกลิ่นไม่ดีเสียแล้ว!!

**แฉแก๊งงาบผลประโยชน์ในการประปาภูมิภาค เตรียมเขมือบเมกะโปรเจกต์ (2)

การเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลในการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จะเจาะไปในกลุ่มบุคคลที่หาผลประโยชน์อย่างท้าทายใน กปภ. เครือข่ายแก๊งนี้ สยายปีกครอบคลุมทุกระดับใน กปภ. และโยงถึงผู้ใหญ่ในมหาดไทย และมีแผนจะฮุบผลประโยชน์ในโครงการขนาดใหญ่

ที่ผ่านมา กปภ. จะมีผู้ว่าการฯ เป็นคนภายในองค์กรที่เติบโตขึ้นมา ส่วนใหญ่เป็นวิศวกร แต่ระยะหลังเปลี่ยนไป มีคนนอกมาเป็นผู้ว่าการฯ เริ่มจาก “สมบูรณ์ สุนันทพงศ์ศักดิ์” ในปี 64 มาจากการประปานครหลวง แต่ปฏิบัติหน้าที่ได้แค่ 1 ปี ก็เกษียณอายุ จนเมื่อส.ค.65 ได้มีการสรรหาผู้ว่าการฯคนใหม่ ปรากฏว่า “วิบูลย์ วงสกุล” ได้รับการคัดเลือก และแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการ กปภ. คนใหม่

มีข้อมูลในเชิงลึกว่า “วิบูลย์ วงสกุล” เป็นอดีตผู้บริหารใน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจาก จำกัด (มหาชน) แต่ฝีมือการทำงานไม่เข้าตาผู้ใหญ่ เลยไม่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้บริหารระดับสูง “วิบูลย์”สนิทสนมกับนักธุรกิจรายหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการเหมืองโปรแตซ ที่มีปัญหา

วิบูลย์ วงสกุล
ว่ากันว่า นักธุรกิจรายนี้ส่วนตัวใกล้ชิดกับ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย จึงเดินเกมสนับสนุนให้ “วิบูลย์”ลาออกจากบางจาก มาลงสมัครสรรหาเป็นผู้ว่าการ กปภ. จนท้ายที่สุดแซงหน้าผู้สมัครรายอื่น ได้เป็นผู้ว่าการฯ ทั้งที่ชื่อของ “วิบูลย์” แทบจะไม่ได้รับความสนใจมาก่อนเลย

หลังเข้ามาทำหน้าที่ผู้ว่าการ กปภ. ก็มีข่าวลือว่า ในองค์กรแตกแยกกันอย่างหนัก ลูกหม้อตั้งแต่ระดับรอง ไปจนถึงระดับล่าง ต่างเอือมระอากับวิธีการทำงาน เพราะ “วิบูลย์” เป็นคนไม่ตัดสินใจ จะโยนความรับผิดชอบให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา โดยจะใช้วิธีแทงเรื่องให้ รองผู้ว่าการฯ รับผิดชอบแทนเสมอ และจะอ้างคำสั่ง หรือนโยบายของ มท.1 “พล.อ.อนุพงษ์” มากดดันผู้ร่วมงานและคณะกรรมการกปภ. โดยไม่มีใครรู้ว่า เป็นเรื่องจริงหรือไม่!!

กระแสต่อต้าน “วิบูลย์” จากคนในองค์กรรุนแรงมาก แต่ระดับล่างก็ไม่กล้าทำอะไร เพราะมีผู้ใหญ่จากมหาดไทยคอยสนับสนุน ขณะเดียวกัน สหภาพแรงงาน กปภ. ก็เปลี่ยนไปอย่างมาก กลับมาหนุน “วิบูลย์”อย่างเปิดเผย ทั้งที่เดิมคัดค้านผู้ว่าการฯ ที่มาจากคนนอกองค์กรอย่างหนัก

แต่แล้วก็มีเรื่องแดงออกมา เมื่อ 17 ก.พ.66 สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไท โดย “ศรีสุวรรณ จรรยา” ได้ยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. ขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยเอาผิด ผู้ว่าการ กปภ. “วิบูลย์ วงสกุล” กรณีสั่งให้จ้างเหมาที่ปรึกษา 2 คน โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่งไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 และขัดต่อระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 อันเข้าข่ายความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

