“ศรีสุวรรณ” ยื่น ผบ.ตร.ตรวจสอบประมูลโครงการจัดตั้งศูนย์ฯ 191 แห่งชาติงบกว่า 7,000 ล. แฉเข้าข่ายล็อกสเปกให้ “บ.ดัง” เครือข่าย “บิ๊ก สตช.-บิ๊ก ครม.” ปรับทีโออาร์จนป่วนใช้งานจริงไม่ได้ จนล้มประมูลมาแล้ว 2 หน “เจ๋ง ดอกจิก” แฉวิ่งเต้นผ่านนักการเมือง “ป.” ป้อนงาน “บริษัทนาย บ.”
วันนี้ (17 ก.ค.66) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เข้ายื่นคำร้องถึง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการจัดทำขอบเขตและรายละเอียด (ทีโออาร์) โครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ หรือศูนย์ฉุกเฉิน 191 ซึ่งใช้งบกว่า 7 พันล้านบาทในรอบที่ 3 ซึ่งมีข้อพิรุธ-ฮั้วประมูล ซึ่งอาจซ้ำรอยเดิมที่เคยจัดทำทีโออาร์ และประมูลล่มมาแล้วถึง 2 ครั้งแม้จะแยกประมูลออกเป็น 3 ส่วนก็อาจซ้ำรอยเดิม โดยมี พ.ต.อ.เรวัต หัสเสนะ รอง ผบก.สส. ในฐานะเวรอำนวยการรับเรื่องแทน
นายศรีสุวรรณ ให้ข้อมูลว่า สืบเนื่องจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2563 เห็นชอบในหลักการให้ สตช.ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ และบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน และศูนย์รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เป็นต้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนที่ประสบเหตุได้อย่างทันท่วงที โดยได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) งบประมาณกว่า 7,095 ล้านบาท
นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า งบประมาณที่ให้ไว้สำหรับระบบงาน CAD และ Mobile Terminal หรือ Mobile Responder ที่จะต้องติดตั้งบนสถานีตำรวจทั่วประเทศ รถตำรวจหลายหมื่นคัน สำหรับรับแจ้ง และประสานงานสั่งการฉุกเฉิน เป็นงบประมาณที่ให้ไว้สำหรับซื้อ Software Package ที่คล้ายคลึงกับหลายประเทศทั่วโลกใช้ ในรูปแบบ Software Package โดยต้องเป็นไปตามมาตรฐานของ NENA และ EENA ตลอดจนมีการ Support และ บริการหลังการขายเป็นที่ยอมรับทั่วโลก โดยที่ สตช.ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามขั้นตอนแห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 มาตั้งแต่ปี 2563 แต่มีการร้องเรียนว่า มีการเขียนแก้ไขทีโออาร์เอื้อให้กับเอกชนที่มีความเชื่อมโยงกับผู้บริหารระดับสูงของ สตช. และ ครม.
“ส่งผลให้โครงการเข้าข่ายการล็อคสเป็กให้แก่บริษัทแห่งหนึ่งที่ร่วมประมูลงาน โดยมีข้อสงสัยว่าที่ปรึกษาโครงการได้ทำการแก้ทีโออาร์จากระบบเดิม ให้สามารถทำซอฟต์แวร์ในประเทศ ให้ตรงกับคุณสมบัติบริษัทที่คาดว่าจะมีการล็อกสเปกให้ ซึ่งมองว่าซอฟต์แวร์ที่ทำขึ้นเองในประเทศไม่ได้มาตรฐานเพียงพอที่จะสามารถใช้งานจริงได้ จนทำให้การประมูลล้มไปแล้วถึง 2 ครั้ง เพราะบริษัทที่ล็อคสเปกไว้ทดสอบโปรแกรมไม่ผ่าน” นายศรีสุวรรณ กล่าว
นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีการแบ่งโครงการศูนย์ 191 เป็น 3 โครงการเพื่อให้ง่ายต่อการประมูล ซึ่งมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ เข้าไปเกี่ยวข้องหลายนาย รวมทั้งยังพบว่ามีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ดำรงตำแหน่งปัจจุบัน ผลักดันโครงการนี้อยู่ จึงนำเรื่องมาร้องเรียนให้ ผบ.ตร.ตรวจสอบ
“เมื่อมีการเขียนซอฟต์แวร์เองภายในประเทศ ทำให้มีเงินทอนเป็นพันล้าน ถึงแม้เป็นเงินสนับสนุน กสทช. แต่ก็ยังถือว่าเป็นภาษีประชาชน” นายศรีสุวรรณ ระบุ
ด้าน นายยศวริศ ชูกล่อม ที่ร่วมคณะมากับนายศรีสุวรรณ กล่าวเสริมว่า “ส่วนตัวได้ข้อมูลว่าโครงการนี้มีความพยายามที่จะวิ่งเต้นกับนักการเมืองใหญ่ อักษรย่อ ป. เพื่อให้บริษัท นาย บ. สามารถประมูลโครงการนี้ โดยการล็อกสเปกทีโออาร์ และพบว่า บริษัทที่ปรึกษาที่จัดทำทีโออาร์มีพนักงานทำงานจริงเพียง 6 คน แต่กลับเบิกจ่ายเงินเดือนที่ปรึกษาเต็มจำนวน 122 ล้านบาท สำหรับโครงการนี้ กรมบัญชีกลาง มีการประกาศผ่านเว็บไซต์เปิดให้ร่วมประมูลโครงการตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.66 ที่ผ่านมา โดยจะมีการประมูลจริงในวันที่ 10 ส.ค.66 นี้ แต่ก็ยังพบมีเอกสารทีโออาร์หลุดให้กับบริษัทเดิม นอกจากนี้ยังพบพิรุธว่าบริษัทที่ถูกล็อกสเปก พบว่ามีประวัติ เคยประมูลงานของ สตช.กว่า 4 หมื่นล้านบาท เช่น เครื่องเอกซเรย์ยาเสพติด และวิทยุตำรวจ เป็นต้น แต่ที่ผ่านมาก็ไม่สามารถใช้งานได้จริง เพราะไม่มีคุณภาพ”.