เนื่องจากหลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กปภ.เพียงไม่กี่วัน “วิบูลย์” ได้สั่งอนุมัติ และประกาศแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายวงเงินการจ้าง 650,000 บาท โดยมีระยะเวลาการจ้าง 13 เดือน ในอัตรา 50,000 บาท ต่อเดือน ตั้งแต่ 1 ก.ย.65 ถึง 30 ก.ย.66 หลังจากนั้น ได้แต่งตั้งให้ไปเป็นคณะทำงานด้านต่างๆ อีก ต่อมาในวันที่ 19 ก.ย.65 ได้ลงนาม ให้ประกาศแต่งตั้งที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม อีก 1 คน โดยมีวงเงินการจ้าง 600,000 บาท มีระยะเวลาการจ้างเป็นระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่ 1 ต.ค.65 ถึง 30 ก.ย.66 ซึ่งเสมือนเป็นการหยามคนของ กปภ.หรือไม่ ทั้งที่ กปภ. ก็มีวิศวกรมากมาย เต็มไปหมด

การจ้างที่ปรึกษาด้านกฎหมาย มีระยะเวลาการจ้าง 13 เดือนนั้น ถือว่า เป็นการจ้างเกิน 1 ปีงบประมาณ (12 เดือน) และถือเป็นการจ้างต่อเนื่อง อาจถือได้ว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือ ก.คลัง ด่วนมาก ที่ กค 0406.4/ว67 ลงวันที่ 14 ก.ค.53 และหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0406.4/ว337 ลงวันที่ 17 ก.ย.53 อีกทั้งการจ้างที่ปรึกษาทั้ง 2 คนดังกล่าว มีลักษณะเป็น “งานจ้างที่ปรึกษา” ซึ่งอาจขัดต่อ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ด้วย

อีกทั้งจ้างเหมาที่ปรึกษาดังกล่าวมีสถานะเป็นเพียง “ผู้รับจ้างทำของ” ไม่ถือว่าเป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของ กปภ. (ตามหนังสือ ก.คลังข้างต้น) ซึ่งหากปล่อยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลชั้นความลับของทางราชการหรือของ กปภ.ได้ จะถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือ ก.คลังข้างต้น ข้อ 1.3 ได้จะนำมาซึ่งการรั่วไหลของข้อมูลลับของทางราชการ ทำให้หน่วยงานรัฐเสียหายได้

การใช้อำนาจซึ่งอาจไม่เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว จะยังผลให้เกิดความเสียหายต่อ กปภ.ได้ แม้จะมีการไหวตัวรีบเซ็นยกเลิกการจ้าง 2 ที่ปรึกษาดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 ม.ค.66 ที่ผ่านมา แต่ถือได้ว่า ความผิดสำเร็จไปแล้ว เพราะมีการเบิกจ่ายค่าจ้างไปแล้วหลายเดือน ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไท โดย “ศรีสุวรรณ จรรยา” จึงต้องนำความมาร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อไต่สวนและวินิจฉัยเอาผิดผู้ว่าการ กปภ.ดังกล่าว

ฟังว่า ที่ปรึกษา 2 รายนี้ เป็นคนของผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย ส่งมาช่วยเหลือ “วิบูลย์” แต่เมื่อรู้ตัวว่าจ้างผิดระเบียบ วิบูลย์ ก็รีบยกเลิกการจ้าง ปัจจุบันเรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยป.ป.ช. แต่ วิบูลย์ ก็ไม่กลัว เพราะมั่นใจว่า มีผู้ใหญ่รายหนึ่งซึ่งเป็นบอร์ด กปภ. เป็นศิษย์เก่าจุฬาฯ มาเหมือนกัน

และที่สำคัญ บอร์ดคนนี้เป็นที่ปรึกษาและคณะอนุกรรมการของ กรรมการ ป.ป.ช.รายหนึ่ง คอยติดตามวิ่งเต้นให้ เรื่องนี้ มีกลุ่มพนักงาน กปภ. ที่รับไม่ได้ ร้องเรียนไปที่บอร์ด กปภ.และ ป.ป.ช. ให้สอบสวน “วิบูลย์” แต่เรื่องก็เป็นไปอย่างล่าช้า เพราะผู้ใหญ่คนนี้คอยขัดขวาง ไม่ให้บอร์ดตั้งสอบวิบูลย์ และที่แปลกมาก คือ สหภาพแรงงาน กปภ. ซึ่งมี “ธงชัย ไวยบุญญา” เป็นประธาน ไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรเลย

ศรีสุวรรณ จรรยา
มีรายงานว่า “ธงชัย ไวยบุญญา” ประธานสหภาพแรงงาน กปภ. ใกล้ชิดสนิทสนมกับ “วิบูลย์”เป็นอย่างมาก ปัจจุบันตัวของธงชัย โดนร้องเรียนอยู่หลายเรื่อง เช่น ทุจริตเงินจากกรรมการกิจการสัมพันธ์ กปภ. แอบอ้างชื่อ สร.กปภ. เพื่อช่วยเหลือ EASTW คัดค้านผลการประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี

ทุกเรื่องเป็นข้อหาร้ายแรง ถูกร้องเรียนไปยังกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก.แรงงาน ซึ่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานก็รอผลสอบจาก กปภ. แต่ปรากฏว่า จนถึงบัดนี้ยังไม่มีผลการสอบใดๆ ออกมาจาก กปภ.

แก๊งผลประโยชน์นี้ วางแผนอย่างรอบคอบ มีตัวละครสนับสนุนทุกด้าน ไม่ว่าจะล้มหรือผลักดันโครงการ รองผู้ว่าการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ และฝ่ายบริหารคนไหนไม่เอาด้วย ก็จะถูกกันออกไป ถ้าคัดค้านหนักจะโดนหาเหตุถูกตั้งสอบ ฝ่ายบริหารโดยเฉพาะฝ่ายกฎหมาย และฝ่ายแผนยุทธศาสตร์เป็นตัวหลักเดินงาน มีบอร์ด กปภ. ที่อยู่ในคณะอนุกรรมการพัฒนาองค์กรเป็นผู้สนับสนุนหลัก

แก๊งนี้วางแผนจะกินคำโตยาวๆ ปัจจุบันแก๊งนี้รู้แล้วว่า การแบ่งสัญญาย่อยๆ เพื่อเปิดประมูลทำได้ยากขึ้น และถูกจับตามากขึ้น ก็จะใช้วิธีผลักดันให้ กปภ. ดำเนินการผลิตน้ำเอง เพราะมีผลประโยชน์จำนวนมากเกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดจ้าง ในการจัดซื้อที่ดิน เพื่อสร้างระบบผลิตน้ำ และการผลิตน้ำประปา โดยไม่สนใจว่ารัฐจะมีภาระมากขนาดไหน

นอกจากนี้ ยังวางแผนจะตัดตอนการจัดซื้อจัดจ้างงานต่างๆ ใน กปภ.ให้ไปอยู่ในมือของบริษัทลูก ที่ กปภ.ถือหุ้นอยู่ คือ บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) : EASTW (กปภ. ถือหุ้น 40.20% ) เพื่อหลีกหนีการประมูล โดยจะใช้วิธีเฉพาะเจาะจงจ้าง EASTW แล้วให้ EASTW ไปจ้างช่วงต่อ ซึ่งจะหลีกเลี่ยงการใช้ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของรัฐได้ เพราะ EASTW เป็นบริษัทมหาชน ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ

วิธีนี้เป็นวิธีเดียวกันกับที่กรุงเทพมหานคร ตั้งบริษัทกรุงเทพธนาคม ขึ้นมา แล้วใช้วิธีพิเศษจ้างกรุงเทพธนาคม มาโดยตลอด จนเป็นประเด็นถูกตรวจสอบ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

แต่แล้วเมื่อ 5 ก.ค.66 กระทรวงการคลัง ได้เสนอ ครม.เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎกระทรวงกำหนดกรณีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยเพิ่มอัตราร้อยละการถือหุ้นของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจในรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่เป็นนิติบุคคลในเครือของหน่วยงานของรัฐเดียวกัน จากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้า ของทุนทั้งหมด เป็น ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบ ของทุนทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจจากรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่เป็นนิติบุคคลในเครือของหน่วยงานเดียวกันมีความโปร่งใสมากขึ้น ทำให้แผนดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ

แก๊งผลประโยชน์นี้วางแผนจะใช้ EASTW ฮุบงานเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ของ กปภ. โดยเฉพาะโครงการบริหารจัดการน้ำในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี กปภ.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบและกำกับดูแลกลับไม่มีแผนบริหารงานอะไรที่ชัดเจน ปล่อยให้เอกชนไปล็อกโควต้าน้ำดิบไว้หมด โดยเฉพาะ EASTW และ เมื่อถึงเวลาที่โครงการของรัฐเกิด กปภ.ก็ต้องตกเป็นเบี้ยล่างของเอกชนโดยปริยาย จึงเหมือนเป็นการจงใจ แกล้งโง่ เพื่อให้รัฐเสียประโยชน์ และสุดท้ายก็ตักตวงเข้ากระเป๋าของแก๊งผลประโยชน์นี้

ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่า แก๊งผลประโยชน์ใน กปภ.นี้ จะเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อรัฐบาลใหม่มา จะยังเรียกผลประโยชน์อย่างดุเดือดเหมือนเดิมหรือไม่ และรัฐบาลใหม่ จะจัดการอย่างไรกับแก๊งผลประโยชน์นี้ ซึ่งนับวันจะกร่างขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น